xs
xsm
sm
md
lg

“เหวง”ควงเมีย-แม่น้องเกด บินกรุงเฮกฟ้องศาลโลกคดี 91 ศพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(25 มิ.ย.55) นายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ฐานะแกนนำคนเสื้อแดง แถลงที่รัฐสภา ระบุว่า นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาชนต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และ นางพะเยาว์ อัคฮาด มารดา น.ส.กมนเกด อัคฮาด หรือน้องเกด พยาบาลอาสาที่ถูกยิงเสียชีวิตภายในวัดปทุมวนารามจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 เตรียมเดินทางไปกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อเป็นพยาน ไต่สวนมูลฟ้อง กรณีคดี 91 ศพ ต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) เบื้องต้นเข้าใจว่านางธิดาจะไปให้ข้อมูลในประเด็นต่างๆ เช่น เหตุผลที่ยื่นเรื่องต่อศาลโลก, ทำไมไม่ใช้กระบวนการยุติธรรมของไทย เป็นต้น
ขณะนี้ศาลโลก ยังไม่ได้รับคำร้อง แต่โดยหลักปฏิบัติ จะต้องรับฟังข้อมูลของผู้ร้องและผู้ถูกร้อง เช่น คดีที่ฟ้องร้องมีข้อเท็จจริงที่เข้าข่ายเป็นพฤติกรรมที่เข่นฆ่ามนุษยชาติอย่างไร ทั้งนี้หากศาลโลกรับคำร้อง ตนเชื่อว่าจะเป็นเวลานับถอยหลังของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกฯ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ อดีตรองนายกฯ
ถามว่ากรณีที่นพ.เหวงเดินทางไปต่างประเทศใช้เงินส่วนตัวหรือของรัฐสภา ในฐานะส.ส. นายก่อแก้ว กล่าวว่า ประเด็นนี้ นพ.เหวงไปในนามของกลุ่มคนเสื้อแดง จึงใช้เงินส่วนตัว อย่างไรก็ตามกรณีการใช้เงินของรัฐสภาสามารถใช้ได้เฉพาะภายในประเทศเท่านั้น ไม่สามารถใช้เพื่อเดินทางไปต่างประเทศได้
นายคารม พลทะกลาง ทนายความ นปช. กล่าวว่า ตนกำลังเดินทางไปที่ศาลอาญาระหว่างประเทศเพื่อติดตามความคืบหน้าการยื่นเรื่องขอให้ศาลอาญาระหว่างประเทศไต่สวนเกี่ยวกับการสลายการชุมนุม ซึ่งยื่นเอาไว้ตั้งแต่วันที่ 31 ม.ค.2554 ที่ผ่านมา โดยเห็นว่าคดีดังกล่าวเป็นการกระทำผิดต่อมวลมนุษยชาติ ต่อประชาชนอ่ย่างกว้างขวางและเป็นระบบ ซึ่งจะเป็นประเด็นสำคัญที่ศาลจะรับคำร้องไว้พิจารณาหรือไม่ โดยขณะนี้ขั้นตอนอยู่ระหว่างอัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศกำลังสอบพยาน ดังนั้นการเดินทางครั้งนี้ตนจึงพานางพะเยา แม่ของน.ส.กมนเกด อัดฮาด และน้องชายของน.ส.กมนเกด ไปให้ข้อมูลกับอัยการในวันที่ 26 มิ.ย. ส่วนการให้สัตยาบรรณในภาคีธรรมนูญกรุงโรม ที่รัฐบาลยังไม่ดำเนินการนั้นเป็นประเด็นปลีกย่อย เชื่อว่าไม่กระทบเพราะแม้จะไม่ลงนามก็ไม่น่าจะทำให้ศาลไม่รับพิจารณา เพราะโดยพฤติกรรมได้เกิดการก่ออาชญากรรมไปแล้ว ทั้งนี้เชื่อว่าจะได้รับคำตอบเลยว่าอัยการจะส่งเรื่องให้ศาลพิจารณาหรือไม่
ส่วนที่นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ระบุศาลอาญาระหว่างประเทศได้รับคำร้องไว้พิจารณาแล้วนั้น นายคารม กล่าวว่า ตนไม่ทราบว่านายสุนัย ใช้ข้อมูลส่วนไหน แต่โดยหลักแล้วการที่ศาลอาญาระหว่างประเทศจะพิจารณาต้องผ่านอัยการก่อน และขั้นตอนจากนี้จะเป็นเรื่องที่ตนกับแม่น้องเกดจะไปให้ข้อมูลว่าทำไมจะดำเนินคดีกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพราะขณะนี้กระบวนการในประเทศเอาผิดกับบุคคลทั้งสองไม่ได้
ส่วนการออกกฎหมายปรองดองหรือความจริงแล้วคือการนิรโทษกรรม ไม่น่าส่งผลต่อการพิจาณาของศาลอาญาระหว่างประเทศ แต่ในทางกลับกันยิ่งออกนิรโทษกรรมจะทำให้พ้นผิดเท่ากับปกป้องผู้กระทำความผิด ซึ่งไม่เป็นผลดีกับผู้กระทำผิด เพราะตามกฎหมายของศาลอาญาระหว่างประเทศ มีการระบุว่าจะพิจารณาเฉพาะคดีที่ไม่มีการพิจารณาคดีในประเทศนั้น ๆ แต่ในคดีนี้เมื่อมีการนิรโทษกรรมก็ต้องแยกกัน เพราะการออกกฎหมายนิรโทษหรือการปรองดองเป็นอีกเรื่องหนึ่งและทำให้ผู้ทำผิดไม่ต้องรับผิด แต่ที่ศาลโลกจะพิจารณาว่าศาลของประเทศที่เป็นรัฐภาคีไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ไม่ถูกดำเนินคดีที่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน เป็นเงื่อนไขมากกว่า ส่วนนิรโทษกรรมที่พ้นผิดยังไม่เกิดขึ้น แต่ก็ยอมรับว่าไม่แน่ใจว่าจะมีผลตามกฎหมายตามมาหรือไม่ แต่เชื่อว่าไม่น่าจะมีผลอะไรเพราะน่าจะดูตามเวลาที่มีการไต่สวนคำร้องเป็นหลัก
ด้านนางพะเยา อัคฮาด แม่ของน.ส.กมนเกด กล่าวว่า ไม่ห่วงว่าการออกพ.ร.บ.ปรองดองหรือนิรโทษกรรมจะมีผลต่อการพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศ เพราะมั่นใจในกระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศ ตนไปในฐานะผู้สูญเสียที่อยากไปแถลงข้อมูลต่ออัยการเพราะลูกไม่ควรมาเสียชีวิตต่อเหตุการณ์ครั้งนี้ กระบวนการประเทศไทยมีเครื่องหมายกาชาด ไม่มีผลต่อเจ้าหน้าที่รัฐเลยหรือ เพราะที่ผ่านมามีการอ้างระบบสากลอยู่ตลอด แต่ลูกของตนเป็นอาสากาชาด เรียนมาโดยตรง โดยตนจะแถลงปากเปล่า มีล่าม แต่จะไม่อ่านสคริปต์
ทั้งนี้ อยากให้รัฐบาลควรชะลอการออกกฎหมายปรองดองออกไปก่อน รัฐบาลต้องมองความรู้สึกของประชาชนว่ามีส่วนอื่นที่สามารถทำได้ดีกว่านี้ เช่นให้กระบวนการยุติรรมดำเนินไป และคดีนี้เข้าสู่กระบวนการไต่สวนของศาลจึงถือเป็นหน้าประวัติศาสตร์ที่รัฐบาลจะมอง ไม่ใช่ว่าจะให้ประชาชนลืม ๆ กันไป
อีกด้านนางสุวรรณา สุวรรณจูฑะ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม (ดูแลงานกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ) กล่าว ยอมรับว่า กรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ จะได้นำเงินจำนวน 26 ล้านบาท ไปประกันตัวประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองเมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค. ปี 2553 จำนวน 13 ราย ที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำจังหวัดมุกดาหาร ในข้อหาก่อการร้าย เพื่อให้ออกมาต่อสู้คดีความตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป
ทั้งนี้เชื่อว่า กรมคุ้มครองสิทธิฯ จะสามารถดำเนินการประกันตัวผู้ต้องหา ทั้ง 13 ราย ออกจากเรือนจำจังหวัดมุกดาหาร และ ยอมรับว่าทางกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เตรียมการที่จะดำเนินการประกันตัวผู้ต้องหาคดีในลักษณะดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยหลังจากนำร่องในจังหวัดมุกดาหารแล้วก็จะเร่งดำเนินการต่อไปในจังหวัดอื่นๆ และจะประกันตัวผู้ต้องหาที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำในกทม. ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น