ที่ประชุมสภาฯ รับทราบผลการปฏิบัติงานกรรมการสิทธิฯ “เหวง” ได้ที ซัดรายงานสุดลำเอียง ไม่ระบุพรรคไหนหนุนพันธมิตรฯ จวกเอกสารหลุดเผาเมืองจงใจให้ความชอบธรรม “มาร์ค” ด้าน “วรชัย” โวยรับไม่ได้ ยังอ้างไม่มีชุดดำ “เชิดชัย” ป้องแดงรุนแรงแดงล้มเจ้าไม่มี “ขจิตร” จวกรายงานไม่สมบูรณ์ ด้าน “อมรา-นิพนธ์” อ้างรายงานปี 51-52 คาบเกี่ยวชุดเก่าแก้ไม่ได้
วันนี้ (4 ต.ค.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 14.00 น.การประชุมสภาผู้แทนราษฎร มี นายวิสุทธิ์ ไชณรุณ รองประธานสภาฯ คนที่ 2 ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม โดยที่ประชุมรับทราบรายงานผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เกี่ยวกับการประเมินด้านสิทธิมนุษยชนประจำปี 2551-2553 โดย นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า อยากถามว่า กรรมการสิทธิฯ มีความเห็นตรงกันกับที่มาของปฏิญญาสากลที่ได้วิเคราะห์ว่า มนุษย์ทุกคนเกิดมามีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน หากเกิดการกดขี่ ก็จะมีการต่อสู้อย่างป่าเถื่อนเกิดขึ้น ดังนั้น จึงมีหลักการ 2 ข้อ คือ 1.มนุษย์ทุกคนเกิดมามีศักดิ์ศรี ต้องปฏิบัติต่อกันด้วยเจตนารมณ์แห่งภราดรภาพ และ 2.ทุกคนมีเสรีภาพตามที่กำหนดไว้ โดยปราศจากความแตกต่าง ฉะนั้น กรรมการสิทธิฯ เห็นตรงกันในส่วนนี้หรือไม่ นอกจากนี้ การที่กรรมการสิทธิฯ ชุดก่อน ระบุว่า การรัฐประหารเป็นความชั่วร้ายที่จำเป็น ตนเห็นว่า สิทธิมนุษยชนจะเกิดขึ้นได้ในระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตย ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในระบอบเผด็จการ ดังนั้น อยากถามว่า กรรมการสิทธิฯ ชุดนี้ยังเห็นตามนั้นหรือไม่
นพ.เหวง กล่าวอีกว่า รายงานของกรรมการสิทธิฯ จะพบว่า เป็นการรายงานที่เข้าข้าง มีความลำเอียงอย่างชัดเจน ระหว่างการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และการชุมนุมของกลุ่ม นปช.ตนขอตั้งข้อสังเกตว่า การชุมนุมของ นปช.ทางกรรมการสิทธิฯ จะมีการสรุป และฟันธงในเหตุการณ์ที่ชัดเจน ว่า การชุมนุมมีความเกี่ยวข้องกันกับพรรคการเมือง ที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นผู้สนับสนุน แต่ในส่วนของกลุ่ม พธม.ถึงแม้จะมีนักการเมืองขึ้นร่วมปราศรัยบนเวที แต่กรรมการสิทธิฯ กลับไม่ได้มีการระบุว่า มีการเกี่ยวพันกับพรรคการเมืองใด เป็นต้น ดังนั้น การทำหน้าที่ของกรรมการสิทธิฯ ก็ไม่ต่างอะไรไปจากกลุ่มการเมืองที่เลือกข้าง
“ที่ผ่านมา มีเอกสารของกรรมการสิทธิฯ หลุดออกมา ผมเชื่อว่า เป็นความตั้งใจของพวกคุณ ที่ตั้งใจจะเผยแพร่ โดยระบุว่า การชุมนุมของคนเสื้อแดงเป็นการชุมนุมที่รุนแรง ไม่สงบ และไม่ปราศจากอาวุธ ทำให้รัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีความชอบธรรมที่จะปราบปราม ซึ่งก็ทำเหมือนกับ คอป.ที่พูดว่า มีชายชุดดำอยู่ในการชุมนุมทางการเมือง ฉะนั้น ถ้าจะสรุปออกมาเช่นนี้ ก็ควรจะมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน และช่วยกล้าๆ สรุปหน่อย” นพ.เหวง กล่าว
ด้าน นายสาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า กรรมการสิทธิฯชุดนี้มีความสำคัญต่อการบริหารงานของทุกรัฐบาล เพราะไม่ว่ารัฐบาลไหน ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนได้ 100 เปอร์เซ็นต์ และบางครั้งรัฐบาลก็เป็นฝ่ายไปละเมิดสิทธิมนุษยชนเสียเองในการใช้อำนาจบริหาร และกรรมการสิทธิฯ ทำหลายเรื่องไม่ใช่แต่เฉพาะการชุมนุมทางการเมืองอย่างเดียว เช่น กรณีที่มาบตาพุด ซึ่งความจริงคนที่จะเป็นผู้นำเรื่องความเป็นกลางน่าจะเป็นรัฐบาล เพราะมีอำนาจในการบริหาร แต่ขณะนี้รัฐบาลกลับมีพฤติกรรมที่ไม่เป็นกลาง อะไรที่พอใจก็เห็นด้วย อะไรที่ไม่พอใจก็ไม่เห็นด้วย เช่น พฤติกรรมที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ไปพูดกับตำรวจระดับผู้บัญชาการ ว่า ตำรวจที่เลือกข้างพรรคประชาธิปัตย์ เป็นการแทงไฮโลผิด เพราะพรรคเพื่อไทยยังเป็นรัฐบาลอีกยาว ใครอยู่ข้างรัฐบาลพรรคเพื่อไทย คิดถูกแล้ว พฤติกรรมอย่างนี้ไม่ควรเกิดขึ้น เพราะข้าราชการต้องทำตัวเป็นกลาง และจะเห็นได้ว่าขณะนี้องค์กรอิสระไหนที่ปฏิบัติงานตรงไปตรงมา แต่รัฐบาลไม่ชอบก็จะยุบ ดังนั้น ตนขอให้กำลังใจคณะกรรมการสิทธิฯ ว่า อย่าหวั่นไหวต่อการปฏิบัติหน้าที่
ส่วน นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า รับไม่ได้กับการรายงานของกรรมการสิทธิฯ เพราะวันนี้ไม่ได้ทำหน้าที่ปกป้องสิทธิของชาวไทย ซึ่งการเลือกตั้งที่ผ่านมาชี้ชัดว่า หลังจากมีการยึดอำนาจ เสรีภาพ และสิทธิของประชาชนถูกทำลายมากที่สุด และองค์กรต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญปี 2550 มีหลายองค์กร ซึ่งองค์กรสิทธิฯ เป็นองค์กรหนึ่งที่มาจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ยืนยันว่า การชุมนุมทางการเมือง คนเสื้อแดงไม่มีชายชุดดำ เพราะการต่อสู้ด้วยความสงบปราศจากอาวุธ สามารถทำได้ แต่ในวันนั้นประชาชนคนเสื้อแดงถูกฆ่า 92 ศพ ดังนั้น ขอให้นำรายงานฉบับนี้ ไปคิดใหม่ ทำใหม่ และทบทวนว่าสิ่งที่รายงานมานั้น มีข้อเท็จจริงสัก 20-30 เปอร์เซ็นต์ได้หรือไม่ เพระองค์กรสิทธิฯ ต้องครอบคลุมทุกเรื่อง ฉะนั้น ตนขอบอกองค์กรอิสระทั้งหลาย ว่า ถ้าต้องการให้ประเทศมีสิทธิเท่าเทียมต้องคิดถึงคุณธรรม จริยธรรม ในการพิจารณา อย่าเลือกฝ่าย และเลือกข้าง มีประโยชน์อะไรที่มาทำหน้าที่นี้เป็นเพียงตราประทับความถูกต้อง อย่าทำตัวเพื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ต้องมีจิตสำนึกว่า วันนี้ท่านกินภาษีของประชาชนอยู่
นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า การระบุว่าแดงรุนแรง แดงล้มเจ้า นั้นไม่จริง เพราะตนเป็นหัวหน้าเสื้อแดงในภาคอีสาน ซึ่งการชุมนุมก็ออกเงินกันเอง และถ้าจะรุนแรงก็จะรุนแรงกว่านี้ ดังนั้น ขอให้กรรมการสิทธิฯตรวจสอบขอเท็จจริงให้ถูกต้อง และหวังว่า กรรมการสิทธิฯ จะทำหน้าที่ที่ดี เพราะคนเขาหวังมาก เขาก็จะเกลียดมาก
นายขจิต ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า รายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ฉบับนี้ถือว่ายังไม่สมบูรณ์ เพราะสถานการณ์ทางการเมืองควรจะรอบด้านมากกว่านี้ ตนไม่สามารถรับทราบได้ เพราะตนไม่ใช่ตรายาง ดังนั้น ขอให้ถอนรายงานกลับไปทบทวนปรับปรุงแล้วนำกลับเข้ามาใหม่ในภายหลัง
นายนิพนธ์ วิศิษยุทธศาสตร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า เป็นเรื่องของรายงานให้รับทราบเท่านั้น ส่วนข้อวิพากษ์วิจารณ์ของสมาชิกก็เป็นเรื่องของมุมมอง ซึ่งถือว่ากรรมการสิทธิฯได้ทำหน้าที่ตามข้อบังคับแล้ว
นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชี้แจงว่า รายงานฉบับนี้เป็นของกรรมการสองชุด คือ ชุดก่อนหน้านี้และชุดนี้ โดยเป็นรายงานที่เกิดเกี่ยวกับเหตุการณ์ปี 51 และ 52 เท่านั้น เพราะฉะนั้นหลายเรื่องที่อาจเกิดขึ้นก่อนปี 51 หรือหลังปี 52 เราไม่ได้นำมาเสนอไว้ ทั้งนี้ ข้อวิจารณ์บางข้ออาจคลาดเคลื่อน ตนไม่ขอตอบโต้ในแง่ของรายละเอียด แต่ข้อเสนอแนะของสมาชิกนั้น เราจะรับไปพิจารณา โดยเฉพาะรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์บางเหตุการณ์ นอกจากนี้ ขอความกรุณาให้สภาฯชุดนี้ผ่านร่าง พ.ร.บ.สิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้วย
นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิฯ ชี้แจงว่า การทำงานของกรรมการสิทธิฯ เป็นการทำงานคาบเกี่ยวกันกับกรรมการชุดเก่า จึงไม่สามารถแก้ไขได้ และเป็นการรายงานเพื่อให้รับทราบเท่านั้น
ทั้งนี้ เวลา 17.44 น.นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นขอให้มีการตรวจสอบองค์ประชุม แต่เมื่อ นายเจริญ กดปุ่มเรียกสมาชิกเพื่อนับองค์ประชุม และเห็นว่ามีสมาชิกอยู่จำนวนน้อย จึงสั่งปิดการประชุมทันทีในเวลา 17.45 น.