เห็นชัดว่าเป็นเกมดิสเครดิตพรรคประชาธิปัตย์ก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจแน่นอน กับเรื่องที่กระทรวงกลาโหมกำลังเร่งรัดดำเนินการ
ถอดยศ ร.ต.ของนายอภิสิทธิ์ พร้อมทั้งพิจารณาเรียกเงินเดือนและสิทธิประโยชน์ทางราชการหรือเบี้ยหวัดคืน
กรณีกระทรวงกลาโหมโดยคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการ การบรรจุเข้ารับราชการ การขึ้นทะเบียนกองประจำการ และการแต่งตั้งยศ ร้อยตรี ของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์-ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ที่มีพล.อ.ม.ล.ประสบชัย เกษมสันต์ รองปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธานได้สรุปผลการสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวออกมาเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาหลังใช้เวลาการพิจารณามาระยะหนึ่ง จนได้ข้อสรุปดังนี้
1.นายอภิสิทธิ์ ไม่ได้มารายงานตัวเพื่อตรวจเลือกการเกณฑ์ทหาร
2.ไม่ได้มีการขอผ่อนผันตามระเบียบ
3.การเข้ารับราชการเป็นอาจารย์โรงเรียนนายร้อย จปร.นั้นไม่ถูกต้อง
คณะกรรมการฯจึงทำความเห็นเสนอต่อพล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณฑัต รมว.กลาโหมว่าคณะกรรมการฯ ได้ข้อสรุปว่า นายอภิสิทธิ์ใช้เอกสารไม่ถูกต้องสมัครเข้ารับราชการทหาร
“จึงมีมติให้ใช้กฎกระทรวงกลาโหมดำเนินการถอดยศ ร.ต.ของนายอภิสิทธิ์ พร้อมทั้งพิจารณาเรียกเงินเดือนและสิทธิประโยชน์ทางราชการหรือเบี้ยหวัดคืน”
ทั้งนี้ตามขั้นตอนแล้วหากพล.อ.อ.สุกำพลลงนามเห็นด้วยกับผลสรุปของคณะกรรมการฯ ผลสรุปจะถูกส่งไปยังกรมเสมียนตรา กระทรวงกลาโหม เพื่อดำเนินการตามกฎหมายในการถอดยศและเรียกคืนเบี้ยหวัดทั้งหมดคืนจากนายอภิสิทธิ์ ตั้งแต่บรรจุเข้ารับราชการทหารวันแรก
ผลสรุปที่ออกมาของคณะกรรมการฯ หากดูจังหวะการตั้งเรื่องตั้งแต่พล.อ.อ.สุกำพล ไปพูดกลางที่ประชุมส.ส.พรรคเพื่อไทยเมื่อไม่นานมานี้ว่ากระทรวงกลาโหมจะมีการถอดยศและเรียกเบี้ยหวัดย้อนหลังทั้งหมดที่อภิสิทธิ์ได้รับ
จากนั้นพอข่าวออกไปว่า “บิ๊กโอ๋”ไปพูดเช่นนั้นกลางที่ประชุมส.ส.พรรคเพื่อไทย ไม่กี่วันถัดมา พล.อ.อ.สุกำพล ก็เซ็นคำสั่งตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าว
มีพล.อ.ม.ล.ประสบชัย เกษมสันต์ รองปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธานฯ พร้อมด้วยกรรมการคือ พล.อ.ชาญ โกมลหิรัญ เจ้ากรมเสมียนตรา, พล.อ.ชัยรัตน์ ชีระพันธุ์ เจ้ากรมพระธรรมนูญ, พล.ท.พอพล มณีรินทร์ ผบ.รร.นายร้อย จปร.ซึ่งบิ๊กโอ๋ก็บอกว่าไม่ได้ให้เวลากับคณะกรรมการว่าต้องทำเรื่องให้เสร็จภายในกี่วัน แต่คณะกรรมการจะไม่มีอำนาจไปถอดยศอภิสิทธิ์ได้ต้องเสนอมาให้รมว.กลาโหมพิจารณา
แต่หลายคนก็เดาทางไว้หมดแล้วว่า อย่างไรเสีย กรรมการชุดนี้ซึ่งล้วนแต่เป็นข้าราชการทหาร เมื่อฝ่ายการเมืองทั้งพล.อ.อ.สุกำพล ที่ไปเคยแถลงไว้ตั้งแต่เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมว่าอภิสิทธิ์ไม่เดินทางมาตรวจเลือกทหารตามขั้นตอน และมีการใช้เอกสารไม่ถูกต้องในการสมัครเข้ารับราชการทหาร
แถมพรรคประชาธิปัตย์ก็เปิดเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในช่วงเดือนพ.ย.นี้พอดี หลังมีการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจไปเมื่อศุกร์ที่ 9 พ.ย.ที่ผ่านมา
แล้วมีหรือที่ คณะกรรมการฯ จะไม่รับลูกฝ่ายการเมืองอย่างพล.อ.อ.สุกำพลที่ไปยืนแถลงข่าวอย่างเป็นทางการว่าอภิสิทธิ์หนีทหาร ก็เมื่อรมว.กลาโหมเอาตำแหน่งเป็นเดิมพันมาแล้วว่าเรื่องนี้อภิสิทธิ์ผิดแน่นอน
แล้วจะเป็นไปได้อย่างไรที่คณะกรรมการฯซึ่งเป็นข้าราชการทหาร ที่ก็ต้องการเติบโตในชีวิตราชการทหารและต้องทำงานภายใต้คำสั่งของนาย จะไม่สรุปผลออกมาตามธงที่รมว.กลาโหมได้ตั้งธงเอาไว้แล้วว่า
กองทัพต้องเช็คบิลอภิสิทธิ์
การที่ คณะกรรมการฯที่มีพล.อ.ม.ล.ประสบชัย เกษมสันต์ รองปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธานฯ สรุปผลออกมาแบบนี้ และในจังหวะที่กำลังจะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยคาดว่าอภิสิทธิ์จะต้องเป็นหนึ่งในแกนนำฝ่ายค้านที่จะต้องลุกขึ้นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลด้วย โดยเฉพาะการอภิปรายยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
จึงย่อมปฏิเสธเสียงวิจารณ์ไม่ได้ว่า เป็นเกมการเมืองของรัฐบาลที่ใช้กระทรวงกลาโหมเป็นเครื่องมือดิสเครดิตฝ่ายค้านก่อนการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจและเชื่อว่าส.ส.เพื่อไทยก็จะต้องนำประเด็นนี้ มาคอยทิ่มแทงอภิสิทธิ์และส.ส.ประชาธิปัตย์เพื่อตอบโต้เอาคืนยามเมื่อฝ่ายค้านอภิปรายยิ่งลักษณ์กลางสภาฯอย่างหนัก
รับรองจะได้เห็นภาพเช่นนี้แน่นอน ไม่เชื่อก็คอยดู
ขณะที่ฝ่ายประชาธิปัตย์เอง ก็คงเตรียมรับมือไว้แล้ว ว่าเพื่อไทยต้องมาไม้นี้ เพราะเหตุนี้หรือเปล่าก็ไม่ทราบ จึงทำให้เมื่อคณะกรรมการฯ ส่งหนังสือไปถึงอภิสิทธิ์ให้ นำเอกสารหลักฐานมาชี้แจงต่อคณะกรรมการฯ โดยให้เวลาภายใน 2 สัปดาห์หลังจากมีหนังสือส่งไปให้ แต่ปรากฏว่าอภิสิทธิ์ไม่ได้เข้ามาชี้แจงหรือส่งเอกสารหลักฐานมาให้คณะกรรมการฯ ตามระยะเวลาที่กำหนด กรรมการจึงไม่รอและมีผลสรุปดังกล่าวออกมา
ซึ่งเรื่องนี้ ทางทีมงานพรรคประชาธิปัตย์โดยเฉพาะพวกส.ส.ที่ใกล้ชิดอย่าง ศิริโชค โสภา ที่เป็นเสมือนเงาของอภิสิทธิ์ ให้เหตุผลว่าที่อภิสิทธิ์ไม่ได้ส่งเอกสารหรือไม่ได้ไปให้ปากคำต่อคณะกรรมการของกระทรวงกลาโหมเพราะติดภารกิจเดินทางไปเกาะฮ่องกงเพื่อปาฐกถาเรื่องปัญหาของประชานิยม
พอกระทรวงกลาโหมออกมาสรุปผลแบบนี้โดยที่ไม่ฟังคำชี้แจงหรือเอกสารคำชี้แจงของอภิสิทธิ์เสียก่อน ก็เลยทำให้ประชาธิปัตย์ ออกมาเกทับได้ว่า เป็นการรีบเร่งสรุปผลโดยไม่ฟังคำชี้แจงจากอภิสิทธิ์เสียก่อน เหมือนกับต้องการให้เรื่องนี้รีบออกมาในช่วงก่อนอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพื่อสร้างกระแสและทำลายความน่าเชื่อถือของอภิสิทธิ์และฝ่ายค้าน
เมื่อรู้ว่าอภิสิทธิ์จะโดนดิสเครดิต ปชป.ก็ต้องดิสเครดิตผลสรุปของกรรมการที่รู้อยู่แล้วว่าต้องออกมาแบบนี้
เรียกได้ว่าเป็น มวยรู้ทางกัน เขี้ยวด้วยกันทั้งฝ่ายกลาโหมและประชาธิปัตย์
เพราะเมื่อเรื่องนี้ เป็นเรื่องการเมืองไปแล้ว การขับเคี่ยว ชิงเหลี่ยมชิงคูกัน ก็ต้องใช้ชั้นเชิงการเมืองฟาดฟันกัน
ฝ่ายอภิสิทธิ์และประชาธิปัตย์คงเสียเปรียบหน่อยเพราะต้องสู้กับอำนาจการเมืองที่คุมกองทัพไว้เบ็ดเสร็จหมดแล้ว การสู้กันจึงอยู่ในสภาพเสียเปรียบ
ก็ดูอย่างตอนรัฐบาลอภิสิทธิ์ เรื่องนี้ ฝ่ายเพื่อไทย ก็มีการนำไปพูดขยายประเด็นกันมาร่วม 1-2 ปี ทั้งในการอภิปรายไม่ไว้วางใจตอนเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้านและบนเวทีเสื้อแดงหลายแห่งอย่างต่อเนื่อง แต่กองทัพยุคที่มีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นรมว.กลาโหม -พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นผบ.ทบ.และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นรองผบ.ทบ.ก็ไม่เคยทำอะไรกับเรื่องนี้
ครั้นพอเพื่อไทยมาเป็นรัฐบาล จึงมีการขุดเรื่องนี้ออกมาต่อเนื่องเพื่อดิสเครดิตอภิสิทธิ์ให้ได้ จนพล.อ.อ.สุกำพล ที่แม้เป็นรมว.กลาโหม แต่ทำหน้าที่อย่างกับสัสดี ใช้ความเป็นรมว.กลาโหม ออกหน้าตรวจสอบเรื่องอภิสิทธิ์หนีทหารถึงขั้นเปิดแถลงข่าวอย่างเป็นทางการในเรื่องนี้มาแล้ว และก็คงเพราะเรื่องนี้ด้วย มั้ง ที่อาจเป็นผลงานที่ทำให้พล.อ.อ.สุกำพล ได้นั่งเป็นรมว.กลาโหมต่อก็เป็นได้
อย่างไรก็ตาม แม้ล่าสุดพล.อ.อ.สุกำพลจะบอกว่าต้องขอดูรายละเอียดหนังสือที่คณะกรรมการจะส่งมาให้ก่อน ยังบอกไม่ได้ว่าจะเห็นด้วยหรือจะทำอย่างไรต่อไป แต่เรื่องนี้ก็คาดเดาได้ไม่ยากว่าพล.อ.อ.สุกำพลจะตัดสินอย่างไร มันมีแค่สองทางเท่านั้นคือรีบลงนามเลยหรือจะดึงเรื่องเอาไว้ก่อนสัก 1-2 อาทิตย์เพื่อรอไว้ช่วงเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจก่อนแล้วค่อยจัดการลงชื่อเพื่อเดินหน้าถอดยศอภิสิทธิ์
แม้จะรู้ดีว่า อย่างไรเสีย อภิสิทธิ์ ก็คงทำใจไว้อยู่แล้วว่าต้องโดนแบบนี้ การที่กระทรวงกลาโหมจะถอดยศช้าหรือเร็ว คงไม่มีผลอะไรต่อการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจของประชาธิปัตย์ แต่ในแง่การเมืองแล้ว หากอภิสิทธิ์โดนเรื่องนี้เข้าไป ก็คงเป็นงานหนักเหมือนกันของอภิสิทธิ์และประชาธิปัตย์ในการเคลียร์ตัวเอง
อย่างไรก็ตาม ดูแล้วอภิสิทธิ์คงไม่ยอมง่ายๆ ต้องแก้เกมแน่นอน
อาจไปฟ้องต่อศาลปกครองว่าคำสั่งถอดยศดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ หรือการไปยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อให้นำเรื่องนี้มาตรวจสอบว่าการดำเนินการของพล.อ.อ.สุกำพล รมว.กลาโหมที่เป็นตัวตั้งตัวตีเรื่องนี้ ทำโดยถูกต้องชอบธรรมหรือไม่
ไม่มีทางแน่นอนที่ อภิสิทธิ์และประชาธิปัตย์จะยอมให้เพื่อไทย ดิสเครดิตให้ตัวเองต้องหม่นหมองกับเรื่องข้อกล่าวหา ไม่ได้เข้ารับการตรวจเลือกทหารตามขั้นตอนที่ถูกต้อง
เพราะแม้อาจอ้างได้ว่าเป็นเรื่องการเมืองแต่หากอภิสิทธิ์ต้องโดนถอดยศและโดนเรียกเงินเดือนและสิทธิประโยชน์ทางราชการหรือเบี้ยหวัดคืน
มันก็เป็นเรื่องที่จะติดตัว อภิสิทธิ์ ไปตลอดชีวิต ที่คงไม่ดีนักหากปล่อยให้เรื่องนี้เกิดขึ้นโดยไม่คิดทำอะไรสักอย่างเสียก่อน