xs
xsm
sm
md
lg

บิ๊กเนม ศก.เตือนให้ระมัดระวัง ศก.โลกปี 56 อย่าก่อหนี้เกินตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


4 บิ๊กเนม ศก.เตือนให้ระมัดระวัง ศก.โลกปี 56 อย่าก่อหนี้เกินตัว เพราะสาเหตของวิกฤตทุกครั้ง เกิดจากการก่อหนี้มากเกินไป แล้วชำระหนี้ไม่ได้ แนะทางรอดต้องประคองตัวเอง เพราะการค้าโลกเริ่มลำบากขึ้น ยักษ์ใหญ่เริ่มใช้วิธีกีดกันการค้า

นายบัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย กล่าวในการสัมมนาเรื่อง “เศรษฐกิจไทยในยุคการเปลี่ยนแปลง เพื่อเผชิญความท้าทาย" โดยมองว่า ทิศทางเศรษฐกิจโลกในปี 2556 มีแนวโน้มดีขึ้น แต่จะเป็นการฟื้นตัวอ่อนๆ โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่าประเทศจีนต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลัง สหรัฐต้องแก้ปัญหาการคลังได้ และปัญหาหนี้สาธารณะยุโรปของกรีซ และสเปน ต้องมีทางออก ซึ่งทั้งธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์ว่าจีดีพีเศรษฐกิจโลกปีหน้าจะขยายตัวร้อยละ 3 และ 3.6 ตามลำดับ ซึ่งการที่เศรษฐกิจโลกยังมีปัญหาจะมีผลกระทบต่อการส่งออกขยายตัวลดลง เกิดปัญหาเงินทุนไหลเข้า ซึ่งรัฐบาลต้องเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากการบริโภคภายในประเทศ แทนการส่งออก และต้องประคองตัวเองอย่าให้มีการก่อหนี้มากจนเกินไป เพราะทุกวิกฤตเกิดจากการก่อหนี้มากเกินไปแล้วชำระหนี้ไม่ได้

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร กล่าวว่า การที่ทั่วโลกอัดฉีดสภาพคล่องและใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำอีกอย่างน้อย 2 ปี มีผลทำให้ประชาชนมีความมั่งคั่ง และเกิดการเก็งกำไรในสินทรัพย์ต่างๆ โดยเฉพาะราคาที่ดิน ซึ่งเริ่มเห็นสัญญาณในจังหวัดใหญ่ๆ เช่น ภูเก็ต หัวหิน นครราชสีมา และอุดรธานี ซึ่งในระยะสั้นดูเป็นภาพบวก แต่ในระยะยาวน่าเป็นห่วง เพราะเมื่อประชาชนมีความรู้สึกว่าเกิดความมั่งคั่งก็จะสร้างหนี้มากขึ้น โดยเฉพาะหนี้จากภาคประชาชน

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เอสเอ็มอีต้องเผชิญกับความท้าทายทั้งจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและการเพิ่มของต้นทุน โดยเฉพาะค่าแรงงาน 300 บาทต่อวัน ส่งผลให้ต้นทุนของเอสเอ็มอีต่างจังหวัดสูงกว่าผู้ผลิตในส่วนกลาง บวกกับต้องแข่งขันหาแรงงานคุณภาพกับผู้ผลิตรายใหญ่ ทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ได้ ซึ่งทำให้เอสเอ็มอีอ่อนแอมากขึ้น และคาดว่า 3 ปีข้างหน้าจะเห็นการปิดกิจการของธุรกิจเอสเอสเอ็มอี ดังนั้น รัฐบาลควรมาให้ความสำคัญกับการอยู่รอดของเอสเอ็มอี เนื่องจากเอสเอ็มอีมีมูลค่าถึงร้อยละ 36.62 ของจีดีพี มีสัดส่วนต่อภาคการส่งออกถึงร้อยละ 30 และเอสเอ็มอี มีการจ้างงานถึงร้อยละ 84 ของแรงงานทั้งระบบ

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนต้องมีการปรับตัว ปรับโครงสร้างใหม่ โดยเน้นการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร พลังงาน และน้ำมัน ซึ่งเป็นทรัพยากรที่ทั่วโลกต้องการ ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องเร่งการเปิดเจรจาการค้าเสรี โดยมองภาพในระยะยาวเป็นหลัก เพราะในอนาคตการค้าโลกกำลังต้องเผชิญมาตรการปกป้องทางการค้าทั้งในรูปแบบการทุ่มตลาด และการกีดกันทางการค้า ซึ่งจะเพิ่มความยุ่งยากในการทำธุรกรรม และการค้ามากขึ้น ดังนั้น ไทยต้องเร่งปรับตัวอย่าตกขบวนในรอบนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น