ไม่ว่า แกนนำ นปช. แกนนำ คนเสื้อแดง สส. พรรคเพื่อไทย นักวิชาการเสื้อแดง หนังสือพิมพ์ข่าวสด มติชน จะมีปฏิกิริยา ต่อต้าน ไม่ยอมรับ รายงานฉบับสมบูรณ์ ของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบ และค้นหาความจริง เพื่อการปรองดองแห่งชาติ ( คอป.) อย่างไร บัดนี้ รายงาน คอป. ก็ได้เกิดขึ้น และ ถูกเผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวางแล้ว ไม่เพียงแต่ในประเทศไทย แต่ยังออกไปสูชาวโลกด้วย
ปฏิกิริยาของแกนนำ นปช. และ สส. ระดับหางแถวของพรรคเพื่อไทย ที่ถูกดันให้ออกหน้า ตั้งแต่การวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ คอป. ว่าไม่เป็นกลาง หวังช่วยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ให้พ้นผิด การจัดฉากฉีกรายงานทิ้ง ความพยายามทำลายความน่าเชื่อถือ ของ คอป. ว่า อยู่ภายใต้ความครอบงำของ นายคณิต ณ นคร ประธาน คอป. หรือ มีพวกพันธมิตร ฯ อยู่ใน อนุกรรมการด้วย . ไปจนถึง ความพยายามในการปิดหูปิดตาชาวโลก ด้วยการขอให้รัฐบาล ระงับการแปลรายงานเป็นภาษาอังกฤษ และความพยายามที่จะให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งขึ้นมา แก้ไขรายงานเสียใหม่ ก็เป็นเพียง การสะท้อนถึงความหวั่นไหว หวาดกลัวต่อเนื้อหาที่ปรากฎในรายงาน ไม่ต่างอะไรจาก ปีศาจวิ่งหนี หลบซ่อนแสงไฟ ที่นำความสว่างและความอบอุ่นมาสู่มวลมนุษยชาติ
สิ่งที่พวกเขาทำได้อย่างมากที่สุด คือ การผลิต ข้อมูลขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง เพื่อตอบโต้รายงาน คอป. ซึ่งในความเป็นจริง ทำมานานแล้ว ไม่ว่า จะเป็นเรื่อง รัฐบาลสั่งฆ่าประชาชน ชายชุดดำไม่มีอยู่จริง ในวัดปทุมวนารามไม่มีอาวุธ ไม่มีชายชุดดำ ทหารเผาเซ็นทรัลเวิล์ด ฯลฯ แต่เมื่อถูกตรวจสอบจากข้อมูลอีกชุดหนึ่ง ในรายงาน คอป. กลับไม่กล้าให้ประชาชน เป็นผู้ตัดสินใจเองว่า จะเชื่อใคร
แม้ว่า คอป. ซึ่งมีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน จะได้รับการแต่งตั้ง โดยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ แต่ก็ได้รับการรับรอง และการสนับสนุนอย่างเป็นทางการจากรัฐบาล ถึงขนาดนายกฯนกแก้ว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกาศเป็นนโยบายเร่งด่วน ที่จะเริ่มดำเนินการในปีแรก ในการแถลงนโยบายสำคัญต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2555 ข้อ 1.1.3 ว่า
"สนับสนุนให้คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ดำเนินการอย่างเป็นอิสระและได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายอย่างเต็มที่ในการตรวจสอบและ?ค้นหาความจริงจากกรณีความรุนแรงทางการเมือง การละเมิดสิทธิมนุษยชน การสูญเสียชีวิต บาดเจ็บทางร่างกายและจิตใจ รวมทั้งความเสียหายทางทรัพย์สิน"
ไม่เพียงแต่จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลของคนเสื้อแดง คอป. ยังได้รับความสนใจ และการยอมรับจากรัฐบาลของประเทศต่างๆ และองค์กรระหว่างประเทศ จะเห็นได้จาก การติดต่อขอเข้าพบเพื่อสอบถามการดำเนินงาน และความคืบหน้า ของผู้นำ และผู้แทนของรัฐบาลต่างประเทศ และองค์กรสากล ทั้งอดีตเลขาธิการสหประชาชาติ นายโคฟี่ อันนัน นาย Martti Ahtisaari อดีตประธานาธิบดีฟินแลนด์ ผู้แทนของกาชาดสากล ฑูต และผู้แทนฑูตของประเทศต่างๆ รวมทั้ง การให้คำแนะนำ ความช่วยเหลือ การฝึกอบรม ในการค้นหาความจริง ของหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชายจากต่างประเทศ ซึ่งรายละเอียดปรากฎอยู่ในรายงาน คอป. ข้อ 1.3.2 เรื่อง ความร่วมมือจากหน่วยงานต่างประเทศ
หลัง คอป. แถลงผลสรุปการค้นหาความจริง ไม่ถึง 48 ชั่วโมง จึงมีแถลงการณ์จากนางนาวี พิลเลย์ ข้าหลวงใหญ่ ด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ชื่นชมการทำงานของ คอป. และแนะนำให้ รัฐบาลไทยปฏิบัติตามคำแนะนำของคอป. รวมทั้ง เตือนให้รัฐบาลเก็บพยานหลักฐานที่ได้รวบรวมไว้ โดย คอป. เพราะจะเป็นสิ่งสำคัญในการตามหาผู้กระทำผิดต่อไป
การที่ นายเหวง โตจิรการ หนึ่งในแกนนำ นปช. ซึ่งเคยร่วมกับ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ต่อต้านทักษิณมาก่อน เสนอให้รัฐบาลระงับการแปลรายงาน คอป. เป็นภาษาอังกฤษ เพื่อไม่ให้ชาวโลกรู้ว่า ในกลุ่มผู้ชุมนุมมีชายชุดดำติดอาวุธ อยู่ด้วย เป็นความคิดล้าหลัง ย้อนไปถึงยุคที่นายเหวงยังอยู่กับ พรรคคอมมิวนิสต์ในป่า เพราะต่างประเทศ โดยเฉพาะองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ติดตามการทำงานของ คอป. มาอย่างต่อเนื่อง และรับรู้ข้อสรุปของคอป . แล้ว
รายงาน คอป ฉบับนี้ ซึ่งมีความยาว ไม่รวมภาคผนวก ประมาณ 270 หน้า เป็นบันทึกเหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 จนถึงเหตุกาณ์ความรุนแรงเมื่อ เดือนเมษายน - พฤษภาคม 2553 โดยเริ่มตั้งแต่ คดีซุกหุ้น ของ พ.ต.ท ทักษิณ ชินวัตร เมื่อ พ.ศ. 2544 ที่ คอป. เห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญ มิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักแห่งกฎหมาย จึงกลายเป็นปัญหารากเหง้า และปมปัญหาความขัดแย้งในระยะต่อมา
รายงาน คอป. บันทึก สถานการณ์ทางการเมือง ก่อนการยึดอำนาจ 19 กันยายน 2549 อย่างครบถ้วน โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และเหตุการณ์หลัง การรัฐประหาร กับ การเกิดขึ้นของ นปช.
เหตุการณ์ความรุนแรงเดือนเมษายน 2552 ต่อเนื่องมาจนถึงเดือนพฤษภาคม 2553 ได้รับการบันทึกอย่างละเอียด วันต่อวัน ว่า เกิดอะไรขึ้น มีใครเข้าไปเกี่ยวข้อง ทำอะไร ทำอย่างไร และยังมีการแยกเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเฉพาะจุด 10 เหตุการณ์ ในช่วงเดือนเมษายน - พฤษภาคม 2553 ออกมาต่างหาก เพราะมีรายละเอียดมาก เช่น เหตุการณ์ ที่สถานีไทยคม เหตุการณ์ ที่สี่แยกคอกวัว หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา การเสียชีวิตของ เสธฯ แดง การบุกโรงพยาบาลจุฬาฯลฯ พร้อมภาพประกอบ
รายงาน คอป. ยังรวบรวมการปราศรัยของแกนนำ นปช. ที่ยั่วยุ ส่งเสริมให้เกิดความรุนแรง เช่น คำปราศรัยของ น า ย ณัฐ วุฒิ ใ ส ย เ กื้อ ที่เขาสอยดาว จังหวัดจันทบุรี ว่า “ถ้าพวกคุณยึดอานาจ พวกผมเผาทั่วประเทศ เผาไปเลยพี่น้อง ผม รับผิดชอบเอง แล้วใครจะจับใครจะอะไรมาเอากับผม ถ้าคุณยึดอานาจ เราเผา”
คำปราศรัย เรื่อง แก้วสามประการ ของพล .ต.ขัตติย ะ ส วัส ดิผ ล คำปราศรัยผ่านวิดิโอลิงค์ ขอ งพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร มายังที่ชุมนุม สะพานผ่านฟ้าว่า “ ผมอยากฝากบอกคนเสื้อแดงทั่วประเทศ อีกครั้งหนึ่งว่า ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นรุนแรงกับพี่น้องคนเสื้อแดงที่กรุงเทพฯ พี่น้องเสื้อแดงต่างจังหวัดไปที่ศาลากลางกันให้เต็มที่" ฯลฯ
การรายงานสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างละเอียด อ้างอิงที่มาของข้อมูลได้เช่นนี้ ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ ด้วยวิธีการทำงานแบบสุกเอาเผากิน สักแต่ว่า ให้เสร็จงาน ดังเช่น การจัดทำ รายงานเกี่ยวกับการเสียชีวิต 98 ศพของ ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.-พ.ค. 53 (ศปช.) ที่จัดทำขึ้นโดย นักวิชาการเสื้อแดง ซึ่งอ้างว่าไม่มีงบประมาณ จ้างคน เป็นเหตุผลของการทำงานแบบ นักศึกษาทำรายงานส่งอาจารย์ เพื่อเอาคะแนน
คอป. ได้ แต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบและค้นหาความจริงเฉพาะกรณี จำนวน 5 คณะ โดยมีกระบวนการตรวจสอบและค้นหาความจริง ประกอบด้วย 1. การกำหนดกลุ่มเป้าหมายในการเก็บข้อมูล ซึ่งครอบคลุมทั้งฝ่ายรัฐบาล . ศอฉ นปช. ผู้สื่อข่าว บุคลากรทางการแพทย์ ตำรวจ และเหยื่อของความรุนแรง 2 . การสัมภาษณ์บุคคลเชิงลึก การเชิญบุคคลเข้ามาให้ข้อมูล หรือส่งมอบข้อมูลพยานหลักฐาน จำนวนกว่า 450 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้แทนหน่วยงานรัฐ 160 หน่วยงาน 3. การประชุมตรวจสอบข้อเท็จจริง (Inquire Hearing) ร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง 12 ครั้ง 4. การประชุม กลุ่มย่อย (Focus Group Meeting)จำนวน 7 เรื่อง โดยเชิญนักวิชาการ ผู้เชียวชาญทั้งชาวไทยและต่างประเทศ และผู้ที่เกี่ยวข้องมาเข้าร่วมประชุม ในประเด็นต่างๆ 5. การค้นหาข้อเท็จจริง ข้อมูล และพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ 6. การสัมภาษณ์หรือเชิญผู้เชี่ยวชาญเข้ามาให้ข้อมูล การสารวจและบันทึกคำบอกเล่า (Statement Taking) ของผู้ตกเป็นเหยื่อและผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบและความรุนแรงในประเทศไทยระหว่าง เดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ๒๕๕๓ ด้วยการสัมภาษณ์โดยใช้แบบสอบถาม ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ได้แก่ ญาติผู้เสียชีวิต ผู้ได้รับบาดเจ็บ ผู้ที่ถูกดำเนินคดี ผู้ที่ทรัพย์สินเสียหาย ผู้ประกอบการในพื้นที่ที่มีการชุมนุม เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในสถานที่ชุมนุม 1,643 คน และ 6. การตรวจสอบข้อมูลเอกสาร หลักฐานต่างๆ จากบุคคล หน่วยงานราชการ องค์กรเอกชน ตลอดจนข้อมูลสารสนเทศที่เผยแพร่ตามสื่อต่าง ๆ
รายงาน คอป. ฉบับนี้ ไม่มีทางที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ตามเจตนารมณ์ของการตั้ง คอป. เพราะ ผู้ที่จะต้องรับข้อเสนอของ คอป. ไปปฎิบัติ คือ รัฐบาลของ ซึ่งไม่มีวัน ที่จะยอมรับข้อสรุปของ คอป. ในส่วนที่เกี่ยวกับ บทบาทของ ทักษิณ ชายชุดดำ และ แกนนำ นปช. แต่ รายงาน คอป. ฉบับนี้ ก็มีคุณค่า ในฐานะบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง ที่พิสูจน์ความน่าเชื่อถือ ได้จากการเปิดเผยกระบวนการทำงานว่าทำกันอย่างไร และสถานะของ คณะกรรมการที่ได้รับการรับรองจากรัฐบาลเอง เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ไม่อาจทำลาย ลบล้างได้ เป็นหลักฐานที่จะบอกคนรุ่นหลังว่า เมื่อปี 2553 ใครสั่งฆ่าประชาชน ใครจุดไฟเผาบ้านเผาเมือง