ส.ว.สรรหาโพสต์เฟซบุ๊ก ชี้กรณีกระทรวงต่างประเทศและกองทัพแสดงท่าทีให้ทำใจยอมรับ ส่อให้เห็นว่ามีผลประโยชน์มหาศาลของอภิมหาอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แนะแถลงด้วยวาจา 3 ประเด็น ศาลโลกไม่มีอำนาจ-แย้งไม่ใช่ตีความคำพิพากษาเดิม-ไทยปฏิบัติตามคำตัดสินปี 2505 ครบถ้วนและกัมพูชาไม่โต้แย้ง รวมทั้งแถลงต่ออารยประเทศไม่ยอมรับอำนาจศาลโลก
วันนี้ (3 ม.ค.) นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า ยังไม่ทันแถลงด้วยวาจาอันเป็นขั้นตอนสุดท้ายในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือไอซีเจ ในเดือน เม.ย. 2556 กระทรวงการต่างประเทศทั้งข้าราชการประจำและรัฐมนตรีต่างออกมาแถลงในทำนองให้คนไทยเตรียมใจรับสถานการณ์ไว้แต่เนิ่นๆ กองทัพเองก็ท่าทีไม่ได้ต่างกันเท่าไรนัก ก็เพราะไม่ว่าผลของคดีปราสาทพระวิหารภาค 2 ปลายปี 2556 จะเป็นอย่างไร ไทยก็มีแต่เสมอตัว หรือติดลบ ต่างกับกัมพูชาที่หากไม่เสมอตัว ก็ได้ผลบวก
ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศไทยมีแนวคิดไม่ต้องการถูกลากไปศาลยุติธรรมระหว่างประเทศอีกครั้งมานานแล้ว ต่างกับกัมพูชาที่ยกประเด็นนี้ขู่มาตลอด กระทรวงการต่างประเทศไทยยินยอมทำ MOU 2543 ในข้อสำคัญที่ยอมรับแผนที่ระวางดงรักมาเป็นส่วนหนึ่งของการเจรจา เกิดขึ้นก็เพราะไม่ต้องการให้เรื่องกลับไปสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศอีกครั้ง หลังการเจรจาคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม ไทย-กัมพูชา หรือเจบีซี ไม่คืบอยู่สองสามปีช่วงปลายปี 2551-2553 เพราะประชาชนไทยกลุ่มหนึ่งคัดค้าน กัมพูชาก็สร้างสถานการณ์สงครามย่อยชายแดนขึ้นมาตอนต้นปี 2554 เพื่อนำเรื่องไปสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตามต้องการจนได้
“ปัญหาใหญ่ คือ โดยภาพรวมมันไม่ใช่แค่เรื่องระหว่างกัมพูชากับไทยเท่านั้น แต่มันมีผลประโยชน์มหาศาลของอภิมหาอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะในยุคใหม่ที่เอเชียอาคเนย์กำลังกลายเป็นแหล่งช่วงชิงมีอิทธิพลเหนือระหว่างอเมริกากับจีน” นายคำนูณกล่าว
นายคำนูณกล่าวอีกว่า ในเมื่อไทยเราสู้คดีมาตลอดใน 3 ประเด็น คือ 1. ศาลโลกไม่มีอำนาจพิจารณาคดี เพราะไทยไม่มีต่ออายุปฏิญญารับรองเขตอำนาจศาลฯมาตั้งแต่ปี 2505 แล้ว 2. ไม่ใช่การตีความคำพิพากษาคดีเดิมเมื่อปี 2505 แต่เนื้อหาเสมือนเป็นคดีใหม่ หรืออุทธรณ์คดีเดิมที่สิ้นสุดไปแล้ว และ 3. ไทยปฏิบัติตามคำพิพากษาคดีเดิมเมื่อปี 2505 ครบถ้วนแล้ว และกัมพูชาก็รับทราบแล้วและไม่เคยโต้แย้งมายาวนานกว่า 40 ปี
ถ้าไม่มีวาระซ่อนเร้นอะไรในการแถลงด้วยวาจาในขั้นตอนสุดท้าย 15-19 เม.ย. 2556 ก็ไปแถลงไล่เรียงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายไปตามนี้ คือแสดงให้เห็นชัดเจนโดยปราศจากข้อสงสัยว่าเป็นคำแถลงไม่ยอมรับอำนาจศาลฯ ไม่ใช่แถลงต่อสู้คดี โดยประกาศต่อศาลฯ ให้หนักแน่นชัดเจนไปเลยว่าภายใต้เงื่อนไขทั้ง 3 ประการที่ต่อสู้มาแต่ต้น ราชอาณาจักรไทยจะไม่ยอมรับคำตัดสินใดๆ ที่กระทบต่ออำนาจอธิปไตยและบูรณภาพเหนือดินแดนราชอาณาจักรไทยไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม และจะไม่ปฏิบัติตามคำตัดสินนั้นๆ อย่างเด็ดขาด
นอกเหนือจากการต่อสู้ในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศดังกล่าวแล้ว รัฐบาลโดยกระทรวงการต่างประเทศจะต้องแถลงต่อนานาอารยประเทศตามประเด็นดังกล่าว คือ ไม่ยอมรับอำนาจศาลฯ และจะไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาใดๆ ที่กระทบต่ออำนาจอธิปไตยและบูรณภาพเหนือดินแดนราชอาณาจักรไทยไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมอย่างเด็ดขาด
อย่างไรก็ตาม ในการประชุม กมธ.ศึกษาตรวจสอบเรื่องทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา วันพฤหัสบดีหน้า 10 ม.ค. 2556 ที่มีวาระสำคัญพิจารณาเรื่องนี้ ตนจะเสนอให้เรียกร้องต่อรัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศตามนี้ และจะทดลองเสนอในการหารือ 2 นาทีก่อนเปิดประขุมวุฒิสภาในเช้าวันจันทร์ที่ 7 ม.ค. 2556 ด้วย หาก ณ นาทีนั้นไม่มีประเด็นอื่นที่สำคัญกว่า