“รศ.ดร.ประภัสสร์” เตือนรัฐบาลพิจารณาให้รอบคอบเข้าร่วมเจรจาทีพีพี เผยเป็นเอฟทีเอที่อเมริกาต้องการทำให้อาเซียนแตกแยก เพื่อสกัดกั้นอำนาจของจีนในภูมิภาคนี้ ระบุข้อดีส่งออกไปสหรัฐฯ อาจดีขึ้น แต่ข้อเสียมีมหาศาล ด้าน “อัมรินทร์” ชี้การเปิดเสรีโดยไม่มีความพร้อม มีแต่จะทำให้ประเทศวิบัติ
วันที่ 14 พ.ย. รศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายอัมรินทร์ คอมันตร์ นักธุรกิจระหว่างประเทศ ได้ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV
รศ.ดร.ประภัสสร์ กล่าวถึงการที่รัฐบาลประกาศเข้าร่วมเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) ในระหว่างที่นายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จะเดินทางมาเยือนประเทศไทย ในวันที่ 18 พ.ย.นี้ ว่า อเมริกาต้องการดำรงความเป็นหนึ่งของโลก และของภูมิภาคนี้เอาไว้ แต่ระยะหลังจีนผงาดขึ้นมา อเมริกาเลยเริ่มกังวลใจว่าจะโดนแย่งอันดับ 1 ของภูมิภาคนี้ไป ยุทธศาสตร์ที่อเมริกาใช้ก็คือ แบ่งแยกแล้วปกครอง โดยไม่ต้องการให้อาเซียนรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน เพราะจะทำให้อิทธิพลสหรัฐฯ ลดลง
กรณีล่าสุดที่นำมาใช้ก็คือ ทีพีพี เกิดการแบ่งแยกในอาเซียนแตก เพราะมี 4 ประเทศที่เข้าร่วมแล้ว คือ เวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเวีย บรูไน ไทยกำลังเป็นประเทศที่ 5 และอีก 5 ประเทศยังไม่เข้าร่วม อาเซียนก็แตกเป็นสองขั้ว เอฟทีเอตัวใหม่นี้อเมริกาจะใช้วิธีค่อยๆ ดึงเข้ามาทีละประเทศ ท้ายที่สุดจะเป็นเอฟทีเอที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีประเทศในเอเชียแปซิฟิกเข้าร่วมหมด ยกเว้นจีน เมื่อพิจารณาข้อดี ข้อเสีย เราคงไม่ได้ประโยชน์จากประเทศอาเซียนด้วยกัน เพราะกำลังจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) อยู่แล้ว ก็เหลือประเทศในละตินอเมริกา ซึ่งมีการค้าขายกับไทยน้อย คงไม่ส่งผลเท่าไหร่ สรุปจะเหลือเพียงอเมริกาเท่านั้นที่เราจะได้ประโยชน์ คือ การส่งออกไปยังสหรัฐฯ อาจดีขึ้น แต่ผลเสียมหาศาล เพราะต้องกระทบเรื่องสิทธิบัตรยา ด้านทรัพย์สินทางปัญญา นโยบายการแข่งขัน ฯลฯ
รศ.ดร.ประภัสสร์ กล่าวอีกว่า ทีพีพี นี้ไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจ แต่มีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวด้วย เราก็รู้ดีว่าอเมริกาต้องการสกัดกั้นการแข่งขันของจีน การไปเข้าร่วมจะเท่ากับว่าเราส่งสัญญาณว่าเราเป็นพวกอเมริกา แล้วจีนจะคิดอย่าางไร ก็จะเป็นปัญหาความสัมพันธ์กับจีน
อีกอย่างกระทบต่ออาเซียนแน่ เรามีเอฟทีเอกับหลายประเทศ อเมริกาผลักตัวนี้เข้ามาเพื่อแข่งกับเอฟทีเอที่อาเซียนมีอยู่ ท้ายที่สุดแล้ว จะมาแทนที่เอฟทีเอหรือเปล่า ตลอดเวลาเอฟทีเอศูนย์กลางคือ อาเซียน แต่ทีพีพีศูนย์กลางคือ อเมริกา จะมาทำให้อาเซียนแตกเป็นสองค่าย คือพวกที่เข้าร่วมกับไม่ร่วม แล้วถ้าไม่เป็นเอกภาพ การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนมีปัญหาแน่ จริงๆ แล้วอาเซียนต้องการเป็นแกนในการสร้างเอฟทีเอในกรอบอาเซียนบวกสาม โดยเอา จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เข้ามาร่วม ถ้าสำเร็จจะเป็นเอฟทีเอที่ใหญ่ที่สุดในโลกในแง่ของจีดีพี แต่เอฟทีเอกรอบอาเซียนบวกสาม อเมริกาต่อต้านเต็มที่ เพราะกลัวโดนกีดกัน แล้วทำให้อิทธิพลในภูมิภาคลดลง
มันมีหลายเรื่องที่ต้องคิดต่อ พิจารณาในทุกมิติ เพราะผลการศึกษาที่ผ่านมาเน้นแต่เรื่องการค้าอย่างเดียว
นายอัมรินทร์ กล่าวว่า ตนไม่ค่อยห่วงว่าสองมหาอำนาจจะเข้ามาช่วงชิงความเป็นใหญ่ในภูมิภาค แต่สิ่งที่หนักใจที่สุดคือ ผู้บริหารประเทศไทยมีความสามารถมากแค่ไหน ตื่นตัวแค่ไหน เข้มแข็งพอที่จะรักษาผลประโยชน์ของประเทศไว้หรือเปล่า วันนี้เราต้องการผู้นำที่เข้มแข็ง เป็นคนดี ซื่อสัตย์
แล้วการที่เปิดเสรีการค้าโดยไม่มีความพร้อม มีแต่ทำประเทศวิบัติ แทนที่จะหันมาแก้ปัญหากับสัญญาที่ทำไว้ก่อนหน้านี้ แต่ไม่สนใจแก้ไขสิ่งผิดพลาดที่ผ่านมา ที่ถูกต้อง รัฐบาลต้องอย่าเพิ่งตกลง ให้โอบามากลับไปก่อน ไว้มีอะไรดีๆ ค่อยมาพูด