xs
xsm
sm
md
lg

“วสันต์” รับศาล รธน.วินิจฉัยคดี “สมัคร” สุกเอาเผากิน!! ทำคนเข้าใจผิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ (แฟ้มภาพ)
เสวนาศาลรัฐธรรมนูญ รองอธิการบดีธรรมศาสตร์ ชี้ศาลตกที่นั่งลำบาก เหตุชาวบ้านไม่เคารพกติกา ไม่ยอมรับอำนาจ แนะทำความเข้าใจประชาชน “ประสงค์” ชี้คำวินิจฉัย “สมัคร” ทำชาวบ้านสับสน “วสันต์” รับประชาชนไม่เข้าใจโวหารยาก จึงต้องตั้งโฆษกช่วยแจง เผยคดีอดีตนายกฯ ชิมไปบ่นไป ตัวอย่างพิพากษาแบบ “สุกเอาเผากิน” ใช้ไม่ได้ เหตุนำข้อกฎหมายขึ้นพิจารณาก่อนแทนข้อเท็จจริง สุดท้ายคนเข้าใจผิด แต่ยันแก้ไขแนวทางแล้ว

วันนี้ (15 มี.ค.) ที่ จ.เพชรบุรี การเสวนาศาลรัฐธรรมนูญ เรื่อง “การรักษาดุลยภาพทางการเมืองของศาลรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย” นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญกำลังตกที่นั่งลำบากเพราะขณะนี้สถานการณ์ทางการเมืองไม่ปกติ ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการไม่เคารพกติกา และไม่ยอมรับการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในการรักษาดุลยภาพระหว่างสถาบันทางการเมืองกับองค์กร, กลุ่มการเมือง หรือกลุ่มมวลชนของพรรคการเมือง สิ่งที่ดีที่สุดที่สามารถทำได้ คือ การทำความเข้าใจกับประชาชน โดยอาศัยกลไกของสื่อและกลไกของสถาบันทางการเมืองอื่นที่ยึดโยงกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ หน่วยงานด้านความมั่นคง และสถาบันการศึกษา มาช่วยกันทำความเข้าใจกับกลุ่มการเมืองหรือกลุ่มมวลชน

ด้านนายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา เห็นว่า ที่ผ่านมาประชาชนยังคงสับสนและบางครั้งก็มีการต่อต้านการทำหน้าที่ของศาล อาทิ คำวินิจฉัยที่ให้นายสมัคร สุนทรเวช พ้นจากการเป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีการอ้างถึงพจนานุกรม

ขณะที่นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ปัญหาการยอมรับของกลุ่มการเมืองหรือกลุ่มมวลชนส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ประชาชนไม่เข้าใจคำวินิจฉัย เพราะมีการใช้สำนวนโวหารที่เข้าใจยาก เป็นการนำถ้อยคำและรูปแบบของศาลยุติธรรมมาใช้ ซึ่งจำเป็นต้องตั้งทีมโฆษกมาช่วยอธิบายความและสื่อสารกับประชาชน

“บางครั้งคำวินิจฉัยของศาลก็เป็นแบบ “สุกเอาเผากิน” อย่างกรณีการทำอาหารของนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี คำวินิจฉัยที่ออกมาเป็นคำวินิจฉัยที่ใช้ไม่ได้ เพราะโดยหลักการแล้วต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงให้ได้ข้อยุติก่อนว่ามีการรับเงินจริงหรือไม่ และเข้าข่ายเป็นลูกจ้างหรือพนักงานหรือไม่ แต่ในกรณีนั้นกลับนำข้อกฎหมายขึ้นมาพิจารณาก่อน พอประชุมลงมติเสร็จก็พยายามแถลงคำวินิจฉัยกลางให้ได้ในบ่ายวันนั้น สุดท้ายแล้วคนก็เข้าใจแค่ว่าทำกับข้าวแล้วผิดกฎหมาย ซึ่งตุลาการแต่ละคนเห็นข้อบกพร่องที่เกิดขึ้น และพยายามแก้ไขด้วยการพิจารณาก่อนว่าในคำร้องนั้นๆ มีแนวทางวินิจฉัยกี่แนวทาง แล้วก็เขียนคำวินิจฉัยกลางแต่ละแนวทางขึ้นมาเป็นตุ๊กตาเอาไว้ก่อน จากนั้นตุลาการแต่ละคนจะไปอ่านสำนวนแล้วเขียนคำวินิจฉัยส่วนตนมาเสนอในที่ประชุมตุลาการเพื่อลงมติ มติออกมาตรงกับแนวทางใดก็นำคำวินิจฉัยกลางในแนวทางนั้นมาปรับปรุงถ้อยคำแล้วแถลงต่อสาธารณชน” ประธานศาลรัฐธรรมนูญกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น