รัฐสภาถกวาระด่วนพิจารณาอนุญาตนาซาใช้อู่ตะเภา “เฉลิม” อ้างเฉยถ้าไม่โจมตีเรื่องเท็จสำเร็จไปแล้ว ก่อนโมเมขอมติเข้า ม.190 หรือไม่ ด้าน “อภิสิทธิ์” โบ้ย ครม.ไม่อนุมัติเอง จี้แจงให้ชัดทำอะไรบ้าง ไม่ใช่แค่กระดาษแผ่นเดียว “ค้อนปลอม” ยันลงมติวันนี้ไม่ได้ “สุรพงษ์” แย้มปีหน้าถ้ามีงบก็ทำได้ อ้างจีนไม่กังวล “ปลอด” บอกเชื่อมะกันคอนเฟิร์มองค์กรไม่เกี่ยวรัฐ ด้านฝ่ายค้าน-ส.ว.ห่วงผลประโยชน์แฝง “บุญยอด” ทวงเอกสาร ขอนับองค์ “นิคม” ชิ่งสั่งปิดประชุมทันที
วันนี้ (2 ต.ค.) ที่รัฐสภา การประชุมร่วมรัฐสภาได้มีการพิจารณาวาระเรื่องด่วน ขอเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาเรื่องการอนุญาตให้องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (นาซา) เข้ามาดำเนินโครงการศึกษาการก่อตัวของเมฆที่มีผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยตามมาตรา 179 ของรัฐธรรมนูญ
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะตัวแทนคณะรัฐมนตรีได้นำเสนอโดยกล่าวถึงเรื่องราวความเป็นมาของโครงการดังกล่าวและวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจบทบาทของมรสุมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ส่งผลกระทบต่อชั้นบรรยากาศ รวมทั้งมลพิษทางอากาศที่มีผลต่อชั้นบรรยากาศ โดยเมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2553 สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (จิสด้า) ได้จัดทำแถลงการณ์แสดงความเจตจำนงร่วมกับนาซาเพื่อกำหนดความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ ต่อมาสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาได้ทำหนังสือขอความร่วมมายังรัฐบาลไทยในเดือน พ.ค. 2555 เพื่อขอเข้ามาดำเนินการ แต่ปรากฏว่านาซาได้ยกเลิกโครงการดังกล่าวในวันที่ 26 มิ.ย. 2555 เนื่องจากไม่ได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานที่มีอำนาจของไทยไม่ให้ดำเนินการตามโครงการต่างๆ ซึ่งไทยได้เสียโอกาสที่จะมีสิ่งดีๆ มาดำเนินการในครั้งนี้เพราะมีการบิดเบือนว่าประเทศไทยได้เสียอธิปไตยและได้ยกสนามบินอู่ตะเภาให้กับสหรัฐอเมริกา รวมไปถึงงจะมาทำการจารกรรมข้อมูลของไทย ทั้งหมดล้วนเป็นความเท็จทั้งสิ้น รัฐบาลรับตระหนักและรับฟังความคิดเห็นมาโดยตลอด
“หากไม่มีการโจมตีกันในทางที่เป็นเท็จแล้วเรื่องนี้ก็คงสำเร็จไปแล้ว โดยพื้นที่การบินครอบคลุมประเทศไทย สิงคโปร์ กัมพูชา และน่านน้ำสากล ซึ่งรัฐบาลสิงคโปร์และกัมพูชาไม่ได้คัดค้านแต่อย่างใด” ร.ต.อ.เฉลิมกล่าว
ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ที่ผ่านมามีการวิเคราะห์ว่าโครงการดังกล่าวเป็นหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 หรือไม่ ซึ่งรัฐบาลไทยได้พิจารณาโดยยึดแนวบรรทัดฐานของศาลรัฐธรรมนูญแล้วคิดว่าหนังสือแลกเปลี่ยนโครงการระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาเป็นเพียงความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์เพื่อศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวภูมิอากาศไม่ได้มีผลเปลี่ยนอาณาเขตประเทศไทย โดยนาซ่าต้องเสนอแผนการบินให้กับไทยพร้อมกับปฎิบัติตามกฎหมายของไทยอย่างเคร่งครัดและใช้พื้นที่ในระยะเวลาจำกัดระหว่างเดือน ส.ค. และก.ย. 2555 ที่สำคัญไม่ได้ใช้งบประมาณของไทย จึงไม่เป็นหนังสือสัญญาที่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาตามมาตรา 190 แต่อย่างใด
“ผมยืนยันว่ารัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่ได้ดื้อดึง เมื่อมีข้อท้วงติงจึงได้อาศัยรัฐสภาว่ามีความเห็นอย่างไร โดยอาศัยมาตรา 179 อยากกราบขอความกรุณาถ้าเพื่อนสมาชิกรัฐสภาได้ศึกษาสาระสำคัญเรื่องนี้ว่าไม่เข้าเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ท่านกรุณายืนยันเถอะครับว่าไม่เข้าและจะเสนอแนะเพิ่มเติมอย่างไรก็ช่าง แต่ถ้าท่านมั่นใจว่าก็ยืนยันมาด้วยเสียงข้างมากว่าเข้าตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 190 รัฐบาลจะได้ดำเนินการเอามาเข้ารัฐสภาตามมาตรา 190 ต่อไป” ร.ต.อ.เฉลิมกล่าว
ด้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฏรกล่าวว่า ตนจำเป็นต้องทำความกระจ่างต่อวัตถุประสงค์การนำเรื่องนี้เข้ามา ตามมาตรา 179 เป็นช่องทางที่รัฐบาลจะมาหารือกับรัฐสภา เกี่ยวกับเรื่องที่จะมีผลกระทบกับประเทศ แต่แปลกใจที่ ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวติติงว่าน่าเสียดายที่ไทยพลาดโครงการนี้เพราะมีการบิดเบือน และมีการนำเรื่องนี้มาพูดในรัฐสภาทั้งที่จบไปแล้ว เลยไม่ทราบว่าต้องการรับฟังเรื่องอะไร
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า โครงการที่ปรากฏออกมาต่อสาธารณชนที่จะมีการวิจัย ศึกษาเรื่องการก่อตัวของเมฆ ภูมิอากาศในภูมิภาคนี้ ไม่มีใครปฏิเสธว่าไม่มีประโยชน์ แต่การดำเนินการมีผลข้างเคียง หรือมีข้อเท็จจริงบางอย่างที่มีผลกระทบหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ การที่รองนายกฯ ลุกขึ้นมากล่าวหาว่าใครก็ตามวิจารณ์เรื่องนี้เป็นคนบิดเบือน แต่หน่วยงานของรัฐเองก็มีความเป็นห่วงต่อผลกระทบต่อความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หากเรื่องนี้เป็นเรื่องน่าเสียดาย เสียประโยชน์ ถามว่าใครเป็นคนตัดสินใจไม่อนุมัติให้มาดำเนินการ เพราะครม.เป็นผู้ตัดสินใจเรื่องนี้ก็ต้องไปตำหนิ ครม.เอง โดยเพราะอย่างยิ่งการแสดงความมั่นใจว่าไม่เกี่ยวกับมาตรา 190 และตัดสินใจไม่อนุญาตก็ต้องรับผิดชอบต่อการตัดสินใจนั้น แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือโครงการนี้เสนอมาและมีเงื่อนเวลาเฉพาะ และรัฐบาลทราบมาตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ทำไมไม่ชี้แจงต่อสาธารณะจนมีปัญหาการเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ มาแล้ว และเขาต้องการคำยืนยันก่อน แต่เมื่อรัฐบาลไม่สามารถบริหารจัดการได้และตัดสินใจไม่อนุญาต เขาก็ยกเลิกโครงการนี้ไป ขณะที่ รมว.วิทยาศาตร์ฯ ได้เสนออีกเรื่องเข้าสู่ ครม.ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกันโดยใช้นักวิทยาศาสตร์ของไทย และขอกรอบวงเงินงบประมาณจาก ครม.นั้นมีความคืบหน้าอย่างไร เพราะมีกระแสข่าวว่าจะมีการนำโครงนี้ไปเจรจากับนาซ่าอีกครั้งว่าอาจจะลองสำรวจในปีหน้า
“เราต้องการความชัดเจนก่อนว่ารัฐบาลจะขออะไรในสภา เพราะสิ่งที่กล่าวมาตามเอกสารอ้างอิงมันหมดอายุไปแล้ว แต่ถ้าจะมาขอรับฟังความเห็นเรื่องโครงการในปีหน้าข้อเท็จจริงของโครงการอยู่ที่ไหน เพราะวาระการประชุมให้กระดาษมาแผ่นเดียวจะเหมือนเดิมหรือไม่ ไม่มีใครทราบ ดังนั้น อยากให้รัฐบาลชี้แจงให้ชัดเจนว่าเรื่องอะไร ครอบคลุมไปถึงการใช้สนามบินอู่ตะเภาหรือไม่ เพราะปัจจุบันรัฐบาลก็มีแนวทางเจรจากับสหรัฐที่จะใช้สนามบินอู่ตะเภาเพื่อเป็นศูนย์ในการบริหารจัดการช่วยเหลือในกรณีเกิดภัยพิบัติในภูมิภาค ต้องย้ำให้ชัด คงไม่มีประโยชน์ที่จะมาฟังเรื่องในอดีตที่ยกเลิกไปแล้ว และถ้าจะมาถามความเห็นว่ากรณีนี้เข้ามาตรา 190 หรือไม่ ไม่ใช่อำนาจหน้าที่รัฐสภา เป็นอำนาจขององค์กรอื่นที่จะวินิจฉัย และการเปิดอภิปรายตามมาตรา 179 รัฐธรรมนูญระบุชัดว่าไม่มีการลงมติ ร.ต.อ.เฉลิมเป็นนักกฎหมายน่าจะเข้าใจอยู่แล้ว”
ด้าน ร.ต.อ.เฉลิมยืนยันว่า ตนพูดชัดเจนไม่สับสน เว้นแต่นายอภิสิทธิ์จะสับสนไปเอง แม้เรื่องจะจบไปแล้ว แต่รัฐบาลไทยได้ประสานกับรัฐบาลสหรัฐฯ ที่จะเอาโครงการรูปแบบเดิมสื่อหลายฉบับได้วิพากษ์วิจารณ์เต้าข่าว และพรรคประชาธิปัตย์ โดยระบุว่าถ้ารัฐบาลไม่ถอนโครงการจะเดินหน้าเอาผิดเพราะสุ่มเสี่ยงต่อการเอาชาติไปแลกผลประโยชน์แอบแฝงของใครบางคน รัฐบาลจึงต้องระมัดระวัง ต้องถอยมาตั้งหลักและที่เสนอเข้ารัฐสภาเพื่อขอหารือเพื่อบ้านเมืองเอาผลไปตรวจทาน ไม่ได้หวังชนะคะคานในสภา เชื่อว่าสมาชิกมีสติปัญญา เพื่อจะได้ไปบอกกับสหรัฐว่ามีการพูดคุยกันในรัฐสภาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ด้าน นายอภิสิทธิ์ท้วงติงว่า หากรัฐบาลยืนยันว่าจะทำโครงการเดิมก็ควรจะมีเอกสารรายละเอียดมาเสนอให้สมาชิกด้วย เพราะบันทึกที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ส่งต่อสภา อ้างอิงถึงแต่โครงการเก่าทั้งสิ้น
“ผมเพิ่งทราบว่ารัฐบาลขวัญอ่อน บริหารงานด้วยความหวาดกลัว ทำไมต้องกลัวถ้าบริหารงานด้วยการถูกต้องตามฎเหมือนกรณี พ.ร.ก.กู้เงิน 4 ฉบับ พอศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าออกได้รัฐบาลก็ทำต่อ ทำไมกรณีนี้ถึงเกรงกลัวเป็นพิเศษ ถ้ายืนยันว่าเป็นโครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเราก็ต้องคาดเอากันเองว่าเป็นอย่างไร แต่ถ้าจะให้ใช้สนามบินอู่ตะเภาก็ต้องมีการพูดกันเยอะ แต่ประธานต้องวินิจฉัยว่าเรื่องนี้ลงมติไม่ได้เพราะรัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเจน”
ขณะที่ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุม กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นการเสนอเข้ามาเพื่อหารือสมาชิกรัฐสภา ตามมาตรา 179 กรณีประเด็นที่ขอให้มีการลงมติว่าเกี่ยวข้องกับมาตรา 190 หรือไม่ จะมีการลงมติไม่ได้ เพราะอยู่นอกเหนืออำนาจของรัฐสภาจะทำได้แค่หารือกรอบความเห็นสมาชิกเท่านั้น
ด้าน ร.ต.อ.เฉลิมปฏิเสธว่าตนไม่ได้บอกให้มีการลงมติ แต่ขอให้สมาชิกแสดงความเห็นแนบท้ายเป็นภาคผนวกว่าได้พิจารณาแล้วเข้ามาตรา 190 หรือไม่ ถ้าไม่รัฐบาลก็จะเดินหน้าต่อไปได้เลย ถ้าเข้าเงื่อนไขก็ต้องเอากลับมาในสภาอีกครั้ง
นายสมศักดิ์กล่าวว่า เรื่องจะให้สมาชิกพิจารณาว่าเข้าข่ายมาตรา 190 หรือไม่นั้นคงไม่ได้ เพราะเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ถ้าเห็นว่าเข้าข่ายก็เสนอเข้ามาสภาเอง วันนี้คงเป็นเรื่องการขอฟังความเห็นของสมาชิกว่าเห็นควรให้ดำเนินโครงการนี้ต่อไปหรือไม่ เท่านั้น
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.การต่างประเทศ กล่าวว่า แม้ปีนี้นาซาไม่สามารถดำเนินการในไทยได้ แต่จากกรณีนายกฯได้หารือกับนางฮิลลารี คลินตัน รมว.การต่างประเทศสหรัฐอมริกา และเขาก็เข้าใจในเรื่องปัญหาการเมือง แต่เราก็สรุปไปว่าต้องการให้มีโอกาสทำเรื่องนี้อีกครั้ง ทางสหรัฐฯ บอกว่าหากปีหน้ามีงบประมาณก็มีความเป็นไปได้ว่าจะทำโครงการในไทย อย่างไรก็ตาม โครงนี้ไม่ได้ยกเลิกแต่หากต้องเข้ามาตรา 190 ก็พร้อมจะปฏิบัติ ส่วนข้อกังวลว่าไทยจะขัดแย้งกับจีน และผลประโยชน์แอบแฝงกับอเมริกา โดยบินไปล้วงความลับประเทศอื่นๆ และทำให้เกิดสงครามในภูมิภาคนี้ ซึ่งเรื่องนี้นางฮิลลารีก็เข้าใจ และบอกว่านาซาไม่เกี่ยวกับอเมริกา และรมว.ต่างประเทศจีนบอกว่าไม่มีความเห็นในเรื่องความสัมพันธ์กับไทยและสหรัฐฯและไม่มีความกังวลกรณีให้นาซาใช้ศึกษาสภาพอากาศในประเทศไทย
นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า ยืนยันว่าสหรัฐฯ ไม่ได้บีบไทย แต่เป็นความต้องการของตนเอง เพราะเป็นโครงการที่มีประโยชน์ และก็ได้ไปชี้แจงกับอเมริกา โดยได้รับคำตอบว่านาซาเป็นองค์กรอิสระ รัฐบาลเขาไปสั่งอะไรไม่ได้ โดยเขาถามว่า ทำไมถึงมองว่านาซาเกี่ยวข้องกับความมั่นคง ซึ่งตนก็ไปชี้แจงว่าไม่เป็นความจริง เพราะผลโพลส่วนใหญ่ในไทยก็เห็นด้วยกับโครงการนี้ และอเมริกาบอกให้ตนไปเคลียร์กับรัฐสภาไทย เมื่อเราพร้อมเขาพร้อมจะมาดำเนินโครงการในไทยอย่างแน่นอน ส่วนในผลกระทบความขัดแย้งกับประเทศจีนก็ไม่มีปัญหาในเรื่องความขัดแย้ง และเขาก็เคยทำโครงการร่วมกับนาซามาแล้วถึง 2 ครั้งเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ส่วนความกังวลเมื่อนาซ่าเข้ามาแล้วจะมีการจารกรรมข้อมูลในประเทศอื่นๆ หรือไม่ ยอมรับอุปกรณ์และเครื่องบินของนาซาหากเข้ามา ไม่สามารถจารกรรมข้อมูลได้และนาซาก็ทำงานในทะเลถึงร้อยละ 90 ก็ไม่รู้จะจารกรรมอะไรในทะเล
นายตวง อันทะไชย ส.ว.กล่าวว่า รัฐบาลทำมักง่าย ทำโครงการใหม่ แต่ไม่ยอมทำรายละเอียด เอาเอกสารเก่าแผ่นเดียวมาให้สมาชิก รัฐบาลต้องกล้าให้สภาดูเอกสารรายละเอียด บทความคิดเห็น รวมถึงข้อกังวลต่างๆ ของสังคม เช่น ความมั่นคงภายในและภายนอกประเทศ หรือความสัมพันธ์ระหว่างจีน ว่าจะทำอย่างไรกับมหาอำนาจสองประเทศ ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และต้องแสดงให้เห็นว่าหากทำโครงการนี้แล้วจะมีอะไรมากกว่านี้ เช่นน้ำจะท่วม กทม.หรือไม่ และเมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการตามมาตรา 179 ประชาชนจะมีส่วนร่วมโดยตรงอย่างไรกับการตัดสินใจของรัฐบาล จะโมเมว่าสภาเห็นชอบไม่ได้ ขอดูสาระสำคัญของหนังสือเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ว่ามันคืออะไรที่ทำให้รัฐบาลต้องเอาโครงการเก่ามาทำใหม่
อย่างไรก็ตาม สมาชิกได้มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง โดยสมาชิกบางคนได้พูดถึงผลประโยชน์มหาศาลแอบแฝงที่บางกลุ่มบางคนจะได้รับจากโครงการดังกล่าว ขณะที่สมาชิกหลายคนได้แสดงความเป็นห่วงต่อปัญหาที่อาจจะกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีน ซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจและมีการถ่วงดุลอำนาจกับสหรัฐ หากไทยยอมให้นาซาเข้ามาดำเนินการก็จะทำให้ประเทศจีน เกิดความหวาดระแวงกับสหรัฐฯ และไม่พึงพอใจกับท่าทีของไทยได้ แม้นายปลอดประสพจะยืนยันว่า องค์การนาซาไม่เกี่ยวข้องกับกลาโหมสหรัฐฯ แต่ในข้อเท็จจริงที่ปรากฏหลายครั้งเห็นได้ชัดว่าไม่เป็นความจริง จึงเป็นการพูดความจริงไม่หมด
นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า มีเอกสารประชุมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยร่วมกับตัวแทนของนาซ่า คือ ดร.ฮาล มาริง (Dr.Hal Maring) เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2555 ที่กระทรวงการต่างประเทศ พบว่ามีความข้อห่วงใยจากสำนักสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ว่าสหรัฐฯ ควรทำความเข้าใจประเทศในภูมิภาคนี้โดยเฉพาะจีนกับอินเดียที่คงจะไม่ละเลยเรื่องนี้เพราะมีขอบเขตการบินไปถึงบังคลาเทศ เนปาล และ ทะเลจีนใต้ รวมทั้งสงสัยเรื่องแหล่งพลังงานในภูมิภาคนี้เพราะการสำรวจอากาศต้องใช้สหวิทยาการแต่พบว่ามีชื่อของบริษัทเชฟรอนร่วมอยู่ด้วย ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติอเมริกันที่มีสัมปทานขุดเจาะพลังงงานในไทย ปรากฏว่า ดร.ฮาลไม่ได้ตอบคำถามเหล่านี้เลย
นายถาวรกล่าวว่า เช่นเดียวกับสำนักนโยบายและแผน กระทรวงกลาโหมให้ข้อสังเกตว่าเห็นด้วยกับความเห็นของ สมช.แต่นาซ่ายังไม่ให้ความมั่นใจว่าการสำรวจดังกล่าวจะไม่เกี่ยวกับภารกิจทางทหาร อาจส่งผลทางทหารและต่อภูมิภาคได้ จึงต้องขอให้สหรัฐฯให้ความมั่นใจว่าจะไม่สร้างความหวาดระแวง นอกจากนี้ยังมีเอกสารลงวันที่ 28 ก.ค. 2554 ลงนามโดย พล.อ.บัณฑูร ติปยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน กระทรวงกลาโหม ซึ่งส่งไปยังปลัดกระทรวงกลาโหมระบุว่า ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้และทรัพยากรธรรมชาติในอ่าวไทย ซึ่งเป็นประเด็นข้อพิพาทกับประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งบริษัทน้ำมันรายใหญ่ได้เข้ามามีผลประโยชน์แทบทั้งสิ้นแม้ว่านาซ่าจะทำงานในด้านวิทยาศาสตร์แต่ในบางกรณีก็ทำงานได้ด้านรักษาความมั่นคงและความปลอดภัยของสหรัฐฯ และข้อมูลที่สำรวจได้อาจถูกนำไปใช้ในทางที่ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์เนื่องจากเป็นโครงการวิทยาศาสตร์ที่ข้อมูลส่วนใหญ่จะได้รับการเปิดเผยและนาซ่าเองก็ไม่สามารถรับรองความปลอดภัยของข้อมูลได้ว่าจะไม่มีการนำไปใช้ในทางที่ผิดจากผู้ไม่หวังดี
นายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ที่บอกว่านาซาไม่เกี่ยวข้องกับกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ นั้น ไม่จริง เกือบทุกภารกิจของนาซ่าล้วนเกี่ยวข้องกับกระทรวงกลาโหมอย่างแยกกันไม่ได้ โดยเฉพาะการส่งดาวเทียมทางทหารเข้าสู่วงโคจร แต่เพราะอะไรต้องเลือกไทย สำคัญอย่างไรในยุทธศาสตร์อาเซียน ไทยตั้งอยู่ใกล้ชายฝั่งจีน ติดทั้งฝั่งอันดามันและแปซิฟิก มิติความมั่นคงเส้นทางเดินเรือขนส่งน้ำมัน 80% ต้องขนส่งผ่านทางนี้ เราพยายามเล่นเกมถ่วงดุลมาตลอด เมื่อตอนสหรัฐฯกร่างเราก็มีจีนถ่วงดุล จีนให้ความสำคัญกับทะเลจีนใต้มากขีดเส้นเขตความมั่นคงมาจนถึงบรูไน ฟิลิปปินส์ จีนความเรือดำน้ำล่องหนที่สร้างความหวาดระแวงและหนักใจแก่สหรัฐฯมาก ดังนั้นจะคิดอะไรต้องดูมิติความมั่นคงด้วย ทั้งหมดนี้มีความหวาดระแวงระหว่างจีนกับสหรัฐฯ อยู่ ที่บอกว่าจีนไม่ระแวงนั้น จากการรายงานข่าวโดยสถานีซีซีทีวี ซึ่งเป็นสื่อรัฐบาลจีน พบว่า ผอ.ด้านองค์การอวกาศของจีนมีความกังวลต่อเรื่องนี้ ซึ่งสอดคล้องกับสื่อรัสเซียที่เห็นว่าทางการไทยไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เท่าที่ควร
ด้าน นายสุรพงษ์ยืนยันว่า ได้ออกปากถามโดยตรงกับรมว.ต่างประเทศของจีน ระหว่างหารือทวิภาคี ว่ามีข้อห่วงใยอย่างไรหรือไม่ ซึ่งพูดชัดเจนว่าจีนไม่มีความเห็นในความสัมพันธ์ปกติระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ไม่มีความกังวลหากไทยให้นาซ่าใช้อู่ตะเภาเพื่อภารกิจดังกล่าว ซึ่งมีการบันทึกการหารือไว้อย่างเป็นทางการ
ขณะที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยต่างอภิปรายสนับสนุนให้ดำเนินโครงการดังกล่าวเพราะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติแต่มีความพยายามเบี่ยงเบนให้เป็นประเด็นการเมืองทำให้ไทยสูญเสียศักยภาพการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์
การอภิปรายของสมาชิกดำเนินมาจนถึง เวลา 19.00 น. นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ได้เสนอให้รัฐบาลพักการประชุมในเรื่องนี้ และกลับไปทำเอกสารรายละเอียดมาใหม่ เพราะเอกสารเพียงหน้าเดียวมาให้รัฐสภาพิจารณาเพื่อจะนำไปทำการลงนามสัญญาโครงการสำคัญๆ ไม่ได้
ขณะที่นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. สรรหา แสดงความเห็นด้วยเพื่อความสง่างามของรัฐบาลไทย ในการจะไปทำข้อตกลงกับนาซ่าการเปิดอภิปรายทั่วไปจะได้มีความสมบูรณ์มากกว่านี้ จึงไม่น่าจะช้าเกินไปถ้ารัฐบาลจะจัดเอกสารเป็นขั้นเป็นตอน มีภาพถ่ายประกอบก็จะทำให้ผ่านไปได้อย่างสง่างาม และจะตอบคำถามสังคมได้อย่างไรถ้ามีเอกสารเพียงแผ่นเดียว
นายสุรพงษ์ ชี้แจงว่า เอกสารที่ตนแจกคือตัวอย่างให้ดู เพราะเป็นข้อตกลงเดิมแต่เมื่อไม่มีการลงนามในโครงการกับนาซ่าก็ไม่มีผลอยู่แล้วแต่ที่ต้องการหารือกับที่ประชุมเพราะต้องการสร้างความเข้าใจและเอกสารที่สภาฯเตรียมมาก็มีข้อมูลอยู่เท่านี้ ถ้าจะรับโครงการนี้ก็มีหนังสือแค่ 2 ฉบับ คือ การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันเท่านั้น
เมื่อสมาชิกทวงถามตนจึงให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้นแต่ข้อความแตกต่างกันเพราะเวลาต่างกันโครงการนี้จะเกิดหรือไม่เกิดก็ได้เป็นเพียงความพยายามจะไปคุยกับเขา ยอมรับกับทางอ้มริกาว่าเราอยากได้ ซึ่งเขาบอกว่าหากมีงบประมาณก็ให้ แต่ให้ไทยแก้ปัยหาทางการเมืองก่อนที่มีการกล่าวหาว่าจะไปสร้างความแตกแยกในภูมิภาคนี้อาทิ จีน อินเดีย และรัสเซีย และข้อหาแลกวีซ่าให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเป็นเรื่องไม่สร้างสรรค์ รัฐบาลมาขอความเห็นจะตำหนิอย่างไรก็ยอมรับฟังและหากทำอะไรจะรายงานให้ทราบเป็นระยะ
ด้านนายนิคม รองประธานรัฐสภา ประธานที่ประชุม พยายามไกล่เกลี่ยโดยวินิจฉัยว่า รัฐบาลเพียงต้องการขอคำแนะนำเท่านั้นและไม่รู่ว่านาซาจะทำหรือเปล่า แต่นายบุญยอดไม่ยินยอม โดยเสนอให้นับองค์ประชุม ขณะที่นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว. แสดงความเห็นด้วยและสภาไม่ควรพิจารณาเรื่องเลื่อนลอย
ขณะที่นายนิคมเห็นว่าไม่สามารถไกล่เกลี่ยได้ จึงแจ้งต่อที่ประชุมว่าในเมื่อรัฐบาลได้มาขอหารือตามมาตรา 179 แล้ว และสมาชิกก็ได้ให้ความเห็นกันพอสมควรแล้ว คิดว่ารัฐบาลจะนำไปใช้ประโยชน์ได้ จึงขอสั่งปิดประชุมเมื่อเวลา 19.10 น.