ราชดำเนินเสวนา ทางออกวิกฤตนิรโทษกรรม ส.ว.กทม.จวกผลักภาระให้วุฒิฯ ทำ 310 ส.ส.ลอยตัว เตือนถอยแค่ยุทธวิธี ถามให้ “เหลิม” คุม ตร.ระดมแดงเข้ากรุงเตรียมเผชิญหน้าหรือไม่ คปก.ชี้เหมือนยินยอมฆ่าได้โดยถูก กม. แถมปล่อยอาชญากร ศก. แนะเรียก ส.ส.ลงสัตยาบันไม่เอาเข้าอีก “แม่เกด” ลั่นไม่ขอเดินตามหลังคนทรยศ ปชช. “นิชา” ชี้ก่อนทำต้องหาความจริงก่อน ปธ.ศาลอุทธรณ์ภาค 9 เซ็งไม่เห็นสำนึกนักการเมือง รองอธิการบดี มธ.ซัดออก กม.ห่วยมาก สับฝ่ายการเมืองไม่รับผิดชอบ แนะยุบสภาหรือนายกฯ ลาออก
วันนี้ (9 พ.ย.) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดงานราชดำเนินเสวนา ในหัวข้อ “ทางออกวิกฤต พ.ร.บ.นิรโทษกรรม กับแนวโน้มการเมืองไทย?” โดยผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมาย นายทวี ประจวบลาภ ประธานศาลอุทธรณ์ ภาค 9 น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพฯ นางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม และนางพะเยาว์ อัคฮาค ญาติผู้เสียหายจากเหตุการณ์ทางการเมือง เม.ย.-พ.ค. 53
น.ส.รสนาระบุว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ส่งสัญญาณครั้งเดียว ส.ส.ก็ถอนร่าง แต่เป็นเพียงถอดยางอะไหล่ ส่วน พ.ร.บ.สุดซอยยังเดินหน้าต่อไปได้ จึงไม่มีประโยชน์ และจากการลุกขึ้นมาคัดค้านของประชาชนเป็นจำนวนมาก ซึ่งรัฐบาลเข้าใจผิดคิดว่าเป็นเกมของฝ่ายค้าน แต่ความจริงแล้วนั่นเป็นนิมิตหมายใหม่ จนการเมืองถอยกรูดแต่ไม่สุดซอยจริง รัฐบาลกำลังผลักภาระให้ ส.ว. เพราะจากการที่ประธานวุฒิสภาเร่งรัดให้มีการพิจารณากฎหมายฉบับดังกล่าวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เพื่อจะได้หาความชอบธรรมในการสลายชุมนุมในวันเสาร์และอาทิตย์นี้ ซึ่งส่วนตัวมองว่าการกระทำของนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา เป็นเหมือนการรับจ๊อบมาทำงานเพื่อโยนความรับผิดชอบให้วุฒิสภา ดังนั้น อย่าเอาประชาชนที่ต้องการนิรโทษกรรมมาเป็นเครื่องบังหน้า การถอยจึงเป็นแค่ยุทธวิธี เพราะยังมีการขึ้นป้ายสนับสนุน พ.ร.บ.อัปยศนี้อยู่ ดังนั้นอย่าโยนความผิดให้ ส.ว.กลุ่มหนึ่ง แล้ว ส.ส.310 เสียง ไม่ต้องรับโทษหรือลอยตัวหนีปัญหาหมด
ส.ว.กรุงเทพฯ กล่าวต่อว่า ทางออกคือให้ตีความว่าเป็นกฎหมายการเงินให้นายกฯ ลงนาม ถ้าไม่ลงนามกฎหมายก็ตกไป ขณะนี้ทราบข่าวว่ามีการเปลี่ยนให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง มาคุมตำรวจแทน พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก เพื่อเตรียมปราบผู้ชุมนุม อีกด้านหนึ่งก็ระดมเสื้อแดงเข้ากรุงเทพฯ เตรียมพร้อมเผชิญหน้าหรือไม่ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ ส.ว.ไม่เข้าประชุมวันที่ 8 พ.ย. เพราะไม่อยากมองเป็นสภาทาส และเป็นเครื่องมือให้ตำรวจปราบปรามประชาชน
นายไพโรจน์กล่าวว่า ในทางสิทธิมนุษยชนมองว่าการนิรโทษกรรมเป็นการยินยอมให้มีการฆ่าคนได้โดยถูกกฎหมาย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่อันตรายมาก เป็นการสร้างวัฒนธรมที่ไม่ถูกต้องให้แก่สังคม และการนิรโทษผู้ก่ออาชญากรรมทางเศรษฐกิจก็ไม่มีที่ไหนในโลกทำกัน ดังนั้นยิ่งร้ายแรงเข้าไปใหญ่ ขณะที่ผู้ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ก็ไม่ควรได้รับการนิรโทษกรรม
“นี่เป็นครั้งแรกที่มหาชนออกมาคัดค้านเสียงข้างมาก ตรวจสอบเสียงข้างมากในสภาที่ออกเสียงโดยไม่ชอบ เพราะที่ผ่านมาสังคมไม่เคยตรวจสอบเสียงข้างมากได้เลย การนิรโทษกรรมเฉพาะหน้า กระบวนการยุติธรรมปกติเยียวยาได้ตั้งแต่ต้น แต่กลับไม่เดินหน้า ไม่รู้สึกรู้สากับคดีเหล่านี้ ยิ่งไปซ้ำเติมความขัดแย้งให้เพิ่มมากขึ้น สำหรับทางออก รัฐบาลต้องให้ ส.ส.มาลงสัตยาบันไม่เสนอกฎหมายในลักษณะนี้เข้ามาอีก หรือจะไปแก้ข้อบังคับสภาให้กฎหมายตกไปก่อน 180 วัน หรือนำเอาร่างของภาคประชาชนที่นิรโทษให้เฉพาะประชาชน แต่รัฐบาลคิดที่จะเอาประชาชนมาต่อสู้ในสนามจะนำพาสังคมไทยไปสู่การเผชิญหน้า” นายไพโรจน์กล่าว
นางพะเยาว์ระบุว่า ประชาชนไม่โง่ตามรัฐบาลที่จะยอมรับกฎหมายเหมาเข่ง จึงอยากฝากรัฐบาลตอนนี้ประชาชนออกมาอยู่บนถนนจำนวนมาก ห่วงว่าจะนำไปสู่ภาพที่เคยเกิดเมื่อปี 2553 ถ้ารัฐบาลเพื่อไทยเป็นประชาธิปไตยจริงก็ต้องถอย และฟังเสียงประชาชน เพราะที่ทำมาเป็นเผด็จการเสียงข้างมาก ส่วนกรรมาธิการผู้แปรญัตติ และ ส.ส.ทั้งหมดต้องออกมาขอโทษที่ดูถูกประชาชน ส่วนตัวจะไม่เดินตามหลังคนที่ทรยศประชาชน
นางนิชากล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่จบเกมนิรโทษกรรม เพราะกฎหมายนิรโทษกรรมจะยุติคดีในชั้นพิสูจน์ความจริงทั้งหมด ไม่เช่นนั้นทหารจะเป็นคนผิดตลอดไปทั้งที่ทหารต้องการพิสูจน์ความจริง
“คดีของ พล.อ.ร่มเกล้า ตอนนี้คดีไม่คืบหน้า แต่ดีเอสไอกลับทำแต่คดีการตายของประชาชน 24 คดี โดยเฉพาะธาริต หมดความชอบธรรมที่จะทำหน้าที่อธิบดีดีเอสไอ เพราะยอมรับนิรโทษกรรมสุดซอยโดยยอมรับว่าตัวเองมีส่วนได้เสียเพราะถูกฟ้อง จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนตัวหัวหน้าพนักงานสอบสวนผู้นี้ และก่อนจะนิรโทษกรรมต้องเริ่มหาความจริงก่อน ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องยอมรับว่าสิ่งที่ทำไปเมื่อปี 2553 นั้นเป็นความผิด” นางนิชากล่าว
นายทวีระบุว่า การที่กฎหมายจะตกไปได้ ก็คือวันที่ 11 พ.ย.นี้ วุฒิสภาต้องทำให้จบ ถ้าจะให้เร็วรัฐบาลต้องลาออก หรือยุบสภา จะทำให้คนบนถนนกลับบ้าน แต่จริงๆ แล้วกฎหมายนี้ก็ยังไม่จบ เพราะรัฐบาลยังเอากลับมาใหม่ได้อีก สิ่งที่เราไม่เห็นคือสำนึกรับผิดชอบของนักการเมืองไทย
“ส่วนตัวเห็นด้วยกับการตรวจสอบการตาย สถานการณ์ตอนนี้อ่อนไหวมาก มีความล่อแหลมมาก” นายทวีกล่าว
นายนครินทร์กล่าวว่า ขณะที่ประชาชนเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว การเมืองกลับเปลี่ยนไปช้ามาก กฎหมายนิรโทษกรรมเป็นข้อยกเว้นของรัฐสมัยใหม่ แต่ไม่เกิดขึ้นบ่อยแต่ก็ต้องเรียนรู้ธรรมเนียมปฏิบัติในอดีตด้วย นิรโทษที่กลุ่มคนเคลื่อนไปมาก ก้าวหน้ามาก ภาคสภาฯ ออกกฎหมายได้ห่วยมาก ต้องตรากฎหมายที่เป็นประชาธิปไตย ต้องรับฟังความเห็นประชาชน
รองอธิการบดี มธ.กล่าวด้วยว่า การนิรโทษกรรมปี 2547-2556 ไม่ได้อยู่ในบนธรรมเนียมของการตรากฎหมาย และเป็นความไม่รับผิดชอบของฝ่ายการเมือง นิรโทษกรรมจะคลุมคดีอะไรบ้าง ไม่มีใครทราบ อีกอย่างพรรคการเมืองไทยไม่อยู่ในขนบธรรมเนียมปฏิบัติ รัฐบาลมีอำนาจและขอบเขตทำได้ หรือทำไม่ได้แค่ไหน ดังนั้น ส.ว.ต้องหาทางให้กฎหมายนี้ตายภายในวันหรือสองวันนี้ให้ได้ ซึ่งตามเทคนิคสภาทำได้ ส่วนตัวเชื่อว่าเรื่องนี้จะจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ หรือถ้าจะรักษาระบบการเมืองไว้ คือการยุบสภา หรือจะให้สถานการณ์ผ่อนคลายคือนายกฯ ลาออก