xs
xsm
sm
md
lg

พันธมิตรฯ ยื่น 7 ข้อจี้ “ปู” ปฏิเสธอำนาจศาลโลก รักษาอธิปไตยไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“พันธมิตรฯ” ยื่นข้อเรียกร้อง 7 ข้อถึงนายกฯ เพื่อรักษาอธิปไตยไทย ปฏิเสธอำนาจศาลโลกตีความคดีปราสาทพระวิหาร ไม่ต้องถอนกำลังตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เร่งฟื้นสัมพันธ์คณะมนตรีความมั่นคงฯ สร้างหลักประกันไม่มีต่างชาติละเมิดอธิปไตย ย้ำยูเอ็นไม่มีสิทธิยุ่งเรื่องเขตแดน เลิกคิดกลับเข้าเป็นภาคีมรดกโลก ยุติใช้ผลงานวิจัย 7.1 ล้านโฆษณาชวนเชื่อ ช่วย “วีระ-ราตรี” พ้นคุกเขมรโดยเร็ว


วันนี้ (8 ธ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 09.00 น. นายปานเทพ พัวพงศ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) พร้อมมวลด้วยชนจำนวน 150 คน ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ประตู 4 ในกรณีขอให้รัฐบาลไทยปฏิเสธอำนาจยุติธรรมระหว่างประเทศ และรักษาอำนาจประชาธิปไตยแห่งราชอาณาไทย พร้อมข้อเรียกร้อง 7 ประการ ซึ่งประกอบด้วย 1. ในวันที่ 15-19 เมษายน 2556 ที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจะมีการพิจารณาคดีกรณีประเทศกัมพูชายื่นคำขอตีความคำพิพากษาปราสาทพระวิหาร ปี 2505 ซึ่งราชอาณาจักรไทยถือว่าศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ไม่มีอำนาจในการตีความคดีนี้ และจะไม่รับอำนาจศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการตีความนั้น ก่อให้เกิดผลเสียต่ออธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของราชอาณาจักรไทย และประเทศไทยเป็นประเทศที่ไม่ได้ต่ออายุปฏิญญาการประกาศยอมรับอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมากว่า 50 ปี จึงไม่จำเป็นต้องรับอำนาจของศาลโลก

2. เมื่อประเทศไทยไม่รับอำนาจของศาลยุติธรรมฯ ในการตีความแล้ว รัฐบาลจึงไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรการคุ้มครองชั่วคราวของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ไม่ต้องถอนทหารหรือตำรวจตระเวนชายแดนออกจากแผ่นดินไทย และขอให้เร่งผลักดันชุมชนกัมพูชาให้ออกจากไทย 3. ให้รัฐบาลเร่งฟื้นฟูและพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยเฉพาะกับประเทศในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติอย่างเร่งด่วน 4. อาศัยกฎบัตรสหประชาชาติ ข้อ 2 วรรค 7 ให้รัฐบาลไทยยืนยันว่าสมาชิกสหประชาชาติไม่มีอำนาจในการแทรกแซงเรื่องภายในอธิปไตยของไทย และให้รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยยืนยันตามข้อ 2 (ก) และ 2 (ง) แห่งกฎบัตรสมาคมแห่งประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ว่ารัฐสมาชิกอาเซียนจะต้องปฏิบัติตามหลักการในการเคารพเอกราช อธิปไตย ความเสมอภาค บูรณภาพแห่งดินแดน ตลอดจนไม่แทรกแซงกิจการภายในของรัฐสมาชิกอาเซียน

5. รัฐบาลไทยจะต้องไม่กลับเข้าไปเป็นภาคีอนุสัญญามรดกโลกอีก 6. ให้รัฐบาลไทยหยุดการใช้นักวิชาการ 7.1 ล้านบาท ที่ได้รับการจ้างจากกระทรวงการต่างประเทศมาโฆษณาชวนเชื่อในสื่อของรัฐฝ่ายเดียว เพียงเพื่อให้คนไทยยอมจำนนต่อการยกดินแดนไทยให้กับกัมพูชา เพราะนักวิชาการเหล่านี้มีจุดยืนอยู่ข้างกัมพูชา และควรเปิดพื้นที่สื่อให้กว้างขวางเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลจากผู้ที่ต้องการปกป้องอธิปไตยของชาติและไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาลด้วย และ 7. ให้ช่วยเหลือนายวีระ สมความคิด และน.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ ซึ่งถูกทหารกัมพูชาจับในแผ่นดินไทย แต่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กลับใส่ร้ายว่าถูกจับในแผ่นดินกัมพูชา โดยเร่งรัดดำเนินการให้ทั้ง 2 คนถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำกัมพูชาโดยเร็วที่สุด

นายปานเทพกล่าวว่า ดังนั้น พธม.จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่รับอำนาจศาลโลก และต้องไม่ปฏิบัติตามมาตรการคุ้มครองชั่วคราว ควรหันมาใช้กลไกคณะกรรมการร่วมเขตแดนไทย-กัมพูชา (เจบีซี) เท่านั้น เมื่อรัฐบาลรับทราบข้อเรียกร้องดังกล่าวแล้ว หากยังไม่ปฏิบัติตามแล้วนั้นจะถือว่าสมรู้ร่วมคิดในการกระทำครั้งนี้ด้วย และขอย้ำว่าการยื่นหนังสือเรียกร้องในวันนี้ของ พธม.ไม่ได้ทำไปตามอารมณ์ชั่ววูบ แต่ทำตามข้อคิดเห็นของ ดร.สมปอง สุจริตกุล ซึ่งเป็นทนายผู้ประสานงานคนสุดท้ายที่ยังมีชีวิตอยู่ในคดีปราสาทพระวิหาร ทั้งนี้ พธม.จะรอดูการทำหน้าที่ของรัฐบาลจนถึงที่สุดก่อน หากรัฐบาลไม่ทำหน้าที่ของตัวเอง พธม.จึงจะกำหนดมาตรการของตัวเองต่อไปในอนาคต หากมีประชาชนเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ พธม.ก็พร้อมจะเดินหน้าทำการชุมนุมโดยทันทีในเวลาอันสมควร

ทั้งนี้ นายสมภาส นิลพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการประชาชนสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้มารับหนังสือดังกล่าว

โดยเนื้อหาของหนังสือโดยละเอียดมีดังนี้

ที่ พธม. 1/2556
                                                                  พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
                                                                  102/1 ถนนพระอาทิตย์
                                                                  แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร
                                                                  กรุงเทพ 10200

                                       วันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2556

เรื่อง ขอให้ปฏิเสธอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศและรักษาอธิปไตยของราชอาณาจักรไทย
เรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี

สิ่งที่ส่งมาด้วย: 1) แถลงการณ์พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยฉบับที่ 1/2556 ลงวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2556 พร้อมด้วยสำเนาข่าวแถลงการณ์ฉบับที่ 3/2554, 4/2554, 5/2554, 6/2554

เป็นที่ทราบกันดีว่า พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้เคยเคลื่อนไหวชุมนุมการเมืองและดำเนินการทางกฎหมายเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลในทุกยุคได้ปกป้องและรักษาอธิปไตยของชาติกรณีเขตแดนไทย-กัมพูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณโดยรอบปราสาทพระวิหารตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ดังปรากฏเป็นแถลงการณ์ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แถลงการณ์ 4 ฉบับ ในวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เพื่อแสดงว่าภาคประชาชนได้ต่อสู้มาอย่างยาวนานอย่างไร และประสบผลสำเร็จอย่างไร อีกทั้งได้เสนอหาทางออกเอาไว้แล้ว ได้แก่ ฉบับที่ 3/2554 เรื่อง “ภาคประชาชนได้ต่อสู้เรื่องอธิปไตยและดินแดนอย่างเต็มที่สุดความสามารถแล้ว” ฉบับที่ 4/2554 เรื่อง “ทหารของจอมทัพไทยยังไม่ได้ทำหน้าที่ของตัวเองในการรักษาอธิปไตยของชาติ” ฉบับที่ 5/2554 เรื่อง “บทพิสูจน์ความล้มเหลวของรัฐบาลประชาธิปัตย์ในการใช้ MOU 2543 และจะเสียดินแดนต่อไปเพราะรับอำนาจศาลโลก” และฉบับที่ 6/2555 “ขอให้รัฐบาลชุดต่อไปปกป้องอธิปไตยของชาติ”

อย่างไรก็ตาม การแถลงการณ์ดังกล่าวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยข้างต้น ก็มิได้รับการตอบสนองใดๆ จากรัฐบาลชุดนี้เช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลชุดปัจจุบันกลับส่งสัญญาณให้ประชาชนชาวไทยเตรียมตัวยอมรับความพ่ายแพ้ที่รัฐบาลได้รับอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในการตีความคดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ. 2505 อีกทั้งยังจะปฏิบัติตามมาตรการคุ้มครองชั่วคราวเป็นประเทศแรกในโลกใบนี้อีกด้วย

แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเห็นว่า การดำเนินการที่กระทำอยู่ในปัจจุบันนี้รังแต่จะทำให้ราชอาณาจักรไทยเสียเปรียบ และมีความเสี่ยงจนถึงขั้นทำให้ราชอาณาจักรไทยซึ่งเสียดินแดนในทางพฤตินัยไปแล้วยังต้องเสียดินแดนในทางนิตินัยเพิ่มเติมอีก อันเป็นความเสียหายที่ร้ายแรงและไม่อาจจะเป็นที่ยอมรับได้สำหรับประชาชนชาวไทยผู้รักชาติและหวงแหนอธิปไตยของชาติที่บรรพบุรุษไทยเราปกป้องและแลกมาด้วยเลือดเนื้อและชีวิต

โดยหลังจากนี้ หากไทยถลำลึกยอมรับอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศแล้ว ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมีแนวโน้มจะตีความให้เป็นคุณต่อกัมพูชา และเป็นโทษต่อประเทศไทยโดยศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจะใช้การอ้างอิงกฎหมายปิดปากที่ประเทศไทยไม่ปฏิเสธแผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000 ซึ่งจัดทำโดยฝรั่งเศส ซึ่งเป็นมูลฐานในการพิพากษาให้ปราสาทพระวิหารตกอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชาเมื่อ พ.ศ. 2505 ซึ่งจะเป็นผลทำให้ไทยต้องเสียดินแดนอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และจะเป็นผลทำให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนมรดกโลกได้เป็นผลสำเร็จ และจะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้ไทยต้องเสียดินแดนเพิ่มเติมต่อไปอีกตลอดแนวชายแดนไทย-กัมพูชา

เมื่อความผิดพลาดในอดีตของหลายรัฐบาลได้ล่วงเลยมาถึงเวลานี้แล้ว แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจึงได้มีการประชุมกันเมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2556 จึงได้มีมติออกเป็นแถลงการณ์ฉบับที่ 1/2556 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิเสธและไม่รับอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศและปกป้องอธิปไตยของชาติ (ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 1) ดังปรากฏเป็นข้อเรียกร้อง 7 ประการ ดังต่อไปนี้

ประการแรก ใช้โอกาสสุดท้ายที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice) ได้กำหนดให้มีการนั่งพิจารณาคดี (public hearings) กรณีกัมพูชายื่นคำขอตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารปี 2505 ในวันจันทร์ที่ 15 เมษายน ถึงวันศุกร์ที่ 19 เมษายน 2556 ณ วังสันติภาพ (Peace Palace) ซึ่งเป็นที่ทำการของศาลฯ ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยขอเรียกร้องให้รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยประกาศอย่างเป็นทางการว่าราชอาณาจักรไทยถือว่าศาลยุติธรรมระหว่างประเทศไม่มีอำนาจในการตีความคดีนี้ และราชอาณาจักรไทยจะไม่รับอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในการตีความในคดีความนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการตีความนั้นก่อให้เกิดผลเสียต่ออธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของราชอาณาจักรไทย

ทั้งนี้ เพราะราชอาณาจักรไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาครบถ้วนแล้วและเป็นที่รับทราบโดยปราศจากการคัดค้าน ทั้งจากราชอาณาจักรกัมพูชา และสมาชิกองค์การสหประชาชาติ อีกทั้งราชอาณาจักรไทยยังได้แถลงประท้วงไม่เห็นด้วย คัดค้านในคำตัดสินที่ผิดพลาดและอยุติธรรม จึงได้ตั้งข้อสงวนเอาไว้ในการทวงคืนปราสาทพระวิหารในอนาคตหากกฎหมายระหว่างประเทศพัฒนาขึ้น โดยคำแถลงครั้งนั้นไม่ได้มีประเทศสมาชิกในองค์การสหประชาชาติคัดค้านแต่ประการใด ประกอบกับราชอาณาจักรไทยก็ไม่ได้ต่ออายุปฏิญญาการยอมรับอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศโดยบังคับ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505

ข้อเสนอของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ได้รับการสนับสนุนจาก ศ.ดร.สมปอง สุจริตกุล นักกฎหมายระหว่างประเทศอาวุโสและอดีตข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศผู้ที่มีความเชี่ยวชาญและเป็นนักกฎหมายคนสุดท้ายที่ยังมีชีวิตอยู่ที่รับรู้ความเป็นไปในการตัดสินในคดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ. 2505 โดย ศ.ดร.สมปอง สุจริตกุล ได้เคยเขียนแสดงความเห็นตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2554 ความตอนหนึ่งว่า :

“จุดสำคัญที่พึงกระทำในชั้นนี้ คือ ไทยต้องคัดค้านอำนาจศาลในโอกาสแรกที่สามารถทำได้ การกล่าวแต่เพียงว่าเขตอำนาจของศาลไม่ครอบคลุมถึงคำขอของกัมพูชานั้นยังไม่เพียงพอ ไทยต้องยืนยันอย่างเป็นทางการว่าไทยคัดค้านอำนาจศาล เพราะไทยมิได้ยินยอมรับอำนาจศาลอีกเลยหลังจากขาดอายุไปแล้วเป็นเวลากว่า 50 ปี...

การไปปรากฏตัวที่ศาลแต่ละครั้ง ก็ด้วยวัตถุประสงค์หลักเพียงอย่างเดียวคือ คัดค้านอำนาจศาล มิใช่เพียงโต้แย้งว่าคำขอของกัมพูชาไม่อยู่ในเขตอำนาจพิจารณา...”

ประการที่สอง
เมื่อราชอาณาจักรไทยไม่รับว่าศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมีอำนาจในการตีความแล้ว รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยจึงไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรการคุ้มครองชั่วคราวของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ไม่ต้องถอนทหารหรือตำรวจตระเวนชายแดนออกจากแผ่นดินไทย และขอให้เร่งผลักดันชุมชนกัมพูชาให้ออกจากแผ่นดินไทย ทั้งนี้ ได้ปรากฏเป็นหลักฐานอย่างชัดเจนแล้วว่า ตั้งแต่มีการก่อตั้งศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมา มีประเทศคู่พิพาทให้ศาลออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราว 17 คดี แต่ศาลรับให้ออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราว 10 คดี ผลปรากฏว่า จนถึงบัดนี้ยังไม่เคยมีประเทศใดปฏิบัติตามเลยแม้แต่ประเทศเดียว ซึ่งรวมถึงสหรัฐอเมริกาด้วย ดังนั้นคำสั่งดังกล่าวไม่มีสภาพบังคับแต่ประการใด และหากรัฐบาลไทยยินยอมปฏิบัติถอนทหารออกจากพื้นที่จะถือเป็นประเทศแรกในโลกที่ปฏิบัติตามมาตรการคุ้มครองชั่วคราว ทั้งๆ ที่มีชุมชุนกัมพูชารุกรานเข้ามาอาศัยอยู่บนแผ่นดินของราชอาณาจักรไทย

ประการที่สาม ให้รัฐบาลไทยเร่งฟื้นฟูและพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยเฉพาะกับประเทศในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติอย่างเร่งด่วน เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะไม่มีประเทศใดเข้ามาใช้อำนาจในการละเมิดอธิปไตยของชาติ

ประการที่สี่ อาศัยกฎบัตรสหประชาชาติข้อ 2 วรรค 7 และให้รัฐบาลไทยยืนยันว่าสมาชิกสหประชาชาติไม่มีอำนาจในการแทรกแซงในเรื่องภายในอธิปไตยของราชอาณาจักรไทย และให้รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยยืนยันตามข้อ 2 (ก) และ 2 (ง) แห่งกฎบัตรสมาคมแห่งประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่ารัฐสมาชิกอาเซียนจะต้องปฏิบัติตามหลักการในการเคารพเอกราช อธิปไตย ความเสมอภาค บูรณภาพแห่งดินแดน ตลอดจนไม่แทรกแซงกิจการภายในของรัฐสมาชิกอาเซียน

ประการที่ห้า รัฐบาลราชอาณาจักรไทยจะต้องไม่กลับเข้าไปเป็นภาคีอนุสัญญามรดกโลกอีก

ประการที่หก
ให้รัฐบาลไทยหยุดการใช้นักวิชาการ 7.1 ล้านบาท ที่รับจ้างจากกระทรวงการต่างประเทศมาโฆษณาชวนเชื่อในสื่อของรัฐฝ่ายเดียว เพียงเพื่อให้คนไทยยอมจำนนกับการยกดินแดนไทยให้กับกัมพูชา เพราะนักวิชาการเหล่านี้มีจุดยืนอยู่ข้างฝ่ายกัมพูชา และควรเปิดพื้นที่สื่อให้กว้างขวางเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลจากผู้ที่ต้องการปกป้องอธิปไตยของชาติและไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาลด้วย

ประการที่เจ็ด ให้ช่วยเหลือ นายวีระ สมความคิด และ น.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ ซึ่งถูกทหารกัมพูชาจับในแผ่นดินไทยแต่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กลับใส่ร้ายว่าถูกจับในแผ่นดินกัมพูชา โดยเร่งรัดดำเนินการให้ทั้ง 2 คนถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำกัมพูชาโดยเร็วที่สุด

ดังนั้น หากรัฐบาลเมื่อทราบทางเลือกแล้วยังไม่ปฏิบัติตาม อีกทั้งยังประชาสัมพันธ์เพื่อให้คนไทยยอมจำนนกับความพ่ายแพ้อย่างอยุติธรรมในเวทีศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ย่อมถือว่ารัฐบาลมีเจตนาขายชาติขายแผ่นดิน จึงต้องเป็นผู้ร่วมรับผิดชอบด้วยหากราชอาณาจักรไทยต้องสูญเสียอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนครั้งนี้ และหากราชอาณาจักรไทยต้องสูญเสียดินแดนในครั้งนี้จะถือว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ราชอาณาจักรไทยต้องเสียดินแดนในรัชกาลปัจจุบันเพราะการสมรู้ร่วมคิด รู้เห็นเป็นใจ ของนักการเมืองทุกฝ่าย ข้าราชการที่เกี่ยวข้อง และผู้นำกองทัพที่ไม่ทำหน้าที่ในการปกป้องอธิปไตยของชาติตามรัฐธรรมนูญอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และจะต้องร่วมกันรับผิดชอบในความอัปยศทั้งหมดที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไป

จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจึงมีมติให้เรียกร้องต่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีให้ทำหน้าที่ในการปกป้องอธิปไตยของชาติและปฏิบัติตามข้อเรียกร้องทั้ง 7 ประการข้างต้นโดยเร็วต่อไป


ขอแสดงความนับถือ

(นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์)
ผู้แทนแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย













กำลังโหลดความคิดเห็น