xs
xsm
sm
md
lg

“ปึ้ง” ดันไทยเข้าเขตอำนาจไอซีซี หวังนำคดี 98 ศพขึ้นศาลโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุรพงศ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล (แฟ้มภาพ)
“สุรพงษ์” เผยคุยเจ้าหน้าที่ศาลอาญาระหว่างประเทศแล้ว ยันสามารถรับรองเขตอำนาจศาลโลกได้ โดยไม่เข้าข่าย ม.190 ที่ต้องให้รัฐสภาพิจารณา ระบุมีอำนาจแค่ 4 เหตุการณ์ที่เป็นความผิดสากล และเป็นคดีที่ศาลในประเทศไม่สามารถให้ความยุติธรรมได้ จึงจะนำขึ้นสู้ศาลโลก

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ ถึงกรณีที่นายเอเมอริค โรจิเออร์ หัวหน้าสำนักงานวิเคราะห์สถานการณ์ ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) และนางฟาทู เบนซูดา อัยการของไอซีซี ขอเข้าพบ ที่กระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อหารือถึงรายละเอียดและขั้นตอนเกี่ยวกับการรับรองเขตอำนาจของไอซีซี ได้เฉพาะกรณี ตามข้อ 12 (3) ว่า ได้มอบหมายให้กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ บันทึกรายละเอียดและสรุปประเด็นต่างๆ ในการหารือดังกล่าวแล้ว และตนจะแถลงข่าวทุกประเด็นอย่างเป็นทางการในวันที่ 5 พ.ย.นี้ ว่าถ้าเรารับรองเขตอำนาจของไอซีซีจะมีผลกระทบต่อไทยหรือไม่ อย่างไร และเขาจะมีขอบเขตการทำงานอย่างไรบ้าง

อย่างไรก็ตาม หลังจากการหารือเมื่อวานนี้ (1 พ.ย.) ก็จะนำข้อมูลและรายละเอียดไปหารือกับกระทรวงยุติธรรมก่อนว่าจะดำเนินการได้อย่างไร เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างถูกขั้นตอน ทั้งนี้ไม่ต้องนำผู้แทนของไอซีซีไปร่วมพูดคุยกับกระทรวงยุติธรรม

ผู้สื่อข่าวถามว่า ส่วนตัวคิดว่าควรลงนามรับรองเขตอำนาจของไอซีซีหรือไม่ นายสุรพงษ์กล่าวว่า ฟังดูแล้วคิดว่าเราสามารถรับรองเขตอำนาจของไอซีซีได้ เพราะไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย และไม่ได้เป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมของไทย เนื่องจากถ้ามีผู้ยื่นร้อง ไอซีซีก็ต้องมาตรวจสอบรายละเอียดและข้อเท็จจริงของเรื่องนั้นๆ ซึ่งไอซีซีมีอำนาจดำเนินการต่อการกระทำผิดสากล 4 กรณี คือ 1. การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ 2. อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ 3. อาชญากรรมสงคราม และ 4. การรุกราน รวมถึงต้องพิสูจน์ได้ว่าเป็นคดีที่ศาลยุติธรรมของประเทศนั้นๆ ไม่สามารถให้ความเป็นธรรมหรือความยุติธรรมได้

ทั้งนี้ การที่ตนคิดว่าควรลงนามรับรองดังกล่าว ไม่ได้เป็นเพราะถูกกดดันจากกลุ่มคนเสื้อแดงที่ออกมาเรียกร้อง หลังจากที่ได้ไปยื่นเรื่องต่อไอซีซี ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อขอให้พิจารณาเรื่องการสลายการชุมนุมกลุ่มเสื้อแดง 98 ศพ จากเหตุการณ์เดือน เม.ย.-พ.ค. 2553 และตนเชื่อว่าเรื่องนี้จะไม่กลายเป็นประเด็นร้อน เพราะเป็นการให้ความเป็นธรรมแก่ผู้เสียชีวิตหรือผู้ที่รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว

นายสุรพงษ์กล่าวว่า ถ้าเราจะรับรองเขตอำนาจไอซีซีได้ เราจะต้องออกปฏิญญารับรองฯ ที่จะมีเนื้อหายืนยันการรับรองดังกล่าว ซึ่งปฏิญญาดังกล่าวเป็นการประกาศฝ่ายเดียว ไม่ได้มีการลงนามสนธิสัญญาใดๆ จึงไม่ต้องถูกนำเข้าการพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ทั้งนี้ เมื่อมีการประกาศปฏิญญานี้แล้วการรับรองฯ ก็มีผลทันที และไอซีซีสามารถเข้ามาตรวจสอบเหตุการณ์ที่ถูกยื่นร้องในเบื้องต้นว่าเป็นอย่างไร ก่อนที่จะดำเนินการใดๆ ต่อไป ซึ่งตนคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องดีสำหรับประเทศไทย แม้มีข้อห่วงใยของศาลยุติธรรมหรือฝ่ายอื่นๆ ที่อาจยังไม่เข้าใจ แต่วันนี้เราได้ข้อมูลที่ชัดเจนแล้ว

ด้าน น.ส.จารุพรรณ กุลดิลก ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงความคืบหน้าการยื่นเรื่องให้ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) พิจารณาเรื่องการสั่งสลายการชุมนุมในปี 2553 ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตว่า ล่าสุดฝ่ายทะเบียนของไอซีซีมีมติรับเรื่องเข้าสู่การพิจารณา โดยเห็นว่าอยู่ในอำนาจของศาล ขั้นตอนจึงส่งมาถึงสำนักอัยการของไอซีซี และวันที่ 2 พ.ย. อัยการศาลอาญาระหว่างประเทศจะเดินทางกลับกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ หลังเข้าหารือกับนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ เพื่อขอให้รับอำนาจศาลในการสอบสวนเบื้องต้น

ทั้งนี้ รมว.ต่างประเทศสามารถลงนามเปิดโอกาสให้ไอซีซีเข้ามาสอบสวนเบื้องต้นได้ทันที เพราะเรื่องดังกล่าวไม่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 เนื่องจากไม่ใช่เรื่องการทำสนธิสัญญา ไม่มีผลต่อกฎหมาย แต่เพื่อให้เกิดความรอบคอบมากที่สุด นายสุรพงษเตรียมนำข้อหารือของอัยการศาลระหว่างประเทศ แจ้งให้ ครม.ทราบในการประชุม ครม.สัปดาห์หน้า ก่อนที่จะลงนาม

อย่างไรก็ตาม หากลงนามแล้วคาดว่าต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปีในการสอบสวน โดยไอซีซีจะร่วมกับศาลไทยในการพิจารณาเรื่องนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น