xs
xsm
sm
md
lg

วัดใจ!ส.ว.ถอด“เทือก” ปัด “ล๊อบบี้”แต่มีโทรหยั่งเสียง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (17 ก.ย.) ที่ประชุมวุฒิสภาได้พิจารณาเรื่องด่วนเพื่อดำเนินกระบวนการถอดถอนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่งตามมาตรา 273 ของรัฐธรรมนูญ ในกรณีใช้อำนาจหน้าที่ระหว่างดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2552 แทรกแซงการทำงานของข้าราชการกระทรวงวัฒนธรรม
เนื่องจากทำหนังสือขอส่งตัว ส.ส.และบุคคลอื่น เข้าช่วยงานในกระทรวงวัฒนธรรม โดยเป็นขั้นตอนที่ให้ฝ่ายผู้กล่าวหา คือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต(ป.ป.ช.) และฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา คือ นายสุเทพ แถลงปิดคดีด้วยวาจาฝ่ายละ 30 นาที ก่อนจะมีการลงมติในวันที่18ก.ย.นี้
นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการ ป.ป.ช.แถลงปิดสำนวน โดยยืนยันว่า กรณีที่นายสุเทพโต้แย้งว่า ป.ป.ช.ไม่สามารถพิจารณาและลงโทษบุคคลเดียวกันซ้ำสองเพราะเคยตัดสินเรื่องดังกล่าวแล้วนั้น ป.ป.ช.สามารถดำเนินการได้ ส่วนที่นายสุเทพอ้างว่าลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีแล้ว ป.ป.ช.ก็สามารถดำเนินการสอบสวนได้ เพราะไม่ขัดต่อข้อกฎหมาย เพราะยังมีผลให้นายสุเทพถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี เนื่องจากการกระทำของนายสุเทพไม่ได้อยู่ในกรอบอำนาจในฐานะที่นายกรัฐมนตรีมอบให้เป็นผู้ดูแลกระทรวงวัฒนธรรม
ส่วนหนังสือดังกล่าวที่นายสุเทพอ้างว่าเป็นการหารือ ไม่ได้บังคับรัฐมนตรีนั้น ป.ป.ช. เห็นว่า ไม่ใช่เรื่องของการหารือ หรือบังคับ แต่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการทำงานของกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) แม้นายสุเทพจะดึงหนังสือกลับคืน และยังไม่มี ส.ส.หรือบุคคลใดเข้าไปทำงานที่กระทรวงวัฒนธรรมก็ตาม ส่วนที่นายสุเทพนำกรณี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ตั้ง ส.ส.เพื่อไทย เข้าไปช่วยงาน ศปภ.มาเทียบเคียงนั้นข้อเท็จจริงก็ไม่ตรงกันจึงไม่สามารถนำมาเทียบเคียงเรื่องการวินิจฉัยด้านกฎหมายกับเรื่องดังกล่าวได้
นายกล้านรงค์ กล่าวว่า ป.ป.ช.มีสิทธิที่จะไม่นำความเห็นของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ระบุว่าการกระทำของนายสุเทพไม่ขัดต่อบทบัญญัตรัฐธรรมนูญมาพิจารณา เพราะเป็นเพียงความเห็นเชิงวิชาการ อีกทั้งนายบวรศักดิ์ใช้เพียงคำว่า "ไม่น่าจะขัด" นั่นหมายความไม่ได้ให้คำยืนยัน ทั้งนี้ ยืนยัน ป.ป.ช.ทำหน้าที่ด้วยความกลางและอิสระ วินิจฉัยบนพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ แม้บางครั้งต้องทำงานอย่างโดดเดี่ยวและต้องรักษาสถานะของตัวเอง โดยไม่มีกฎหมายให้ความคุ้มครองเหมือนการทำหน้าที่ของตุลาการ พร้อมกันนี้นายกล้านรงค์ยังได้กล่าวตัดพ้อต่อที่ประชุมวุฒิสภาว่า ป.ป.ช.ทำงานได้ดีแค่เสมอตัวกับติดลบเท่านั้น
ด้านนายสุเทพ แถลงปิดคดีด้วยเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการแก้ข้อกล่าวหา โดยเฉพาะใน 3 ประเด็น ทั้งข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาที่จะแทรกแซงการบริหารของกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมย้ำว่า รมว.วัฒนธรรม ยังไม่ได้อ่านหรือสั่งการใดๆ และเมื่อมีการทักท้วงก็ขอหนังสือกลับ ซึ่งข้อความในหนังสือมีเพียงแจ้งความประสงค์ว่า ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จะขอช่วยงานในกระทรวงฯ ซึ่งไม่ใช่คำสั่ง และรัฐมนตรีมีอิสระในการสั่งการตามที่เห็นสมควร พร้อมย้ำว่าเป็นการทำตามนโยบายที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีในการบริหารงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน
และเห็นว่า มติของ ป.ป.ช.มีความขัดแย้งกับคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญที่เคยตัดสินในลักษณะดังกล่าวที่ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก แต่งตั้ง ส.ส.เพื่อไทย เข้าไปช่วยงานที่ ศปภ.ซึ่งศาลจำหน่ายคดีเพราะเห็นว่าไม่มีความผิด แต่ ป.ป.ช.ตีความขัดต่อข้อกฎหมายต่างจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะศาลยึดเจตนารมย์ของกฎหมายเป็นหลัก แต่ ป.ป.ช.ไมได้พิจารณาในเรื่องนี้ ป.ป.ช.น่าจะวินิจฉัยตามแนวทางเดียวกับศาลรัฐธรรมนูญ เพราะผลวินิจฉัยของศาลมีผลผูกพันต่อทุกองค์กรทั้งรัฐสภา ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ โดยเฉพาะประเด็นที่กระทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ซึ่งมั่นใจว่าการกระทำของตนเองไม่เข้าข่าย เพราะตามข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฎว่ารัฐได้รับความเสียหายจากการกระทำของตนเอง และ ป.ป.ช.เองก็ไม่ได้ระบุในสำนวนว่าการกระทำดังกล่าวเสียหายอย่างไร ทั้งนี้ การกระทำของตนเองไม่ได้กระทำการต้องห้ามตามมาตรา 266(1) และการกระทำทั้งหมดเป็นเจตนาดี ดังนั้นขอให้สมาชิกพิจารณาจากเจตนาที่แท้จริงจากตนเองด้วย
นอกจากนี้นายสุเทพยังชี้ให้เห็นว่า ป.ป.ช.ไม่ได้นำความเห็นของนายบวรศักดิ์ซึ่งเป็นพยานฝ่าย ป.ป.ช. และความเห็นของคณะพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจาก ป.ป.ช. ซึ่งระบุว่าเรื่องนี้ไม่มีมูลความผิดตามที่ข้อกล่าวหามาพิจารณาด้วย เช่นเดียวกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ที่ได้ยกฟ้องในคดีดังกล่าว
หลังแถลงปิดสำนวนเสร็จสิ้น นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุมได้นัดประชุมในเวลา 11.00 น. วันที่ 18 ก.ย.นี้ เพื่อลงมติว่าจะถอดถอนหรือไม่ ซึ่งจะใช้วิธีการลงคะแนนแบบลับ โดยขานชื่อให้ ส.ว.รับบัตรลงคะแนนทีละคน ทั้งนี้หากนายสุเทพจะพ้นจากตำแหน่งได้จะต้องได้เสียงของสมาชิกวุฒิสภาไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ซึ่งขณะนี้มี ส.ว.อยู่ทั้งสิ้น 146 คน ดังนั้นต้องได้เสียงถอดถอนตั้งแต่ 89 คนขึ้นไป
นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงกระแสข่าวการล็อบบี้ ส.ว. ว่า คงไม่มีเรื่องนี้ ซึ่งการประชุม เป็นการแถลงปิดสำนวนของผู้ร้องและผู้ถูกร้องแล้ว โดยในการประชุมวุฒิสภาวันที่18 ก.ย.นี้ จะมีการลงมติถอดถอนในเวลา11.00 น. ซึ่งก่อนลงมติที่ประชุมจะคัดเลือกคณะกรรมการการลงคะแนน 10 คนโดยการจับฉลาก จากนั้นจะลงคะแนนลับในบัตรที่มีช่องให้กากบาทว่า “ถอดถอน”กับ “ไม่ถอดถอน” ซึ่งยืนยันว่าทุกอย่างจะเป็นไปอย่างยุติธรรม เป็นไปตามหลักการข้อเท็จจริงที่ทั้ง 2 ฝ่ายได้แถลงต่อที่ประชุม ส่วนกระแสข่าวการล๊อบบี้ ส.ว.นั้น เชื่อว่าสมาชิกวุฒิสภา มีวุฒิภาวะ ซึ่งตนยังไม่เห็นว่ามีการล๊อบบี้ แม้จะมีข่าวออกมาแต่เชื่อว่าความถูกต้องก็จะปรากฏออกมาในวันพรุ่งนี้
เมื่อถามว่า ที่ผ่านมากระบวนการถอดถอนมีหลายครั้งแต่ไม่เคยถอดถอนได้ เพราะเสียงไม่เพียงพอ นายนิคม กล่าวว่า การถอดถอนทำไม่ได้เพราะที่มาของส.ว.แตกต่างกัน รวมทั้งจำนวนสัดส่วนของเสียงที่ใช้ถอดถอนสูงเกินไป หากต้องการเทียบมาตรฐานการถอดถอนตามหลักการสกัดยับยั้งการทุจริตหรือการประพฤติมิชอบนั้น สัดส่วนควรลดลง เพราะถ้าเป็นเช่นนี้ก็จะไม่มีโอกาสถอดถอนใครได้และจะทำให้เหมือนเป็นสภาตรายาง ซึ่งการถอดถอนนายสุเทพ ที่ต้องใช้เสียง 3 ใน 5 ของจำนวนส.ว.ทั้งหมด 146 คน ก็ต้องใช้เสียงถอดถอน 88 เสียง ก็คงจะยาก
“สัดส่วนของจำนวนเสียงและที่มาของส.ว. ไม่มีทางจะถอดถอนใครได้ และยากมากที่สมาชิกจะลงคะแนนไปในทิศทางเดียวกันหมด ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ตนจะเสนอปัญหาเรื่องนี้ด้วย ซึ่งตราบใดที่ยังใช้สัดส่วนเช่นนี้ก็ไม่สามารถจะถอดถอนใครได้”ประธานวุฒิสภา กล่าว
นายกฤช อาทิตย์แก้ว ส.ว.กำแพงเพชร กล่าวว่า กระบวนการถอดถอน นายสุเทพ เป็นไปได้ยาก และเชื่อว่า ไม่มีการถอดถอนแน่นอน เนื่องจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ต้องใช้คะแนนเสียงถึง 3 ใน 5 ต้องมีคะแนนเสียงไม่ต่ำกว่า 89 เสียง ซึ่ง นายสุเทพ อาจจะต้องลุ้นคะแนนเสียงพอสมควร
ทั้งนี้ยอมรับว่า มีเพื่อนหลายวงการ โทรศัพท์หารือ เพื่อหยั่งคะแนนเสียงต่อการถอดถอน นายสุเทพ และมีการขอร้องให้ช่วยเหลือในทิศทางที่ต้องการ ซึ่งถือว่า การล็อบบี้เป็นเรื่องปกติ เพราะไม่ได้มีผลประโยชน์แลกเปลี่ยน และจะไม่มีผลต่อการตัดสินใจของสมาชิกวุฒิสภา แต่ละคน เพราะต่างพิจารณาตามข้อมูลข้อเท็จจริง และดูที่เจตนาของ นายสุเทพ เป็นหลัก
นายคำนูณ สิทธิสมาน สว.สรรหา กล่าวว่า ไม่ทราบเรื่องการล็อบบี้ ส.ว. เพื่อช่วย นายสุเทพ ไม่ให้ถูกถอดถอนจากการเป็น ส.ส. และไม่ได้ยินข่าวเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว แต่โดยส่วนตัวไม่มีใครมาล็อบบี้ หรืออะไรทั้งสิ้น แต่เชื่อว่า สมาชิกวุฒิสภาทุกคน มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี และมีวิจารณญาณในการตัดสินใจ ซึ่งส่วนตัวไม่อยากเปิดเผยอะไรมาก เพราะอาจขัดต่อข้อบังคับ การประชุมวุฒิสภา ม.120 ในการให้ข้อมูลแก่สาธารณะ แต่เชื่อว่า ทุกคนจะพิจารณาตามหลักฐาน
"โดยส่วนตัวผม ไม่มีใครมาล็อบบี้ หรืออะไรทั้งสิ้นนะครับ เพราะผมเชื่อว่า ส.ว.ทุกคน มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี และมีวิจารณญาณในการตัดสินใจด้วยตนเองครับ" นายคำนูณ กล่าว
นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ส.ว.ชลบุรี กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่าไม่มีการล็อบบี้ ส.ว. เพื่อช่วย นายสุเทพ และล็อบบี้ในการถอดถอน พร้อมมองว่าเป็นการคิดกันไปเอง และเป็นกุข่าว อีกทั้ง ส่วนตัวเชื่อว่า ส.ว. ทุกคน จะใช้ดุลยพินิจในการถอดถอน รวมถึงมีวิจารณญาณในการตัดสินใจ
"จะใช้ดุลพินิจในการพิจารณาว่า การถอดถอนเห็นควรหรือไม่ ท่านสมาชิกทุกท่าน โดยวิจารณญาณของแต่ละท่าน คงไม่มีล็อบบี้อะไรมากมาย" นายสุรชัย กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 18 กันยายน นี้ ตนเอง พร้อมด้วย นายประเสริฐ ประคุณศึกษาพันธ์ สว.ขอนแก่น และ นายเจริญ ภักดีวานิช ส.ว.พัทลุง จะไม่อยู่ร่วมลงมติด้วย เนื่องจากติดภารกิจต้อนรับ นายกรัฐมนตรี จากเปรู ยืนยัน ไม่มีเจตนาหลบหนี เพราะมีกำหนดการมานานแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น