นายกฯ กล่าวถ้อยแถลงการณ์ในการประชุมเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 9 ที่ลาว เผยจำเป็นต้องร่วมกันพัฒนารูปแบบความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในแนวทางใหม่ ยกบทเรียนวิกฤติการเงินเอเชียร่วมกันต่อต้านลัทธิการกีดกันการค้า เสนอ “เส้นทางสายไหมในยุคใหม่” เชื่อม “ยุโรป-เอเชีย” เพิ่มเส้นทางคมนาคมทางบก ส่งเสริมการจ้างงานระหว่างกัน
วันนี้ (5 พ.ย.) นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงการณ์ในการประชุมเต็มคณะ ว่าด้วยประเด็นเศรษฐกิจและการเงิน (Plenary Session I Agenda Item 3 : Economic and Financial Issues) ในการประชุมเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 9 ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ว่า การประชุมเอเชีย-ยุโรปถือเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนระหว่างเอเชีย-ยุโรป ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนนั้นมีความสำคัญต่อการพึ่งพาซึ่งกันและกัน ความท้าทายทางเศรษฐกิจ ที่ล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศได้ประมาณการณ์เศรษฐกิจโลกว่าจะเติบโตชะลอตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.3 ในปี 2012 ดังนั้น เอเชียและยุโรปจึงจำเป็นต้องร่วมกันพัฒนารูปแบบความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในแนวทางใหม่ๆ เพื่อให้ทั้งสองภูมิภาคเติบโตและส่งเสริมการจ้างงานระหว่างกัน เนื่องจากการสร้างงานใหม่ๆ จะส่งผลให้การเติบโตมีความยั่งยืนและมีมูลค่าอย่างแท้จริง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งสองภูมิภาคต่อไป
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้หยิบยกบทเรียนจากวิกฤติการเงินในภูมิภาคเอเชีย ที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมา โดยดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่อยู่บนพื้นฐานความสมดุลของการเจริญเติบโตอย่างมีวินัย ซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีจะต้องมาจากการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ การใช้จ่ายสาธารณะและการลงทุนภาคเอกชน และสำหรับอาเซียนก็ต้องเร่งสร้างความเชื่อมโยงและการเจริญเติบโตไปด้วยกัน เพื่อการเป็นประชาคมอาเซียนอย่างสมบูรณ์ในปี 2015 ซึ่งการค้าและการลงทุนที่เข้มแข็งระหว่างภูมิภาคและทั่วโลก จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะนำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งการต่อต้านการปกป้องทางการค้ายังคงมีความสำคัญในปัจจุบัน ซึ่งเอเชียและยุโรปต้องร่วมกันต่อต้านลัทธิการกีดกันการค้า และส่งเสริมการค้าและการลงทุนภายในภูมิภาคซึ่งกันและกันต่อไป
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังได้เสนอต่อที่ประชุมว่า เอเชียและยุโรปจะต้องร่วมกันพิจารณาแนวทางการพัฒนาความเชื่อมโยงระหว่างสองภูมิภาค อาทิ “เส้นทางสายไหมในยุคใหม่” โดยนอกเหนือจากการคมนาคมทางน้ำและทางอากาศที่มีอยู่ในปัจจุบัน เอเชียและยุโรปควรสนับสนุนให้เกิดการคมนาคมบนพื้นดินระหว่างสองภูมิภาคด้วย ซึ่งโครงการระยะยาวการเชื่อมรถไฟความเร็วสูงจากไทยไปจีน และเชื่อมต่อไปยังฝั่งตะวันออกไกลของรัสเซียและยุโรป ผ่านเส้นทางรถไปสายทรานไซบีเรีย Trans-Siberian Railway ที่มีการกำหนดมาตรฐานสำหรับการขนส่งตู้สินค้าและการปรับกฎระเบียบที่เอื้ออำนวยความสะดวก ก็จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับการขนส่งสินค้าสดจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปยังยุโรป
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวยืนยันต่อที่ประชุมว่า มีความมั่นใจว่ายุโรปจะสามารถปรับและฟื้นตัวจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจได้ ซึ่งไทยในฐานะส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียน พร้อมให้การสนับสนุนกาดรำเนินการต่างๆ เพื่อสนับสนุนความเป็นหุ้นส่วน และการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนร่วมกันของทั้งสองภูมิภาค ผ่านการค้าและการลงทุนที่มีรากฐานมั่นคง ในภาวะที่มีความท้าทายทางเศรษฐกิจสูงในปัจจุบัน และเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนไปสู่เป้าหมายเดียวกัน โดยประโยชน์สุขมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง