xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ” บี้ รบ.ไม่รับคำตัดสินศาลโลกปมพระวิหาร “สุมล” ซัด “ปึ้ง” ขาดคุณสมบัติ รมต.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วุฒิสภาถกประเด็นเขาพระวิหาร “คำนูณ” ย้อนไทยตั้งข้อสงวนเรียกคืนคำตัดสินศาลโลกกว่า 50 ปี แต่กัมพูชาเพิ่งมาคัดค้าน ปฏิญญารับเขตขาดอายุ เหมือนเป็นคดีใหม่ จี้ รบ.สั่งทีม กม.ยันศาลไร้อำนาจตัดสิน ไทยไม่รับคำสั่งที่กระทบอธิปไตย ส.ว.เพชรบุรีเห็นพ้อง ชี้อย่ายอมให้ ปชช.กัมพูชาตั้งถิ่นเขตไทย จวก รมว.กต.ระวังปากบอกไทยแพ้คดี ติง รบ.ลดอคติฟังคนอื่น

วันนี้ (7 ม.ค.) ที่รัฐสภา มีการประชุมวุฒิสภา โดยมีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานคนที่หนึ่ง เป็นประธานโดยก่อนเข้าสู่วาระการประชุม โดยนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา หารือถึงคดีปราสาทพระวิหารระหว่างไทยและกัมพูชา ว่า ข้อเท็จจริงว่าประเทศไทยได้ประกาศปฏิญญารับรองเขตอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2492 โดยการประกาศรับรองแต่ละครั้งมีอายุ 10 ปี เพราะฉะนั้นการรับรองเขตอำนาจศาลโลกของไทยหมดลงไปแล้วเมื่อปลายปี 2502 หลังจากกัมพูชายื่นฟ้องคดีปราสาทพระวิหารภาค 1 ไม่กี่เดือน อย่างไรก็ดี ไทยได้ยื่นข้อสงวนต่อเลขาธิการสหประชาชาติเมื่อวันที่ 6 ก.ค.2505 ว่า รัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรารถนาจะตั้งขอสงวนอย่างชัดเจน เพื่อสงวนไว้ซึ่งสิทธิที่ประเทศไทยมีหรือพึงมีในอนาคตที่จะเรียกคืนปราสาทเขาพระวิหารโดยวิถีทางที่ชอบด้วยกฎหมาย ที่มีอยู่ในปัจจุบันหรือในอนาคต และยืนยันการคัดค้านคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่าประเทศ กล่าวคือ แม้ว่าจะปฏิบัติตามไทยก็ไม่เห็นด้วยและตั้งข้อสงวนไว้

นายคำนูณ กล่าวอีกว่า ดังนั้นเมื่อการประกาศเขตรับอำนาจศาลของประเทศไทยหมดลงกว่า 50 ปี ประเทศไทยจึงไม่มีความผูกพันใด ๆต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลกในคดีภาค 2 ที่กัมพูชายื่นคำร้องเมื่อเดือนเม.ย. 2554 ทั้งนี้การไปศาลแต่ละครั้งก็ไปเพื่อประกาศว่าประเทศไทยไม่รับเขตอำนาจศาลด้วยเหตุผลอย่างน้อย 3 ประกาศ คือ 1. ปฎิญญารับเขตอำนาจศาลขาดอายุ 2. ไม่ใช่เป็นการตีความคำพิพากษาเดิม แต่เสมือนเป็นคดีใหม่ อุทธรณ์คดีเดิม 3. ไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาเดิมของศาลทุกประการแล้ว และกัมพูชาก็ไม่ได้คัดค้านกว่า 50 ปี ดังนั้นในการแถลงด้วยวาจาต่อศาลโลกเมื่อวันที่ 15-19 เม.ย. 2556 นี้ ขอให้รัฐบาลมีนโยบายให้คณะต่อสู้คดีของไทยแถลงให้ชัดเจน ดังนี้ 1. ศาลไม่มีอำนาจพิจารณาโดยเด็ดขาด 2. ไทยไม่รับเขตอำนาจศาลโดยเด็ดขาด 3.ยืนยันให้ชัดเจนว่าประเทศไทยจะไม่ปฏิบัติตามคำตัดสินใดๆที่จะกระทบต่ออธิปไตยและบูรณภาพเหนือดินแดนของประเทศไทยโดยเด็ดขาด

ด้านน.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี กล่าวว่า ตนเห็นแยกเป็น 4 ประเด็น ดังนี้ 1.รัฐบาลไม่ควรรับอำนาจศาลโลก เพราะไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาเรียบร้อยแล้วในปี 2505 ตนไม่เคยเห็นคดีใดๆในโลกที่เป็นฯคดีเดียวกัน ขึ้นศาลเดียวกันถึง 2 ครั้ง เหตุใดไทยต้องยอมรับ ทั้งๆที่คดีสิ้นสุดไปแล้ว 2.รัฐบาลต้องเร่งผลักดันชุมนุมชาวกัมพูชาไปจากพื้นที่ของไทย ทุกรัฐบาลที่ผ่านมาเสียท่า หรือเสียหลักการ หมายความว่ายอมให้ชุมชนกัมพูชาตั้งถิ่นฐาน หรือสร้างถาวรวัตถุไม่ว่าจะเป็นวัด ชุมนุม ในพื้นที่เขตของไทย 3.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ต้องระวังคำพู ที่ระบุว่าคดีเขาพระวิหารไทยมีแต่แพ้และเสมอตัว ตนคิดว่ารมต.ท่านดังกล่าวขาดคุณสมบัติการเป็นรมต. เพราะศาลโลกยังไมได้วินิจฉัยจะพูดได้อย่างไร และ4.คำคัดค้านที่คนไทยหลายกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย รัฐบาลอย่าคอยพูดแต่ว่าเป้นกลุ่มที่จ้องจะล้มรัฐบาล แต่ควรรับฟังเพราะจะได้ข้อมูลใหม่ๆในการพิทักษ์รักษาแผ่นดิน หากไม่ยอมรับฟังบ้างจะบอกว่ารัฐบาลจะเป็นผู้เสียใจที่สุด

นายนิรันดร์ ประดิษฐกุล ส.ว.สรรหา กล่าวว่า การตัดสินคดีความใดๆมีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย เมื่อวันที่ 6 ม.ค.ได้ยินนายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก และหนึ่งในทีมสู้คดีของฝ่ายไทย แถลงข้อต่อสู้ใน 4 ประเด็น 1.เกี่ยวกับข้อกฎหมายว่ากรณี 4.6 ตารางกิโลเมตร จะยกขึ้นต่อสู้ จะตัดฟ้องต่อศาลโลก ตนเห็นว่าซึ่งเมื่อปี 2505 สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กรณีนี้ไม่ได้ยกขึ้นวินิจฉัย เพราะฉะนั้น ควรอย่างยิ่งที่จะยกขึ้นตัดฟ้อง 2.เมื่อสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส ฉบับนั้นไม่ได้ยกขึ้นพิจารณา แต่จะนำมาพิจารณาในคดีนี้ ก็ขอให้ดูว่าบุคคลที่มานั่งพิจารณาบนบัลลังก์เป็นคนที่มีประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ หรีอเป็นคนที่มีสัญชาตืที่มีประโยชน์ทับซ้อนกับสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส ถ้ามีขอให้คัดค้าน 3.กรณีการคัดค้านไม่สมควรรอถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์ ขอให้พิจารณาคัดค้านตั้งแต่บัดนี้ ขอให้ยกข้อกฎหมายให้ศาลโลกพิจารณา ก่อนที่จะแถลงปิดคดี

พล.ร.อ.วีรวิทย์ คงศักดิ์ ส.ว.สรรหา หารือว่าประเด็นกการแถลงปิดคดีเขาพระวิหาร ต่อศาลโลก ตามที่ประเทศกัมพูชาได้ยื่นฟ้องต่อศาลโลก ขณะนี้พบว่ามีบุคคลและกลุ่มบุคคลให้ความเห็นทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ที่มีทั้งการสนับสนุนและคัดค้าน ซึ่งล้วนแล้วมีความปรารถนา ทั้งนี้การให้ข้อเท็จจริงและแง่มุมกฎหมายต่อสาธารณะดังกล่าว จะมีผลต่อรูปคดี ที่ไทยเสียเปรียบ ดังนั้นตนขอเสนอให้รัฐบาลใช้สภาความมั่นคงแห่งชาติ รวบรวมข้อเสนอแนะต่อการเตรียมการแถลงปิดคดีปราสาทพระวิหารต่อศาลโลก ตามที่รัฐบาลและนายกฯ มีอำนาจตามกฎหมายสภาความมั่นคงแห่งชาติ ทั้งนี้เชื่อว่าหากใช้เวทีสภาความมั่นคงนั้นจะทำให้เกิดการยอมรับจากทุกฝ่าย







กำลังโหลดความคิดเห็น