xs
xsm
sm
md
lg

“บรรเจิด” ชี้แก้ รธน.เกิดยาก แม้ประชามติผ่านก็ยังมีช่องทางคว่ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“บรรเจิด” ชี้ร่าง รธน.ขัดต่อ รธน.ด้วยตัวของมันเอง เนื่องจากให้อำนาจประธานสภาชี้ขาดมาตรา 291 ฉะนั้นต่อให้ประชามติผ่านก็ยังมีประเด็นขัดต่อกฎหมายอยู่ดี ยกมาตรา 9 ของ พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ ขยายความ “เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง” หมายความว่าหากคนออกมาใช้สิทธิไม่เกินกึ่งหนึ่ง เรื่องก็ตกไป พร้อมระบุ “มาร์ค” รณรงค์ไม่ใช้สิทธิไม่ขัดกฎหมาย แต่ควรใช้วิธีให้ความรู้ประชาชนจะดีกว่า


วันที่ 17 ธ.ค. รศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และนายพิภพ ธงไชย แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV

นายบรรเจิดกล่าวถึงการทำประชามติก่อนโหวตแก้รัฐธรรมนูญวาระ 3 ว่า ถ้าย้อนดูคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ระบุไว้ว่าถ้าจะแก้ทั้งฉบับไม่สามารถทำได้ต้องถามประชาชนก่อน แต่พอจะไปทำก็ต้องยึดโยงว่ามาตรา 291 ไม่ได้เปิดช่องไว้โดยตรง จึงต้องไปใช้มาตรา 165 โดยวรรค 4 บอกว่า “การออกเสียงประชามติต้องเป็นการให้ออกเสียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในกิจการที่จัดให้มีการออกเสียงประชามติ และการจัดการออกเสียงประชามติในเรื่องที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือเกี่ยวกับตัวบุคคลหรือคณะบุคคล จะกระทำมิได้” ทีนี้พอมาดูร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นประเด็นที่นำมาสู่สาระสำคัญของการลงประชามติ คือ แก้ทั้งฉบับหรือไม่ ให้มี ส.ส.ร.หรือไม่ กระทบต่อระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเปล่า และร่างรัฐธรรมนูญนี้บอกให้ประธานสภาเป็นคนชี้ ประเด็นนี้โดยตัวของมันเองขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญต้องการให้ศาลรัฐธรรมนูญมาถ่วงดุลเสียงข้างมากของรัฐสภา การที่ให้ประธานสภามาชี้ประเด็นที่สำคัญที่สุด คือ มาตรา 291 ซึ่งเป็นประเด็นที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ เรียกว่าเป็นหลักการชั่วนิรันดร์ แต่เรากลับจะเขียนรัฐธรรมนูญไปให้อำนาจประธานซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเสียงข้างมากของรัฐสภา หมายความว่าเราทำให้รัฐธรรมนูญพังทั้งฉบับ

“ปัญหาคือประเด็นของร่างรัฐธรรมนูญขัดต่อรัฐธรรมนูญ ฉะนั้น การทำประชามติจะขัดมาตรา 165 ว่าด้วยการทำประชามติ เพราะถ้าประชาชนเห็นชอบด้วย ท้ายที่สุดพอโหวตวาระ 3 ก็จะเป็นประเด็นทางข้อกฎหมายอีก และขอยืนยันว่ารัฐสภาไม่ได้มีอำนาจสูงสุดต้องผูกพันกับรัฐธรรมนูญ” นายบรรเจิดกล่าว

นายบรรเจิดกล่าวต่อว่า มันมีกลไกไม่ง่ายที่จะเดิน มาตรา 6 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ วรรค 2 บอกว่า “ภายในกำหนดเวลาสามสิบวันนับแต่วันประกาศให้มีการออกเสียงใดแล้ว ถ้ามีผู้มีสิทธิออกเสียงเห็นว่าการให้มีการออกเสียงนั้นไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์แห่งกฎหมายที่บัญญัติให้มีการออกเสียงประชามติ หรือตามเจตนารมณ์ของมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญสามารถเสนอคำฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อให้มีคำวินิจฉัยโดยเร็ว”

ฉะนั้น ประเด็นข้อสงสัยในการแก้รัฐธรรมนูญสามารถไปได้ทั้งศาลปกครองสูงสุดและศาลรัฐธรรมนูญ และก็มีประเด็นเยอะมากซึ่งศาลต้องวินิจฉัยทั้งหมด แต่ประเด็นใหญ่คือการปล่อยให้หลักการที่สำคัญที่สุดของรัฐธรรมนูญไปอยู่ภายใต้การชี้ของประธานรัฐสภา อันนี้ต้องดำเนินการยับยั้ง แม้ผ่านวาระ 3 ก็ยังมีช่องทาง มีอีกหลายขั้นตอนมาก ทั้งรัฐธรรมนูญและศาลปกครองที่ต้องเข้ามาตรวจสอบ ถ้าแก้ได้ต้องผ่านกระบวนการทางกฎหมายมากพอควร

นายบรรเจิดกล่าวต่อว่า มาตรา 165 บอกว่า “การออกเสียงประชามติ อาจจัดให้เป็นการออกเสียงเพื่อมีข้อยุติโดยเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติในปัญหาที่จัดให้มีการออกเสียงประชามติ” ตนตีความว่า ประเด็นของประชามติจะมีข้อยุติได้ต้องมีเสียงข้างมากออกมาใช้สิทธิก่อนถึงจะเป็นข้อยุติได้ ถ้าเสียงข้างมากไม่ออกมาใช้สิทธิก็ไม่เป็นข้อยุติ จบกันไป โดยตรงนี้ได้มีมาตรา 9 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ มาขยายความว่า “การออกเสียงที่จะถือว่ามีข้อยุติในเรื่องที่จัดทำประชามติต้องมีผู้มาออกเสียงเป็นจำนวนเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงและมีจำนวนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาออกเสียงในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น” หมายความว่าถ้าคนมีสิทธิออกเสียง 46 ล้านคน แต่ออกมาแค่ 22 ล้าน ไม่เป็นข้อยุติ ก็จบไป นี่ข้อเบื้องต้น แต่ถ้าเกิน 23 ล้านเสียงไปทางไหนก็ขึ้นกับเสียงข้างมากของคนที่ออกมาใช้สิทธิ และตนก็เชื่อว่าประชามติคนจะออกมาไม่มาก เนื่องจากไม่ใช่หน้าที่เหมือนกับการเลือกตั้ง ส.ส.ที่จะถูกตัดสิทธิหลายอย่าง

เมื่อถามว่ากรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รณรงค์ให้ประชาชนไม่ออกไปใช้สิทธิลงประชามติว่าขัดกฎหมายหรือเปล่า นายบรรเจิดกล่าวตอบว่า ไม่เข้าข่ายมาตรา 43 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่ระบุความผิดของการกระทำไว้ว่า “หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ” แต่แม้ไม่เข้าข่ายความผิดทางกฎหมาย แต่สิ่งที่พรรคการเมืองควรทำคือติดอาวุธทางปัญญาให้ประชาชน ให้เห็นว่าอะไรจะเกิดกับประเทศไทยถ้าแก้รัฐธรรมนูญ สิ่งนี้สำคัญกว่าประเด็นออกมาใช้สิทธิหรือไม่

ด้านนายพิภพกล่าวว่า ดูเชิงคณิตศาสตร์ เลือกตั้งครั้งล่าสุดเพื่อไทยได้ 15 ล้านเสียง ต่อให้โอนเสียงทั้งหมดนี้มาใช้ในการผ่านประชามติก็ยังไม่พออยู่ดี อีกทั้งคนที่เลือกเพื่อไทยก็ไม่ได้หมายความว่าจะรับการแก้รัฐธรรมนูญ เพราะอาจเลือกจากนโยบายอื่นๆ บวกกับด้านความรู้สึก ประชาชนอาจเห็นว่าหากทักษิณกลับมาบ้านเมืองจะวุ่นวาย และจากการบริหารงานของรัฐบาลก็ลดความนิยมไปมาก สุดท้ายแล้วการประชามติก็จะตัดสินว่าเอาหรือไม่เอาทักษิณ




กำลังโหลดความคิดเห็น