xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

รัฐดิ้นกู้วิกฤตยูโรโซน หวั่นทุบส่งออกไทยพังพาบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์- วิกฤตยูโรโซน ที่วันนี้แม้จะมีความชัดเจนแล้วว่า กรีซ จะยังคงอยู่ในยูโรโซนต่อไป แต่ปัญหายังไม่จบ เพราะวิกฤตที่เกิดขึ้น ยังเป็นเพียงแค่บทเริ่มต้น

กรีซยังต้องเข้าสู่มาตรการรัดเข็มขัด และต้องการเงินเพื่อใช้ในฟื้นฟูเศรษฐกิจ และเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา หากสะดุดจุดใดจุดหนึ่ง กรีซก็อาจจะพังลง และลุกลามเป็นปัญหาใหญ่โตต่อเศรษฐกิจโลกได้

หากถามว่า วิกฤตยูโรโซนมีเพียงแค่กรีซเท่านั้นใช่หรือไม่ คำตอบก็ชัดเจนแล้วว่า ไม่ใช่ เพราะขณะนี้ ประเทศที่อยู่ในยูโรที่กำลังมีปัญหาตามกรีซมาติดๆ ก็มีโปรตุเกส ไอร์แลนด์ สเปน และอิตาลี ที่กำลังประสบปัญหาหนี้สาธารณะอย่างหนัก ถ้าไม่ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง วิกฤตมาเยือนแน่ๆ

หากถามผลกระทบต่อไทยที่พึ่งพาตลาดยุโรป ซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับ 5 ในปัจจุบันจะเป็นอย่างไร ก็คงจะหลีกเลี่ยงผลกระทบได้ยาก ในปี 2554 ที่ผ่านมา ไทยส่งออกไปตลาดยุโรป 15 ประเทศ มูลค่า 21,530 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 12% โดยเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 5 คิดเป็นสัดส่วน 9.4% รองจากอาเซียนที่มีสัดส่วน 23.7% จีน 12% ญี่ปุ่น 10.5% และสหรัฐฯ 9.6%

ทั้งนี้ ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ประเมินว่า ผลกระทบจากปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรป จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในปี 2555 โดยจะทำให้อัตราการขยายตัวทั้งปีลดลงเหลือ 7-8% จากเป้าหมาย 15% เพราะมูลค่าการส่งออกไปตลาดยุโรปจะหายไป 1-1.5 แสนล้านบาท จากการชะลอการนำเข้าสินค้าไทยของกรีซ โปรตุเกส ไอร์แลนด์ สเปน และอิตาลี

ส่วนการหาตลาดใหม่เพื่อชดเชยตลาดยุโรปที่สูญเสียไป อาจไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะหลายๆ ประเทศที่พึ่งพาตลาดยุโรป ก็ต้องหาตลาดใหม่เพื่อชดเชยเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะจีน และรัสเซีย และอาเซียนด้วยกันเอง ทำให้จะมีการแข่งขันด้านราคากันสูงมาก

ไม่เพียงแค่นั้น ผลกระทบที่เกิดขึ้น ยังส่งผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยวจากยุโรป โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่ประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจจะมีจำนวนลดน้อยลง รวมไปถึงการลงทุนโดยตรง (FDI) ความผันผวนของค่าเงิน และความผันผวนของตลาดทุน ซึ่งเป็นเรื่องที่นักลงทุนต้องระมัดระวัง

ฟากกระทรวงพาณิชย์ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ส่งเสริมการส่งออกไปยังตลาดยุโรปโดยตรง มองวิกฤตที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ว่า ไทยจะหลีกเลี่ยงผลกระทบไม่ได้ ในฐานะยุโรปเป็นตลาดส่งออกหลักของไทยอีกตลาดหนึ่ง

สินค้าที่มีการประเมินว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากมีการพึ่งพาตลาดยุโรป ได้แก่ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและภายในบ้าน รองเท้า เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ และส่วนประกอบ เป็นต้น

ส่วนสินค้าที่มีโอกาสได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ คอมเพรสเซอร์ของเครื่องทำความเย็น ผลิตภัณฑ์ยาง รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ วงจรพิมพ์คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ วิทยุ โทรทัศน์และส่วนประกอบ ส่วนประกอบอากาศยานและอุปกรณ์การบิน เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบและอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น

ขณะที่สินค้าที่มีโอกาสได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่เป็นสินค้าในกลุ่มเกษตรและอาหาร เช่น สินค้าเกษตร อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป กุ้งสุดแช่เย็นแช่แข็ง ไก่แปรรูป และผลไม้กระป๋องและแปรรูป เคมีภัณฑ์ และเม็ดพลาสติก เป็นต้น

ทางออกในการชดเชยตลาดยุโรป ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาหนี้สาธารณะในครั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์มีแผนที่จะผลักดันการส่งออกไปยังตลาดที่ไทยได้ทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) โดยมุ่งเน้นกลุ่มอาเซียน จีน และอินเดีย รวมทั้งจะผลักดันการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร เช่น ข้าว ที่คาดว่าจะส่งออกได้เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ที่จะส่งออกได้มากขึ้น
หลังยุโรปยกเลิกการห้ามนำเข้า และอาหารประเภทต่างๆ ที่จะส่งออกได้เพิ่มขึ้นตามโครงการครัวไทยสู่ครัวโลก

ทางด้านการรับมือของรัฐบาล ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ออกมาตรการรับมือผลกระทบวิกฤตยูโรโซน โดยมอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ติดตามดูแลปัญหาที่เกิดขึ้น จำนวน 10 ข้อ ดังนี้

1.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจับตาปัญหาประเทศกรีซอย่างใกล้ชิดและไม่ประมาท เพราะปัญหากรีซไม่สามารถแก้ไขได้เร็ว และคาดว่าแม้กรีซจะได้รับเงินกู้เพิ่มเติมก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ และอาจลุกลามไปถึงประเทศโปรตุเกส สเปน และอิตาลี ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก

2.ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดอัตราดอกเบี้ยในประเทศระดับที่เหมาะสม เพราะมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจยุโรปอาจส่งผลทำให้มีเงินไหลออกจากประเทศในเอเชียรวมถึงไทย

3.ให้เร่งวางแผนเตรียมรองรับผลกระทบต่อภาคการเงิน โดยต้องมีข้อมูลสถาบันการเงินในประเทศว่ามีเงินจากยุโรปที่มีความเสี่ยงไหลออกจำนวนเท่าไร เตรียมบริหารสภาพคล่องให้เพียงพอกรณีมีเงินไหลออก ป้องกันผลกระทบค่าเงินและเศรษฐกิจไทย และกรณีเศรษฐกิจยุโรปกระทบสภาพคล่องลูกหนี้ ธนาคารควรเตรียมมาตรการผ่อนปรน เพื่อไม่ให้เกิดลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL)

4.ให้กระทรวงการคลังเตรียมวิธีที่เหมาะสมล่วงหน้ากรณีตลาดหลักทรัพย์ได้รับผลกระทบ เช่น ตั้งกองทุนพยุงหุ้น

5.ให้กระทรวงพาณิชย์วิเคราะห์ข้อมูลการส่งออกไปยุโรปและเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตในประเทศ รวมถึงกระทบต่อผู้ประกอบการ SMEs เพื่อเตรียมช่วยเหลือ

6.ให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งผู้แทนพิเศษในยุโรป ติดตามข้อมูลเชิงลึก และประสานรัฐบาลประเทศในยุโรปให้เห็นถึงความสำคัญของไทย เพื่อไม่ให้ประเทศเหล่านั้นใช้มาตรการกีดกันการค้าช่วงที่กำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจ

7.ให้กระทรวงแรงงานเตรียมมาตรการช่วยเหลือแรงงาน กรณีประสบปัญหาเลิกจ้างจากวิกฤติเศรษฐกิจยุโรป

8.ให้มีการประชุมร่วมรัฐมนตรีเศรษฐกิจ 9 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ คลัง เกษตรฯ คมนาคม ท่องเที่ยวและกีฬา พลังงาน ต่างประเทศ แรงงาน และอุตสาหกรรมทุกสัปดาห์ เพื่อติดตามสถานการณ์และเตรียมรับมือการเปลี่ยนแปลงได้ทันที โดยนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลังเป็นประธาน

9.ให้กระทรวงการคลัง ธปท. และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ตั้งทีมเกาะติดสถานการณ์และรายงานข้อมูลนายกรัฐมนตรี

10.ให้ทุกหน่วยงานควรหาโอกาสจากวิกฤติครั้งนี้ เช่น เร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ ช่วงนักลงทุนทั่วโลกต้องการพื้นที่ลงทุนนอกยุโรป

ก็ได้แต่หวังว่า มาตรการที่ออกมาจะได้ผล ก่อนที่จะพังไปตามๆ กัน !!!


กำลังโหลดความคิดเห็น