xs
xsm
sm
md
lg

“สุกำพล” แถลงโต้ ปชป.3 ประเด็นซักฟอกไร้มูลความจริง ตั้ง กก.สอบคลิปเสียง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต (แฟ้มภาพ)
“สุกำพล” งัดคำชี้แจงในศึกซักฟอกแถลงสื่อ ยัน 3 ประเด็นที่ถูกฝ่ายค้านถล่มไร้มูลความจริง ทำทุกอย่างถูกต้องทั้งการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล-ปลดปลัดกลาโหม-โครงการปรับปรุงเรือฟริเกต-ต่อเรือสนับสนุนปฏิบัติการทางเรือ ล้วนโปร่งใส สั่งตั้งคณะกรรมการสอบฯ เอาผิด คนแอบอัดคลิปเสียงประชุมแต่งตั้งโยกย้าย


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (29 พ.ย.) พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม แถลงเกี่ยวกับข้อกล่าวหาของฝ่ายค้านในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ระหว่างวันที่ 25-27 พ.ย.ที่ผ่านมาทั้งเรื่อง 1. ปฏิบัติผิดกฎหมาย และผิดข้อบังคับกลาโหม ในการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล เมื่อวาระตุลาคม 2555 ที่ผ่านมา รวมถึงการกลั่นแกล้งขัดขวางไม่ให้ อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการแต่งตั้งของกระทรวงกลาโหม 2. การที่กองทัพเรือคัดเลือกบริษัท มาซัน จำกัด ทำการต่อเรือสนับสนุนการปฏิบัติการทางเรือ จำนวน 3 ลำ วงเงิน 553 ล้านบาท โดยใช้วิธีพิเศษนั้นไม่ถูกต้อง ถูกร้องเรียน และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินกำลังตรวจสอบ

และ 3. โครงการปรับปรุงเรือฟริเกต ชุดเรือหลวงนเรศวร และเรือหลวงตากสินของกองทัพเรือ มีการเปลี่ยนแปลระบบเป้าลวง (DECOY) จากระบบของ SAGEM เป็นระบบของ TERMA โดยที่ราคาทั้ง 2 ระบบแตกต่างกันมาก ทำให้มีการทุจริต 1,000 ล้านบาท ข้อกล่าวหาทั้ง 3 ข้อล้วนไม่มีมูลความจริงและไม่มีความถูกต้อง นำข้อมูลเพียงบางส่วนมากล่าวหา เพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจผิดทั้

พล.อ.อ.สุกำพลชี้แจงว่า ประการแรก การแต่งตั้งข้าราชการทหารชั้นนายพล เป็นอำนาจหน้าที่ ของคณะกรรมการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลของกระทรวงกลาโหม ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 มาตรา 25 วรรค 3 ซึ่งกำหนดไว้ 7 ท่าน แต่เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม จึงมีกรรมการปัจจุบันเพียง 6 ท่าน โดยตนเป็นประธานคณะกรรมการฯ ท่านอดีตปลัดกระทรวงกลาโหมก็เป็นกรรมการท่านหนึ่ง และผู้บัญชาการทหารสูงสุด กับ ผู้บัญชาการเหล่าทัพ อีก 3 ท่าน ทุกท่านมีอิสระในการใช้ดุลยพินิจในการออกเสียง

โดยคณะกรรมการฯ ดังกล่าวมีอำนาจในการพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล ของส่วนราชการทุกส่วนในกระทรวง และระหว่างส่วนราชการในสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม และส่วนราชการในกองทัพไทยมิใช่มีอำนาจเพียง “กลั่นกรอง” หรือ “เห็นชอบ” รายชื่อตามที่หัวหน้าส่วนราชการนั้นๆ เสนอขึ้นมา ดังที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางท่าน และท่านผู้นำฝ่ายค้าน ได้อภิปรายในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร หมายความว่า คณะกรรมการไม่ได้มีหน้าที่เฉพาะการกลั่นกรองตามที่ผู้อภิปรายกล่าวเท่านั้น แต่จะต้องพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลทั้งกระทรวงกลาโหม คณะกรรมการจะต้องกำหนดนโยบาย หลักเกณฑ์ ร่วมพิจารณาความเหมาะสม และดำเนินการจนได้ข้อสรุปในบัญชีแต่งตั้งที่ส่วนราชการเสนอขึ้นมา ตำแหน่งใดที่ไม่เหมาะสมก็จะต้องสามารถแก้ไขปรับเปลี่ยนได้ แต่จะต้องเป็นความเห็นของเสียงข้างมากในคณะกรรมการดังกล่าว

ดังนั้น การกำหนดหลักเกณฑ์ในการแต่งตั้ง และการแต่งตั้งตามบัญชีรายชื่อของทุกส่วนราชการ จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้ ไม่มีที่ใดระบุว่าเป็นอำนาจของหัวหน้าส่วนราชการ หรือคณะกรรมการของส่วนราชการนั้นๆ

ในส่วนการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล อัตรา จอมพล หรือพลเอก เป็นปลัดกระทรวงกลาโหม ก็เป็นไปตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล พ.ศ. 2551 ข้อ 13.1 ว่า ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด, ผู้บัญชาการเหล่าทัพ พระมหากษัตริย์จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากนายทหารชั้นยศพลเอก อัตราจอมพลหรือ พลเอก ก็ได้โดยไม่มีคำว่าต้องพิจารณาเรียงลำดับไป อย่างที่มีผู้อภิปรายไว้ และในข้อ 18 ว่าด้วยหลักเกณฑ์การแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล ให้คำนึงถึงอาวุโสทางทหาร ประวัติการรับราชการ ผลการปฏิบัติงาน ความประพฤติ จริยธรรม และความรู้ความสามารถประกอบกัน

พล.อ.อ.สุกำพลชี้แจงว่า ในการดำเนินการพิจารณา ตนเชิญประชุมคณะกรรมการของกระทรวง- กลาโหม รวม 2 ครั้ง ครั้งแรก วันที่ 17 สิงหาคม และครั้งที่สองวันที่ 5 กันยายน 2555 โดยการประชุมทั้ง 2 ครั้ง เป็นการประชุมที่ถูกต้องตามกฎหมายและข้อบังคับทุกประการ มีกรรมการเข้าประชุมครบองค์ประชุม โดยครและผู้บัญชาการเหล่าทัพทุกๆ ท่านได้ลงลายมือชื่อรับรองผลการประชุมนั้นไว้แล้ว

ส่วนที่ท่านสมาชิกสภาฯ ได้นำคลิปเสียงมาเปิดนั้น เป็นเพียงการตัดต่อเทปบันทึกบางส่วนที่ อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม แอบบันทึกไว้ด้วยตนเองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากที่ประชุม ถือว่าเป็นการแอบบันทึกเสียงโดยผิดกฎหมาย และท่านสมาชิกสภาฯ ก็มิได้เปิดคลิปในส่วนที่บันทึกเสียงของท่านกรรมการท่านอื่นๆ ที่เห็นด้วยกับการเสนอชื่อ พล.อ.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน เป็นปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งตัวตนเป็นผู้เสนอต่อที่ประชุม และในส่วนที่ท่านอดีตปลัดกระทรวงกลาโหม กล่าวหาว่าตนกีดกันไม่ให้ท่านเข้าประชุมฯ โดยใช้การออกคำสั่งให้ท่านไปช่วยราชการที่สำนักรัฐมนตรี จังหวัดนนทบุรีนั้น ก็ไม่เป็นความจริง

เนื่องจากการที่ตนออกคำสั่งให้ท่านอดีตปลัดกระทรวงกลาโหมไปช่วยราชการนั้น มีเหตุผลมาจาก 1. การกระทำที่ผิดวินัยทหารอย่างร้ายแรง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนของกระทรวงกลาโหม 2. ทำหนังสือกล่าวหา ให้ร้ายผู้บังคับบัญชาของตนโดยไม่เป็นความจริง 3. เปิดเผยความลับของทางราชการ และ 4. ทำให้เกิดความแตกแยก แตกสามัคคีในหมู่ทหาร

โดยศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งไม่ทุเลาคำสั่งของตน หมายถึงไม่คุ้มครองท่านอดีตปลัดกระทรวงกลาโหม และเห็นด้วยกับเหตุผลในการออกคำสั่งของตนที่ว่า เพื่อเป็นการระงับยับยั้งการเปิดเผยความลับของทางราชการ และมิให้การแตกความสามัคคี ในคณะทหารขยายออกไป ฯลฯ

ส่วนตามคำสั่งช่วยราชการซึ่งมีผลบังคับมา ตั้งแต่ 27 สิงหาคม 2555 แล้วทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ราชการประจำในฐานะปลัดกระทรวงกลาโหมได้ เพราะได้ส่งมอบหน้าที่ให้ผู้รักษาราชการแทนไปแล้ว แม้ว่าท่านอดีตปลัดกระทรวงกลาโหมได้ทำหนังสือมาขอเข้าประชุมฯ เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2555 แต่หนังสือมาถึงภายหลังการประชุมเสร็จสิ้นแล้ว และไม่ว่าท่านอดีตปลัดกระทรวงกลาโหมจะเข้าประชุมหรือไม่เข้าประชุมก็ไม่มีผลต่อมติที่ประชุม เพราะเป็นการประชุมที่ครบองค์ประชุมตามกฎหมาย และกรรมการที่เข้าประชุมทั้ง 5 ท่านมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เสนอขอพระราชทานโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน เป็นปลัดกระทรวงกลาโหม และได้พิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลของทุกส่วนราชการ ตามบัญชีที่ได้นำเรียนนายกรัฐมนตรีเพื่อกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พร้อมกัน และต่อมาก็ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้นายทหารรับราชการ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2555

ในส่วนที่ท่านอดีตปลัดกระทรวงกลาโหม ทำรายงานกล่าวหาว่า ตนทำผิดกฎหมาย และข้อบังคับฯ และท่านได้ขอเข้าพบนายกรัฐมนตรีนั้น ภายหลังการไปขอเข้าพบเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้ส่งเรื่องให้ตนพิจารณาตามขั้นตอน เพราะเรื่องดังกล่าวมิใช่เรื่องการร้องทุกข์ ซึ่งผู้ร้องทุกข์ต้องเป็นผู้ได้รับทุกข์ แต่เป็นการกล่าวหาให้ร้ายผู้บังคับบัญชาเหนือตนเป็นการกระทำที่ผิดขั้นตอนของทางราชการ ในเรื่องการดำเนินการแต่งตั้งดังกล่าวก็ยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จ ท่านนายกรัฐมนตรีจึงมิได้เพิกเฉย หรือก้าวก่าย หรือแทรกแซง หรือปฏิบัติผิดขั้นตอนของกฎหมาย หรือมิได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบแต่ประการใด และตนได้ทำหนังสือชี้แจงขั้นตอนที่ถูกต้องให้ปลัดกระทรวงกลาโหมทราบแล้ว

พล.อ.อ.สุกำพลกล่าวว่า ประเด็นที่ กรณีของการจัดหา เรือสนับสนุนการปฏิบัติการทางเรือ จำนวน 3 ลำ ตามที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อ้างว่า มีการรวบรัด เร่งรีบใช้วิธีพิเศษ จำกัดผู้เข้าเสนอราคานั้น ก็ไม่เป็นความจริง มีการเชิญ บริษัทต่อเรือเข้าเสนอราคาทั้งสิ้น 8 ราย มีผู้ยื่นเสนอแบบเรือ 2 ราย คือ บริษัท มาซัน และ บริษัท SEA CREST และเมื่อทางกองทัพเรือพิจารณาให้คะแนนแล้ว บริษัท มาซัน ได้รับคะแนนรวมสูงกว่า ย่อมเป็นเหตุให้ได้รับการคัดเลือก การที่บริษัท SEA CREST ร้องเรียนว่า บริษัทของตนสมควรจะได้รับการคัดเลือก เนื่องจากแบบเรือมีระบบเครื่องยนต์ที่ดีกว่าและระบบตัวเรือสามารถปฏิบัติการได้ถึงระดับคลื่นลม SEA STAGE 5 นั้นเป็นความจริงเพียงบางส่วน แต่แบบเรือที่เสนอโดยบริษัท มาซัน มีข้อดีกว่าหลายระบบ ได้แก่ ความคล่องตัวของตัวเรือ ระบบอุปกรณ์อำนวยการรบ ระบบสำหรับการติดตั้งอาวุธ ระบบอุปกรณ์การสื่อสาร ระบบเรดาร์ตรวจการณ์ (SURVEILLANCE RADAR) เป็นต้น

กรณีที่ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้รับหนังสือร้องเรียนจากบริษัท SEA CREST และขอให้กองทัพเรือชะลอการลงนามในสัญญา เพื่อตรวจสอบก่อนนั้น กองทัพเรือได้ส่งหนังสือชี้แจง รวมถึง ส่งเจ้าหน้าที่ไปชี้แจงต่อสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ถึง 6 ครั้ง ในระหว่างเดือนตุลาคม 2554 ถึงเดือนมีนาคม 2555 โดยกองทัพเรือได้ยืนยัน ความเห็นและผลการคัดเลือกว่าถูกต้องแล้ว

กองทัพเรือเห็นว่า เวลาล่วงเลยมานานหากล่าช้าจะเป็นผลเสียต่อการดำเนินการของโครงการต่อไปอีกทั้งจะกระทบต่อภารกิจหน้าที่ในการปกป้องอธิปไตย และผลประโยชน์ของประเทศ ซึ่งมีความสำคัญกว่ากองทัพเรือ จึงได้ตัดสินใจ และแจ้งว่าขอรับผิดชอบ และได้ลงนามในสัญญาดังกล่าวเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2555 เพื่อทำการต่อเรือตามโครงการ ซึ่งได้รับการอนุมัติให้ลงนามในสัญญาไว้ก่อนหน้าแล้ว ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2554 และโครงการนี้ก็เป็นโครงการที่เริ่ม และดำเนินการต่อเนื่องมาจากรัฐบาลชุดที่แล้ว อนึ่ง การใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษเป็นดุลพินิจของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ซึ่งวิธีดังกล่าวทุกรัฐบาลที่ผ่านๆ มาก็มีการใช้วิธีจัดซื้อจัดจ้างนี้ เช่นเดียวกัน

ส่วนประเด็นสุดท้าย เกี่ยวกับโครงการปรับปรุง เรือฟริเกต ชุดเรือหลวงนเรศวร และเรือหลวงตากสิน ผู้นำฝ่ายค้านฯ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางท่านกล่าวหาว่ากองทัพเรือได้เปลี่ยนแปลงระบบเป้าลวง (DECOY) จากระบบของ SAGEM เป็น ระบบของ TERMA โดยที่ราคา ระบบของ SAGEM และ ระบบของ TERMA แตกต่างกัน 100 ล้านบาท แต่บริษัทฯกลับลดราคาให้เพียง 1,000 บาท และโครงการนี้ยังมีความน่าสงสัยจะทุจริตถึง 1,000 ล้านบาท นั้น ข้อเท็จจริงโครงการปรับปรุง เรือฟริเกต ชุดเรือหลวงนเรศวร และเรือหลวงตากสิน ประกอบด้วย การปรับปรุงเรือ 5 ระบบ ดังนี้ ระบบควบคุมการรบ ระบบดักรับสัญญาณอีเล็กโทรนิกส์ EW ระบบสื่อสาร ระบบเป้าลวง DECOY ระบบปล่อยอาวุธนำวิธี ESSM ทั้งหมด 5 ระบบ มีวงเงินงบประมาณ ประมาณ 3,3000 ล้านบาท โดยในส่วนระบบที่ 1-4 มีวงเงินรวมประมาณ 2,700 ล้านบาท

สำหรับในส่วนของระบบเป้าลวง DECOY มีราคาตามที่บริษัท SAAB เสนอไว้เดิม ประมาณ 300 ล้านบาท ดังนั้น ไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงเป็นระบบอะไรก็ไม่สามารถทำให้เกิดความสูญเสีย หรือมีการทุจริตเป็นจำนวนเงินสูงถึง 1,000 ล้านบาท เป็นการกล่าวหาที่มุ่งโฆษณาชวนเชื่อ โดยไร้เหตุผลและหลักฐานข้อเท็จจริง

โดยบริษัท SAAB เสนอต่อกองทัพเรือขอเปลี่ยนระบบของ SAGEM ราคาประมาณ 300 ล้านบาท เป็นระบบของ TERMA ราคาประมาณ 200 ล้านบาทนั้น มิได้เปลี่ยนแปลงเพียงเฉพาะระบบเป้าลวง (DECOY) อันเป็นคำกล่าวหาที่ผู้อภิปราย ใช้ข้อเท็จจริงบางส่วนมาอ้างเท่านั้น แต่โดยความจริงมีข้อเสนอจากบริษัทฯ เพิ่มอุปกรณ์ต่างๆ ในเรือแต่ละลำ ดังนี้ 1. ระบบของ SAGEM จำนวน 1 ชุด หมุนได้ 360 องศา แต่เมื่อติดตั้งในเรือแล้วจะใช้งานได้เพียง 180 องศา เนื่องจากเป็นเรือเก่า มิได้ออกแบบติดตั้งไว้แต่แรก และต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมในโครงสร้างของเรือ เปลี่ยนเป็นระบบของ TERMA (หมุนไม่ได้) จำนวน 4 ชุด ติดตั้งรอบตัวเรือ ทำให้สามารถยิงได้โดยรอบ

2. เพิ่มระบบ LASER GYRO จำนวน 1 ระบบ ทำให้การเดินเรือ, การกำหนดที่ตั้ง และการติดตาม มีความแน่นอนยิ่งขึ้น 3. เพิ่มระบบอุปกรณ์เชื่อมต่อข้อมูล 4. ที่สำคัญคือ เพิ่มระบบแท่นยิงเป้าลวงตอร์ปิโดจำนวน 8 ชุด ทำให้เพิ่มขีดความสามารถในการป้องกันทางผิวน้ำ และใต้น้ำ ซึ่งระบบที่กำหนดไว้เดิมไม่มี และการเปลี่ยนระบบของ SAGEM เป็น ระบบของ TERMA ดังกล่าว เป็นระบบที่ทันสมัยทั้ง 2 ระบบไม่ใช่ระบบเก่า และมีใช้ในกองทัพเรือประเทศมหาอำนาจหลายประเทศเช่นเดียวกัน

พล.อ.อ.สุกำพลชี้แจงว่า บริษัท SAAB เสนอเปลี่ยนแปลงระบบของ SAGEM เป็นระบบของ TERMA ต่อกองทัพเรือ ไม่ได้เสนอตรงมาที่ตนหรือนายกรัฐมนตรี เมื่อกองทัพเรือพิจารณาเห็นชอบแล้วจึงเสนอมาที่ตน จากนั้นจึงเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ

รมว.กลาโหมระบุว่า ทั้ง 3 เรื่องที่ชี้แจงมานี้ ไม่มีเรื่องใดที่ตนหรือนายกรัฐมนตรีกระทำผิดรัฐธรรมนูญ หรือผิดกฎหมาย ก้าวก่าย แทรกแซง กลั่นแกล้งข้าราชการประจำ เพิกเฉย ปล่อยปละ ละเลย หรือทุจริตประพฤติมิชอบ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบแต่ประการใดทั้งสิ้น ข้อกล่าวหาทั้ง 3 เรื่องไม่มีมูลความจริง ไม่มีพยานหลักฐานแห่งความผิด หรือการทุจริตแต่ประการใด เป็นเพียงการนำข้อมูลเพียงเศษเสี้ยวที่ไม่ครบถ้วน คลาดเคลื่อน หรือไม่ถูกต้องมากล่าวหา แต่มิได้มองภาพรวม ภาพใหญ่ และภาพแห่งความเป็นจริง

ด้าน พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก รองปลัดกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ทาง พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเอาผิดทางวินัยจากกรณีที่ฝ่ายค้านนำคลิปเสียงการประชุมแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารมาเปิดในการอภิรายไม่ไว้วางใจทั้งหมด 18 คน โดยมีรองปลัดกระทรวงกลาโหม 4 คนเป็นกรรมการ และ พล.ท.พินิจ ฉัตรเสถียรพงศ์ รองเจ้ากรมเสมียนตรา เป็นเลขา โดยกรอบการทำงานเป็นเรื่องของวินัยทั้งหมด อะไรที่อยู่ในคำว่าวินัย ตรงนั้นตรวจสอบได้หมด ส่วนกรณีที่ พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม ได้เกษียณอายุราชการไปแล้วก็จะมีทีมงานเจ้าหน้าที่ของกรมพระธรรมนูญอยู่เพื่อให้คำปรึกษาในรูปแบบวิธีว่า จะทำอย่างไรสำหรับท่านที่เกษียณไปแล้ว ซึ่งทุกอย่างก็เป็นไปตามกฎระเบียบ ทั้งนี้เบื้องต้นสิ่งที่เกิดขึ้น ตามที่เราได้รับข้อมูลมาว่า มีใครทำอะไรที่ไหนอย่างไร มีเป็นกลุ่มแยกเป็นบุคคล ในหลักการต้องเชิญมาสอบปากคำทั้งหมด ซึ่งระยะเวลาในการดำเนินการจะต้องดำเนินการให้เร็วที่สุด เพราะสิ่งต่างๆเหล่านี้มีความเกี่ยวพันธ์ต่อเนื่องกัน กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ผ่านมาใน 2-3 วันนี้

“คณะกรรมการมีหน้าที่ตรวจสอบค้นหาความจริง แล้วที่ประชุมทั้งหมดจะมีการเสนอต่อท่าน รมว.กลาโหม ที่แต่งตั้งคณะกรรมการชุดนี้ต่อไป หากพบความผิดคณะกรรมการจะต้องมาดูอีกว่า ด้วยความผิดในลักษณะนี้ มีบทลงโทษอย่างไรแค่ไหน แม้การสอบสวนครั้งนี้จะเป็นเพื่อนร่วมรุ่น ตท.14 ทั้ง พล.อ.ชาตรี ทัตติ จเรทหารทั่วไป และ พล.อ.พิณภาษณ์ สริวัฒน์ ที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม แต่ผมก็ไม่หนักใจ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างเมื่อมีคำสั่งออกมาก็ต้องทำ ทั้งนี้ยังไม่สามารถพูดได้ว่าจะสอบสวนแล้วพบว่ามีความผิดจริงจะต้องมีการปลดออกจากราชการหรือถอดยศหรือไม่ เพราะต้องมีการตรวจสอบดูว่าอะไรจริงหรือไม่จริงอีกครั้งหนึ่งก่อน”


กำลังโหลดความคิดเห็น