xs
xsm
sm
md
lg

"ปึ้ง"อ้างยุติความไม่เป็นธรรม ดึงไอซีซีมาสางคดีสลายม็อบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ แถลงข่าว ชี้แจงผลการหารืออย่างเป็นทางการกับ นางฟาโต เบ็นโซดา อัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) ซึ่งเดินทางมาเข้าร่วมประชุมสมาคมอัยการระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ที่ผ่านมา ถึงเรื่องความร่วมมือทั่วไป ระหว่างไทยกับไอซีซี และกรณีที่กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เดินทางไปยื่นหนังสือร้องเรียนกับไอซีซี ให้พิจารณาเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองของไทย ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อปลายเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ นางเบ็นโซดา ได้ให้ข้อมูล และความเห็นเกี่ยวกับการประกาศยอมรับเขตอำนาจไอซีซี ตามข้อ 12 วรรค 3 ของธรรมนูญกรุงโรมฯ สำหรับประเทศที่ยังไม่ได้เป็นภาคีธรรมนูญกรุงโรมฯ โดยระบุว่า ไอซีซี มีเขตอำนาจพิจารณาการกระทำที่เป็นความผิดอาชญากรรมร้ายแรง 4 ประเภท คือ อาชญากรรมสงคราม อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ อาชญากรรมอันเป็นการทำลายล้างเผ่าพันธุ์ และอาชญากรรมอันเป็นการรุกราน ซึ่งสำหรับกรณีเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองของไทย นางเบ็นโซดา เห็นว่า อาจเข้าข่ายอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ แต่ต้องพิจารณาองค์ประกอบอื่นก่อน เช่น เป็นการกระทำอย่างกว้างขวาง หรือเป็นระบบ
นอกจากนี้ นางเบ็นโซดา ยังระบุว่า การประกาศยอมรับเขตอำนาจของไอซีซี สามารถกำหนดกรอบไว้ในคำประกาศได้ และจะต้องยึดหลักความเป็นกลาง ไม่เลือกปฏิบัติ โดยไอซีซี จะมุ่งดำเนินการกับผู้สั่งการโดยตรง และผู้รับผิดชอบที่แท้จริง ซึ่งการประกาศยอมรับเขตอำนาจไอซีซี จะเป็นขั้นตอนแรกในการเปิดโอกาสให้ไอซีซี เข้ามาทำการ ตรวจสอบเบื้องต้น (Preliminary Examination) ว่าไอซีซี จะมีอำนาจพิจารณากรณีนั้นๆ หรือไม่ และไอซีซี จะมีบทบาทเสริมกระบวนการยุติธรรมภายในประเทศเท่านั้น แต่เข้ามาดำเนินการได้ก็ต่อเมื่อ กระบวนการยุติธรรม ไม่สามารถ หรือ ไม่สมัครใจ หรือ ไม่ได้ดำเนินการอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม นางเบ็น โซดา เห็นว่า การจัดทำประกาศยอมรับเขตอำนาจไอซีซี ตามข้อ 12 วรรค 3 ของธรรมนูญกรุงโรม มีขอบเขตจำกัด จึงไม่ใช่สนธิสัญญา แต่เป็นการแสดงเจตนาของรัฐ เป็นการประกาศฝ่ายเดียว และสามารถถอนคำประกาศได้ แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยมีประเทศใดเคยถอนคำประกาศ

** ซัดกระบวนการยุติธรรมไม่เป็นธรรม

ส่วนการประกาศยอมรับเขตอำนาจไอซีซีของไทย นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อปี 2543 เคยตั้งคณะกรรมการเกี่ยวกับไอซีซี ขึ้นมา ดังนั้น จะต้องกลับไปตรวจสอบว่า ยังอยู่หรือไม่ ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าว ประกอบด้วย กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ของกระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานศาลยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม กระทรวงกลาโหม และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยยืนยันว่า จะพิจารณารายละเอียดข้อกฏหมายอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้ถูกบางกลุ่มนำไปบิดเบือนและสร้างความสับสนให้กับสังคม โดยเฉพาะกลุ่มที่รู้ตัวว่าอาจผิด หรืออาจจะผิด อย่าตีตัวไปก่อนไข้
" การที่หลายฝ่ายออกมาแสดงความคิดเห็นคัดค้านเรื่องดังกล่าว โดยไม่คิดที่จะศึกษา ไม่คำนึงถึงเหตุผลต่อการที่ไอซีซีจะเข้ามาเสริมกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้ความยุติธรรมต่อมวลมนุษยชาติที่ไม่ได้รับความยุติธรรมจริงๆ การเข้ามาของไอซีซีหากจะช่วยเกิดความยุติธรรมขึ้นในสังคมไทย จะไม่เป็นสิ่งที่ดีหรือสำหรับคนไทย ส่วนกลุ่มบุคคล ที่มองว่า การเข้ามาของไอซีซี ถือเป็นการดูถูกกระบวนการยุติธรรมของไทย ผมคิดว่าไม่ใช่ เพราะหากกระบวนการยุติธรรมได้ให้ความเป็นธรรมอย่างแท้จริง ไอซีซี ก็ไม่อาจเข้ามายุ่งเกี่ยวได้ วันนี้ ขอให้ผู้ที่รู้จริง ไม่รู้จริง หรือแกล้งทำเป็นไม่รู้ โปรดยุติการวิพากศ์วิจารณ์ไว้ก่อน และกลุ่มที่ชอบออกมาขู่ผมกับรัฐบาลให้กลัว อ้างว่าจะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น ผมขอบอกตรงๆว่า ผมไม่กลัวพวกคุณ" นายสุรพงษ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่า รัฐบาลอาจถูกมองว่า นำองค์การระหว่างประเทศเข้ามาจัดการกับฝ่ายตรงข้ามหรือไม่ นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ไม่ใช่อย่างแน่นอน เพราะไอซีซี ต้องใช้เวลาตรวจสอบหลักฐานและข้อมูลต่างๆ และตนยืนยันว่า ไม่ได้เป็นการแก้แค้น
เมื่อถามต่อว่าส่วนตัวคิดว่า ศาลของไทยให้ความยุติธรรมเพียงพอหรือไม่ นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ตนไม่อยากวิจารณ์กระบวนการยุติธรรมของไทย แต่ถ้าอะไรที่เป็นธรรมอยู่แล้ว ไอซีซี ก็ไม่เข้ามายุ่งเกี่ยว เมื่อถามต่อว่าถ้ามีการยื่นร้องให้ตรวจสอบการฆ่าตัดตอนในสมัยรัฐบาลของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะสามารถร้องเช่นนี้ต่อไอซีซี ได้หรือไม่ นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ก็สามารถทำได้
ต่อข้อถามว่า ใครหรืออะไร ที่จะบ่งชี้หรือตัดสินว่ากระบวนการยุติธรรมของไทยมีความยุติธรรมหรือไม่ อย่างไร นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ตนไม่ถามรายละเอียดตรงนี้ แต่ตนคิดว่า ถ้าไอซีซี ได้เข้ามาตรวจสอบเบื้องต้น ก็คงจะดูหรือศึกษาสาเหตุ และหลักฐานต่างๆก่อน
อนึ่ง ประเทศไทยเป็นรัฐหนึ่ง ที่ลงมติสนับสนุนธรรมนูญกรุงโรมฯ และได้ร่วมลงนามธรรมนูญกรุงโรม เมื่อ 2 ต.ค. 43 แต่ยังมิได้ให้สัตยาบันจนถึงขณะนี้ เนื่องจากต้องพิจารณาตามขั้นตอนที่กฎหมายในประเทศกำหนดไว้ก่อน โดยคณะรัฐมนตรีไทย ได้มีมติเมื่อ 19 ม.ค. 42 แต่งตั้ง “คณะกรรมการพิจารณาธรรมนูญศาลอาญาระหว่างประเทศ” ขึ้นตามที่กระทรวงต่างประเทศเสนอ ซึ่งมีหน้าที่พิจารณาผลดีและผลเสียของการเข้าเป็นรัฐภาคีแห่งธรรมนูญ
ทว่า ต่อมาวันที่ 1 ม.ย. 42 คณะกรรมการชุดดังกล่าว มีคำสั่งแต่งตั้ง “คณะอนุกรรมการแปลธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ” ประกอบด้วย กรรมการ 10 คน เป็นผู้แทนจากส่วนราชการต่างๆ คือ สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ กระทรวงยุติธรรม สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กรมพระธรรมนูญ กระทรวงกลาโหม และกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ

**เตรียมยื่นตีความขัดม.190 หรือไม่

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา และแกนนำกลุ่ม 40 ส.ว. เปิดเผยว่า หากนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี รมว.ต่างประเทศ ลงนามยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี ) เพื่อให้ไอซีซี เข้ามาตรวจสอบเอกสาร รายงานข้อเท็จจริง เพื่อประเมินข้อเท็จจริงในการสั่งสลายการชุมนุมทางการเมือง เมื่อปี 2553 จนเป็นเหตุให้มีคนเสียชีวิต 98 ศพว่า หากรมว.ต่างประเทศ ลงนามยอมรับเขตอำนาจไอซีซีจริง ตนจะขอเอกสารการลงนามทันที เพื่อนำมาวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ ว่าจะเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนหรือไม่ ก่อนที่จะดำเนินการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะต้องมีข้อมูลที่รัดกุม จะได้ไม่ช้ำรอยกับกรณีการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการขายข้าวแบบ จีทูจี ว่า ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 หรือไม่ ซึ่งต่อมาศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง
อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าจะเดินหน้าตรวจสอบเรื่องนี้แน่นอน แต่ยังระบุวัน เวลา ไม่ได้ เพราะต้องรอให้ รมว.ต่างประเทศ ลงนามให้เรียบร้อยเสียก่อน และถ้าหากยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แล้วหากศาลฯเห็นว่าขัดกับรัฐธรรมูญ ก็จะยื่นให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินคดีอาญาต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น