xs
xsm
sm
md
lg

แค่ส.ส.อยากช่วยงาน “เทือก”อ้างสู้คดีถอดถอน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การประชุมวุฒิสภา วานนี้ (11 ก.ย.) เริ่มในเวลา 11.00 น. โดยเป็นการพิจารณาเรื่องด่วนเพื่อดำเนินกระบวนการถอดถอนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 273 กรณีแทรกแซงการทำงานของกระทรวงวัฒนธรรม เนื่องจากทำหนังสือส่งตัว ส.ส.และบุคคลอื่นเข้าช่วยงานในกระทรวงวัฒนธรรม โดยที่ประชุมวุฒิสภาจะเปิดโอกาสให้คณะกรรมาธิการที่ตั้งขึ้น 5 คน ซักถามประเด็นต่างๆ เพิ่มเติม ต่อจากเมื่อวันที่ 7 กันยายน ที่ผ่านมา ซึ่งมีการซักถามไปแล้ว และเป็นการประชุมลับ
ทั้งนี้ วุฒิสภาได้นัดให้ทั้งสองฝ่าย ประกอบด้วย ผู้ร้อง คือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และผู้ถูกร้อง คือนายสุเทพ ส่งคำแถลงปิดสำนวนเป็นลายลักษณ์อักษร ภายในวันที่ 13 กันยายนนี้ หากต้องการแถลงด้วยวาจา จะให้แถลงในวันที่ 17 กันยายน และจะนัดลงมติถอดถอน หรือไม่ถอดถอน ในวันที่ 18 กันยายน

**ถาม ปปช.-สุเทพ ลงมติ 18 ก.ย.
ขณะที่การประชุมวุฒิสภา มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา เป็นประธาน เพื่อพิจารณาสำนวนการถอดถอนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งวันนี้เป็นการประชุมเพื่อซักถามตามญัตติที่คณะกรรมาธิการซักถาม 8 คน รวบรวมประเด็นการซักถามจากส.ว. รวม 6 ญัตติ เพื่อซักถามคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต(ป.ป.ช.) ในฐานะผู้กล่าวหา 12 คำถาม และนายสุเทพผู้ถูกกล่าวหา 11 คำถาม
โดยกรรมาธิการซักถามได้ซักถาม นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการป.ป.ช. ว่ามีการนำผลการวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ที่ให้ยกคำร้องกรณีดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาประกอบด้วยหรือไม่ รวมถึงคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ให้ยกคำร้องกรณีพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธานศปภ. ที่มีคำสั่งแต่งตั้งส.ส.พรรคเพื่อไทยมาช่วยงานศปภ. จะมีผลผูกพันต่อป.ป.ช.หรือไม่ และคำว่ามีเจตนาพิเศษที่อยู่ในสำนวนของป.ป.ช.ถือว่ามีความผิดหรือไม่ และในเมื่อชี้มูลความผิดแล้วทำไมไม่ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดดำเนินการส่งเรื่องให้ศาลเพื่อดำเนินคดีอาญาด้วย
นายกล้านรงค์ชี้แจงว่า แม้กกต.จะเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ แต่ไม่มีกฎหมายใดบังคับว่าป.ป.ช.ต้องวินิจฉัยในแนวทางเดียวกับกกต. ป.ป.ช.มีอำนาจตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายโดยอิสระ และเห็นว่าการกระทำของนายสุเทพขัดต่อรัฐธรรมนูญ ส่วนการหยิบยกคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมาต่อสู้ภายหลังป.ป.ช.มีมติชี้มูลไปแล้วนั้น ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำตัดสินได้ เพราะกรณีของพล.ต.อ.ประชา ศาลรัฐธรรมนูญระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นกรณีมหาอุทกภัยร้ายแรง ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ที่คนทุกหมู่เหล่าต้องช่วยกัน แต่กรณีนายสุเทพเป็นคนละกรณีกัน เพราะเป็นการเข้าไปแทรกแซงการทำหน้าที่ของข้าราชการ จึงยังยืนยันว่าถึงจะให้พิจารณาอีกครั้งป.ป.ช.ก็จะชี้มูลความผิดเพื่อส่งให้วุฒิสภาดำเนินการถอดถอน และยืนยันว่าการกระทำของนายสุเทพเป็นการแทรกแซงข้าราชการจริง เนื่องจากส.ส.ยังสามารถช่วยงานด้วยวิธีอื่นได้ อาทิ การตั้งญัตติหรือกระทู้ถามในสภา ส่วนประเด็นว่ามีเจตนาพิเศษนั้น ยืนยันว่ากระบวนการถอดถอนกับการดำเนินคดีทางอาญา มีลักษณะแตกต่างกัน การถอดถอนจะใช้คำว่า “ส่อกระทำผิด” แค่นี้ก็สามารถถอดถอนได้แล้ว ไม่จำเป็นต้อง“ชี้มูลความผิด” อย่างในคดีอาญา และกรณีนี้ป.ป.ช.เห็นว่าไม่จำเป็นต้องส่งดำเนินคดีทางอาญา
จากนั้นกรรมาธิการซักถามได้ถามนายสุเทพถึง มูลเหตุจูงใจในการส่งส.ส.ไปช่วยงานกระทรวงวัฒนธรรม มีการสั่งการ หรือบังคับให้รัฐมนตรีต้องปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ และในฐานะรองนายกฯมีอำนาจหน้าที่ใดเกี่ยวข้องกับกระทรวงวัฒนธรรม และนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ17/2555 ของ พล.ต.อ.ประชา มาประกอบการต่อสู้คดีหรือไม่
นายสุเทพชี้แจงว่า ไม่มีเจตนาฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ 266(1) และตัวเองไมได้ส่งส.ส.ไป แต่เป็นส.ส.ที่เสนอตัวอยากไปช่วยประสานงานของกระทรวง โดยไม่รับค่าตอบแทน ไม่มีการแทรกแซงอะไร หรือ มีห้องทำงาน โดยขึ้นอยู่กับดุลพินิจของรัฐมนตรีว่าจะเอาไปช่วยงานเรื่องอะไร ไม่ได้ไปกดดันหรือสั่งการอะไร ไม่มีเรื่องผลประโยชน์ ตอนที่ทำหนังสือก็ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจว่าไม่ได้ทำผิดกฎหมาย และภายหลังเมื่อมีคนท้วงติงว่าจะมีปัญหาข้อกฎหมาย ตนก็ส่งคนไปรับหนังสือคืน และจนถึงขณะนี้ส.ส.ทั้ง 19 คน ไม่เคยเข้าไปทำงานในกระทรวงฯแต่อย่างใด
ทั้งนี้ป.ป.ช.เคยเชิญนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตสนช.และนักวิชาการกฎหมายมาตีความมาตรา 266 (1) ก็ยืนยันว่าการกระทำของตนไม่ได้เป็นการก้าวก่าย แทรกแซง และสิ่งที่ตนทำไปสอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา และคำวินิจฉัยของกกต.ก็วินิจฉัยว่าตนเองไม่ได้ไปแทรกแซงงานของข้าราชการแต่อย่างใด และยืนยันว่าศาลรัฐธรรมนูญ 17/2555 เคยวินิจฉัยมาตรา 266(1) ว่าส.ส.สามารถช่วยเหลือความเดือดร้อนแก่ประชาชนได้หรือนำความเดือดร้อนให้รัฐบาลรับทราบ ดังนั้นกรณีที่ป.ป.ช. ระบุว่า ส.ส.มีหน้าที่เสนอญัตติ หรือ ตั้งกระทู้ถาม เท่านั้น ตนเห็นว่าไม่สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ผูกพันทุกองค์กร และตัวเองก็ไม่ได้รับความยุติธรรมเพราะป.ป.ช.ได้วินิจฉัยในมาตรฐานที่แตกต่างออกไป
หลังจากคณะกรรมาธิการฯได้ซักถามเป็นที่เรียบร้อย นายสุรชัย ได้แจ้งว่า ป.ป.ช. และนายสุเทพ ได้ยืนยันแถลงปิดสำนวนด้วยวาจาในวันที่ 17 ก.ย.ดังนั้นจะมีการนัดประนัดประชุมวุฒิฯในวันดังกล่าว ก่อนลงมติถอดถอนหรือไม่ถอดถอนในวันที่ 18 ก.ย. นี้

**"วันชัย"เชื่อใช้เหตุผลมากกว่าล็อบบี้
นายวันชัย สอนศิริ ส.ว.สรรหา หนึ่งในกรรมาธิการซักถามคดีถอดถอนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ไม่สามารถเปิดเผยคำถามในการซักถามนายสุเทพ เพราะเป็นความลับ หากมีการเปิดเผยอาจถูกถอดถอนจากการเป็น ส.ว.ได้ และคำถามในวันนี้เสร็จเรียบร้อยและพร้อมถามในเวลา 14.00 น.
ส่วนเรื่องการล็อบบี้ ส.ว.ในการลงคะแนนนั้น ไม่มีใครติดต่อตนเองเข้ามา และไม่ทราบว่ามีการติดต่อใครบ้าง แต่ส่วนตัวเชื่อว่าสมาชิกจะเอาเหตุผลเข้าพิจารณามากกว่าการล็อบบี้เป็นตัวตั้ง
ขณะที่การแถลงปิดคดีในวันที่ 17 กันยายน เชื่อว่าทางสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และนายสุเทพ จะแถลงปิดคดีด้วยเอกสารพร้อมวาจา และจะลงมติในวันที่ 18 กันยายนนี้ ซึ่งจะต้องได้เสียง 89 เสียง ในการถอดถอน พร้อมทั้งยังเป็นการลงมติลับ
นายวันชัย กล่าวด้วยว่า แม้ว่านายสุเทพ จะออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่การพิจารณาถอดถอนถือเป็นการลงโทษทางการเมือง ซึ่งมีผลต้องเว้นวรรคถึง 5 ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น