วุฒิฯฟังแถลงปิดคดีถอดถอน “เทพเทือก” ผิด รธน.ม.266 (1) แทรกแซงการทำงานข้าราชการประจำ “กล้านรงค์” ยันผิดชัด ข้อโต้แย้งฟังไม่ขึ้น ขณะที่ เจ้าตัวยันไม่ได้สร้างความเสียหายหน่วยงานรัฐ วอน ส.ว.พิจารณาคำวินิจฉัยศาล รธน.เกี่ยวกับเจตนารมณ์ ม.266 เพื่อคงความศักดิ์สิทธิ์ ด้านวุฒิสภานัดชี้ชะตาพรุ่งนี้
ที่รัฐสภา วันนี้ (17 ก.ย.) มีการประชุมวุฒิสภา มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณากระบวนการถอดถอน นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดกรณีการแทรกแซงการปฏิบัติราชการกระทรวงวัฒนธรรม สมัยเป็นรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งจะส่งผลให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง ส.ส.เว้นวรรคการเมือง ปี ซึ่งวันนี้เป็นการแถลงคำปิดคดีด้วยวาจาของ ป.ป.ช.ฝ่ายผู้ร้อง และนายสุเทพฝ่ายผู้ถูกร้อง
โดย นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการ ป.ป.ช.แถลงปิดคดีโดยยืนยันว่า ป.ป.ช.มีอำนาจพิจารณาคดีของนายสุเทพได้ แม้จะมีองค์กรอื่นพิจารณาและวินิจฉัยออกมาแล้ว ยืนยันว่านายสุเทพได้ใช้อำนาจขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 266 (1) ข้ออ้างที่ว่าได้รับหนังสือดังกล่าวคืนก่อนที่ รมว.วัฒนธรรมจะเห็นหนังสือ ก็เป็นเรื่องที่รู้กันเพียง 2 คน แต่ตามเอกสารที่สำนักงานเลขาธิการนายกฯให้ไว้กับ ป.ป.ช. พบการบันทึกที่โต้แย้งกัน โดย รมว.วัฒนธรรมแจ้งว่าไม่ประสงค์จะรับ ส.ส.ไว้ช่วยงาน เพราะเกรงว่ามีปัญหา นอกจากนี้คำชี้แจงของ ส.ส.ทั้ง 19 คนยืนยันว่าไม่ทราบว่ามีรายชื่อไปปรากฏได้อย่างไร ไม่เคยแสดงความจำนง เพราะไม่ใช่นโยบายพรรค
นายกล้านรงค์กล่าวว่า ตามความเห็นของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี พยานฝ่ายผู้ถูกร้อง ที่ให้ถ้อยคำกับ ป.ป.ช. ใช้คำว่า “ไม่น่าจะขัด” ซึ่งหมายความว่าไม่ยืนยัน และเรื่องนี้เป็นความเห็นเชิงวิชาการ ป.ป.ช.จะรับฟังหรือไม่ก็ได้
ส่วนประเด็นที่ยกคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมากล่าวอ้างนั้น เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ตรงกัน ดังนั้นจึงไม่มีผลผูกพันใดๆ อย่างไรก็ตาม ในนามตัวแทน ป.ป.ช.ยืนยันว่าได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ไม่มีสี ทั้งนี้ตนจะไม่เสียใจหากผลการตัดสินออกมาเป็นตรงกันข้าม
ด้านนายสุเทพแถลงยืนยันในเจตนาที่บริสุทธิ์ และในรายงานของ ป.ป.ช.ที่เสนอต่อวุฒิสภาไม่ได้ยืนยันว่าเป็นการกระทำทุจริตหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าการกระทำของตนได้สร้างความเสียหายให้กับรัฐอย่างไร ดังนั้นจึงควรดูที่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 266 (1) ที่ต้องการห้าม ส.ส., ส.ว. ไปแทรกแซงก้าวก่ายหน้าที่ของข้าราชการประจำ และความเห็นนายบวรศักดิ์ก็ระบุว่าไม่ถือว่าเป็นการก้าวก่ายแทรกแซง และความเห็นของนายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พยานอีกคนให้ความเห็นว่า สิ่งที่ตนทำไม่ถือว่าขัดรัฐธรรมนูญ เป็นการช่วยงาน ไม่ได้แทรกแซงการทำงานข้าราชการประจำ หรือได้ค่าตอบแทนประโยชน์อื่นใด ไม่ว่าสถานะเหมือนหรือต่างกัน การตีความหรือใช้กฎหมายน่าจะต้องเป็นหลักเป็นบรรทัดฐานเดียวกันทุกสถานการณ์
“ผมหวังให้ ส.ว.พิจารณาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ให้เป็นตามเจตนารมณ์ที่พูดถึงบทบาทหน้าที่ของ ส.ส. และผลประโยชน์ขัดกันหรือไม่ คิดว่า ส.ว.จะพิจารณาลึกถึงความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญที่องค์กรอื่นต้องยึดถือเพื่อคงความศักดิ์สิทธิ์เอาไว้ อย่างไรก็ตามไม่ว่าประเด็นนี้จะออกมาอย่างไร ผมเคารพดุลพินิจของ ส.ว.”
ภายหลังการแถลงปิดคดีด้วยวาจาของสองฝ่าย นายสุรชัยได้แจ้งที่ประชุมว่าขอนัดให้มีการลงมติเพื่อถอดถอนหรือไม่ถอดถอนนายสุเทพ ในวันที่ 18 ก.ย. เวลา 11.00 น. ขอความร่วมมือให้ ส.ว. มาประชุมตรงเวลา