xs
xsm
sm
md
lg

“ค้อนปลอม” ลั่นไม่เรียกประชุมแล้ว นัด 1 ส.ค.เปิดสภา “มาร์ค” จี้ พท.อย่าใช้แดงบีบศาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา (แฟ้มภาพ)
ประธานรัฐสภายันไม่เรียกประชุมสภาแล้ว ยอมรอศาลวินิจฉัยแก้ รธน.ก่อน ยังไม่ถอน พ.ร.บ.ปรองดอง แต่พร้อมจัดสานเสวนา นัดเปิดสภา 1 สิงหาฯ นี้ ย้ำขอถอยคนละก้าวเพื่อหารือ เชื่อไม่ทำพรรคแตก ด้าน “อภิสิทธิ์” หนุน “ค้อนปลอม” ปลดชนวนได้ แต่แปลกใจข่าวดันลงมติยังมีอยู่ ปรามเพื่อไทยอย่าสร้างเงื่อนไขใช้มวลชนบีบองค์กรอิสระ ย้ำกฎหมายปรองดองมีปัญหา งง ปธ.วิปรัฐบอก ส.พระปกเกล้าไม่ให้ความร่วมมือ


วันนี้ (15 มิ.ย.) นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา กล่าวยืนยันว่าจะไม่มีการเรียกประชุมสภาอีก หลังมีกระแสข่าวนายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานวิปรัฐบาล ระบุว่าจะมีการประชุมรัฐสภาในวันที่ 18 มิ.ย. 55 เพื่อลงมติวาร 3 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ขึ้นอยู่กับประธานรัฐสภา โดยตนเห็นว่าการจะลงมติวาระ 3 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้แล้วเสร็จก่อน ส่วนร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง 4 ฉบับนั้นจะยังไม่มีการถอนร่างกฎหมายออกจากการพิจารณาของรัฐสภา แต่เห็นว่าในระหว่างนี้จะต้องมีการสานเสวนาก่อน และจะมีการประชุมสภาอีกครั้งในวันที่ 1 สิงหาคม 2555 ทั้งนี้ ยืนยันว่าการตัดสินใจของตนเองเป็นการถอยคนละก้าว เพื่อให้ทุกฝ่ายใช้ช่วงเวลานี้ถอยคนละก้าวเพื่อหารือกัน อย่างไรก็ตาม นายสมศักดิ์ปฏิเสธที่จะตอบคำถามถึงการชะลอปัญหาออกไปเพื่อปะทุรอบใหม่ในเดือนสิงหาคม หากยังไม่มีการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุด้วยการถอนร่าง พ.ร.บ.ปรองดองออกจากการพิจารณาของสภา แต่มั่นใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่สร้างความแตกแยกภายในพรรคเพื่อไทย มีเพียงการแสดงความเห็นที่แตกต่างกันเท่านั้น

ด้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าวสนับสนุนแนวทางของนายสมศักดิ์ โดยเห็นว่าจะช่วยปลดชนวนความขัดแย้งได้ แต่ก็รู้สึกแปลกใจว่าเหตุใดจึงยังมีกระแสข่าวการผลักดันให้มีการลงมติอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้อยากให้ยุติเพื่อให้ทุกฝ่ายเกิดความสบายใจ เพราะทางออกที่ทำอยู่ก็เหมาะสม เพื่อใช้เวลาช่วงปิดสมัยประชุมหารือกันว่าจะทำอย่างไรต่อไป อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเรื่องนี้น่าจะจบเพราะเป็นดุลพินิจของประธานสภา และมีการนำเสนอ พ.ร.ฎ.ปิดสมัยประชุมวันที่ 19 มิ.ย. 55 อยู่แล้ว ซึ่งพรรคก็เห็นด้วย

ผู้นำฝ่ายค้านกล่าวด้วยว่า ความเห็นที่แตกต่างกันในพรรคเพื่อไทยนั้นเป็นเรื่องธรรมดา แต่ตนไม่อยากเห็นการสร้างเงื่อนไขเรื่ององค์กรตุลาการ หรือองค์กรอิสระ เพื่อเคลื่อนไหวทางการเมือง เพราะการให้ข้อมูลในขณะนี้เป็นการหวังผลในเรื่องปลุกระดมมวลชนมากกว่า ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ และหากยังไม่ยุติเรื่องนี้ เมื่อถึงการเปิดประชุมสมัยหน้าในเดือนสิงหาคมสังคมไทยจะย้อนกลับไปสู่ปัญหาเดิม จึงเห็นว่าทุกฝ่ายควรทำความเข้าใจให้ถูกต้องว่าความเห็นทางกฎหมายมีได้ แต่ต้องไม่ก้าวล่วงตุลาการและควรหาทางออกที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้เกิดการเผชิญหน้า

“ผมคิดว่านอกจากเรื่องรัฐธรรมนูญแล้ว ความจริงตัว พ.ร.บ.ปรองดองมีปัญหามากกว่า เพราะเป็นสิ่งที่จะมีผลกระทบมากไม่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลด้วย จึงยังเป็นปมที่ต้องหาทางแก้ปัญหาต่อไป หากรัฐบาลจะเดินหน้าเรื่องการสานเสวนาทำความเข้าใจกับประชาชนตามที่ขอความร่วมมือจากสถาบันพระปกเกล้า ก็ควรจะรอเรื่องนี้ก่อนที่จะผลักดันกฎหมาย เพราะขณะนี้ก็มีความคืบหน้าในการจัดทำคู่มือ ซึ่งทางสถาบันฯให้การสนับสนุนรัฐบาลที่จะดำเนินการ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ กฎหมายทั้ง 4 ฉบับถูกเลื่อนขึ้นมาเป็นวาระแรก ดังนั้นเมื่อมีการประชุมเมื่อไหร่ก็จะเป็นวาระแรกที่ต้องพิจารณา การจะเปลี่ยนแปลงต้องใช้มติจากที่ประชุม จึงควรมีการแสดงออกให้ชัดเจนว่าถ้ารัฐบาลจะรอการสานเสวนาก็ไม่ควรทิ้งปัญหานี้ไว้ ซึ่งประธานสภาน่าจะได้ปรึกษากับสมาชิกเนื่องจากเรื่องนี้เป็นมติของสภา ซึ่งในการประชุมวันที่ 13-14 มิ.ย.ที่ผ่านมา ประธานสภาก็หาทางออกตรงตามที่ผมแนะนำคือ ให้กำหนดวาระพิเศษเป็นการเฉพาะ แต่คงทำอย่างนี้ทุกครั้งไม่ได้ ประธานจึงต้องหารือกับ ส.ส.ที่เสนอร่างกฎหมาย” นายอภิสิทธิ์กล่าว

นายอภิสิทธิ์ยืนยันด้วยว่า สถาบันพระปกเกล้าให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในเรื่องการจัดทำคู่มือเพื่อสานเสวนาประชาชน จึงไม่เข้าใจว่าเหตุใดนายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานวิปรัฐบาล ออกมาระบุว่า ไม่ได้รับความร่วมมือจากสถาบัน โดยได้สอบถามนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าว่า มีปัญหาหรือไม่จึงเกิดประเด็นนี้ขึ้นมา ได้รับคำยืนยันว่าไม่มีปัญหาอะไร ตนจึงสับสนอยู่ว่าประธานวิปรัฐบาลได้ข้อมูลจากไหนที่บอกว่าสถาบันพระปกเกล้าไม่ให้ความร่วมมือ อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลบอกว่าจะมีการจัดสานเสวนาจะไม่มีประโยชน์อะไรเลย ถ้าฝ่ายการเมืองจะผลักดันกฎหมายตามความต้องการของตัวเอง เพราะไม่มีที่ไหนปรองดองด้วยการยัดเยียดความคิดของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งให้คนอื่นต้องยอมรับ และขณะนี้การจัดทำคู่มือของสถาบันพระปกเกล้าก็เสร็จแล้ว จะมีการประชุมครั้งสุดท้ายบ่ายวันนี้ (15 มิ.ย. 55) แต่ยังต้องจับตามองถึงการเอาคู่มือไปใช้ว่าจะดำเนินการอย่างไรด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น