xs
xsm
sm
md
lg

“รบ.ปู” สั่งเข็นแพกเกจชุดใหญ่สู้พายุการเงินโลก เตรียมอัดสภาพคล่อง-ตั้งกองพยุงหุ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (แฟ้มภาพ)
“รบ.ปู” สั่งเข็น 10 มาตรการ ตั้งรับพายุการเงินจากวิกฤตยุโรป สั่ง “แบงก์ชาติ-คลัง” เตรียมพร้อม 24 ชั่วโมง งัดเครื่องมือ “อัดฉีดสภาพคล่อง-ดอกเบี้ย” ป้องกันเงินไหลออกเร็ว ตั้งทีมประกบเป็นรายประเทศ พร้อมเข็นก๊อกสองตั้งกองทุนพยุงหุ้น หากผันผวนหนัก พร้อมมอบ “กิตติรัตน์” เป็นหัวหน้าชุด

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร ภาคตะวันออก เมื่อวานนี้ โดยระบุว่าที่ประชุม ครม.ได้รับรายงาน 10 มาตรการสำคัญ เพื่อเตรียมรับมือผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจยุโรป ซึ่งมาจากการหารือร่วมของหน่วยงานเศรษฐกิจเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวประกอบด้วย 1. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจับตาปัญหาประเทศกรีซอย่างใกล้ชิดและไม่ประมาท โดยที่ประชุมวิเคราะห์ว่าปัญหากรีซไม่สามารถแก้ไขได้เร็ว และคาดว่าแม้กรีซจะได้รับเงินกู้เพิ่มเติมก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ และอาจลุกลามไปถึงประเทศโปรตุเกส สเปน และอิตาลี ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก 2. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดอัตราดอกเบี้ยในประเทศระดับที่เหมาะสม เพราะมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจยุโรปอาจส่งผลทำให้มีเงินไหลออกจากประเทศในเอเชียรวมถึงไทย

3. เร่งวางแผนเตรียมรองรับผลกระทบต่อภาคการเงิน โดยต้องมีข้อมูลสถาบันการเงินในประเทศว่ามีเงินจากยุโรปที่มีความเสี่ยงไหลออกจำนวนเท่าไหร่ เตรียมบริหารสภาพคล่องให้เพียงพอกรณีมีเงินไหลออก ป้องกันผลกระทบค่าเงินและเศรษฐกิจไทย และกรณีเศรษฐกิจยุโรปกระทบสภาพคล่องลูกหนี้ ธนาคารควรเตรียมมาตรการผ่อนปรนเพื่อไม่ให้เกิดลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) 4. กระทรวงการคลังเตรียมวิธีที่เหมาะสมล่วงหน้ากรณีตลาดหลักทรัพย์ได้รับผลกระทบ เช่น ตั้งกองทุนพยุงหุ้น 5. กระทรวงพาณิชย์วิเคราะห์ข้อมูลการส่งออกไปยุโรปและเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตในประเทศ รวมถึงกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อเตรียมช่วยเหลือ

6. กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งผู้แทนพิเศษในยุโรป ติดตามข้อมูลเชิงลึก และประสานรัฐบาลประเทศในยุโรปให้เห็นถึงความสำคัญของไทย เพื่อไม่ให้ประเทศเหล่านั้นใช้มาตรการกีดกันการค้าช่วงที่กำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจ 7. กระทรวงแรงงานเตรียมมาตรการช่วยเหลือแรงงาน กรณีประสบปัญหาเลิกจ้างจากวิกฤตเศรษฐกิจยุโรป

8. ประชุมร่วมรัฐมนตรีเศรษฐกิจ 9 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ คลัง เกษตร คมนาคม ท่องเที่ยวและกีฬา พลังงาน ต่างประเทศ แรงงาน และอุตสาหกรรมทุกสัปดาห์ เพื่อติดตามสถานการณ์และเตรียมรับมือการเปลี่ยนแปลงได้ทันที โดยนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคลัง เป็นประธาน 9. กระทรวงการคลัง ธปท. และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ตั้งทีมเกาะติดสถานการณ์และรายงานข้อมูลนายกรัฐมนตรี 10. ทุกหน่วยงานควรหาโอกาสจากวิกฤตครั้งนี้ เช่น เร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ ช่วงนักลงทุนทั่วโลกต้องการพื้นที่ลงทุนนอกยุโรป
กำลังโหลดความคิดเห็น