xs
xsm
sm
md
lg

ไทยลงนามร่วมมือในยุทธศาสตร์แปซิฟิก-หุ้นส่วนหรือคนใช้สหรัฐ !!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทักษิณ ชินวัตร
ผ่าประเด็นร้อน

เพิ่งจะเริ่มเห็นความชัดเจนออกมามากขึ้นเรื่อยๆ หลังมีการแถลงออกมาอย่างเป็นทางการของโฆษกและรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อวันก่อน เกี่ยวกับมาตรการรักษาความปลอดภัยและการลงนามเกี่ยวกับความร่วมมือกันหลายด้านของผู้นำทั้งสองประเทศระหว่างที่ประธานาธิบดี บารัค โอบามา เดินทางมาเยือน(แวะ)ประเทศไทยในวันที่ 18 พฤศจิกายน ก่อนที่จะเดินทางไปร่วมประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออกที่กรุงพนมเปญ กัมพูชา

แม้ว่าในการแถลงดังกล่าวของระดับโฆษกรัฐบาลจะไม่ค่อยแถลงรายละเอียดออกมาให้เห็นมากนัก จะด้วยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม แต่หากสังเกตให้ดีจะพบว่าในวันที่ผู้นำสหรัฐฯเดินทางมาไทยจะมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ในความร่วมมือกันหลายด้านแทบจะครอบคลุมในทุกเรื่อง เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม สาธารณสุข ที่น่าสนใจก็คือความร่วมมือในเรื่องภัยพิบัติทางธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ “ปัญหาข้ามชาติ” เป็นต้น

ขณะเดียวกันยังมีเรื่องของการลงนามในหุ้นส่วนด้านยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจในภาคพื้นแปซิฟิกที่ใช้อักษรย่อภาษาอังกฤษว่า “ทีพีพี” โดยจะมีการแถลงข่าวร่วมกันระหว่างนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบามา และการเป็นสักขีพยานในการลงนามเอ็มโอยูระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ซึ่งได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีให้เป็นตัวแทนฝ่ายไทยในการลงนามเอ็มโอยูดังกล่าว

ในการแถลงแบบสั้นๆของคณะโฆษกรัฐบาลไทยแต่ก็จับความหมายได้ว่า ความร่วมมือทั้งสองฝ่ายเน้นในเรื่องของการค้าการลงทุนในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ซึ่งก็คือไทย พม่า ลาวและกัมพูชา

แม้ว่าในข้อตกลงส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ ไม่เกี่ยวกับความมั่นคง แต่ในข้อเท็จจริงแล้วเบื้องหลังอาจเป็นคนละเรื่อง อย่างน้อยก็เป็นการป้องกันกระแสต่อต้านจนทำให้ “แผนล้วง” ที่วางแผนเอาไว้ต้องพังครืนลงไปก็ได้

จากบทบาทที่ต้องเป็นตัวแทนของรัฐบาลไทยทำให้อาจเข้าใจคำตอบได้ทันทีว่าทำไมถึงต้องเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่ชื่อ สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล และทำไมถึงต้องเพิ่มโบนัสเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรีเป็นรางวัลอีกหนึ่งตำแหน่ง ขณะที่ตำแหน่งผู้นำรัฐบาลนั้นไม่มีปัญหา เพราะทำหน้าที่ไม่ต่างจากการลงนามรับรองอย่างเป็นทางการเท่านั้น

หากย้อนกลับไปไม่นานก็จะได้เห็นความขยันเอาจริงเอาจังแต่ฝ่ายเดียวของรัฐบาลไทยที่จะให้สหรัฐฯมาใช้ “สนามบินอู่ตะเภา” ให้ได้อ้างว่าเพื่อมา “ดูลมดูเมฆ” สำรวจข้อมูลป้องกัน “ภัยพิบัติ” ทางธรรมชาติ แม้ว่าตอนแรกเมื่อถูกต่อต้านก็ขู่ว่าถ้าไม่ให้มาใช้สนามบินไทยก็จะเสียโอกาสเพราะสหรัฐฯ จะขนอุปกรณ์มาไม่ทัน แต่ในที่สุดกลายเป็นว่าฝ่ายไทยโดยกระทรวงการต่างประเทศนำเข้าสภาเพื่อเปิดอภิปรายโดยไม่ให้ลงมติเปิดทางให้เขาเข้ามาให้ได้ และคราวนี้ก็มีความคืบหน้าเพราะจะมีการลงนามความร่วมมือกันอย่างเป็นทางการในวันที่ 18 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้

มองในภาพรวมก็ถือว่ารัฐบาลไทยได้ “จัดเต็ม” เหมือนกับเอาใจสหรัฐอย่างเต็มที่เหมือนกับเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่า “หากไฟเขียวให้วีซ่าเข้าสหรัฐฯ กับผมแล้วรับรองว่าไม่มีทางผิดหวัง ผมจะทำงานรับใช้อย่างเต็มที่ ธุรกิจในพม่า ในเขมรและในไทยก็ไม่มีปัญหา เพราะผมเป็นเจ้าของรัฐบาล ผมกำกับสั่งการได้ทุกอย่าง” อะไรประมาณนั้น

อีกด้านหนึ่งเหมือนกับเป็นเรื่องบังเอิญอย่างตั้งใจก็คือในวันที่ 18 พฤศจิกายนวันเดียวกัน ทักษิณ ชินวัตร ก็มีกำหนดเดินทางไปหารือกับประธานาธิบดีเต็ง เส่งของพม่าที่กรุงเนปิดอว์ ซึ่งที่ผ่านมาก็เคยมีการตั้งข้อสังเกตกันไว้แล้วว่าส่วนใหญ่เป็นหัวข้อการลงทุนทางธุรกิจในท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย และธุรกิจพลังงานเป็นหลัก และก็เชื่อมโยงมาถึงบริษัทข้ามชาติของสหรัฐฯ คือ เชฟรอน ที่ลงทุนทั้งในพม่าและกัมพูชา

แน่นอนว่าการเคลื่อนไหวของ ทักษิณ รัฐบาลไทย และการเดินทางมาเยือนไทย(แวะ)ของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ในครั้งนี้มันช่างสอดคล้องกันอย่างดี ขณะเดียวกันเป็นการ “เปิดหน้า” ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าในยุทธศาสตร์การกลับมาปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐและการหันกลับมา “สูบทรัพยากร” ในเอเชียแปซิฟิก เนื่องจากเห็นว่าเป็นภูมิภาคที่โดดเด่นมีความสำคัญในอนาคตข้างหน้าทั้งด้านพลังงานและเศรษฐกิจจะช่วยหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจที่กำลังย่ำแย่ของตัวเอง อีกทั้งยังเป็นการกันท่าจีน มหาอำนาจในย่านนี้ แต่มุมหนึ่งก็ทำให้มองเห็นว่ารัฐบาลไทยที่มี ทักษิณ ชักใยอยู่เบื้องหลัง ก็กำลัง “อาสาเป็นลูกสมุนรับใช้” อย่างออกนอกหน้า เพียงเพื่อแลกกับผลประโยชน์บางอย่างเท่านั้น!!
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล
กำลังโหลดความคิดเห็น