xs
xsm
sm
md
lg

ส.พระปกเกล้า ลั่นถอนผลวิจัยปรองดอง ถ้านำไปใช้บิดเบือน ไม่ตรงเจตนารมณ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (แฟ้มภาพ)
“อภิสิทธิ์” เผยที่ประชุมสภาสถาบันพระปกเกล้า ไม่ยอมให้สภาฯ ใช้เสียงข้างมากลากรายงานผลวิจัยปรองดองไปใช้อย่างบิดเบือนไม่ตรงตามเจตนารมณ์ ลั่นฝ่าฝืนถอนรายงานทันที แนะควรให้สภาฯรับทราบรายงาน แล้วขยายอายุ กมธ.ปรองดอง จนสิ้นปี 55 เพื่อไปดำเนินการให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมหาทางออกประเทศเกิดความปรองดอง

วันนี้ (3 เม.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวภายหลังการประชุมสภาสถาบันพระปกเกล้าว่า กรรมการสภาสถาบันฯ ได้รายงานข้อเท็จจริงของผลการวิจัย ซึ่งเห็นตรงกันว่าให้ยึด 3 หลัก คือ เสรีภาพทางวิชาการ สถาบันฯ ต้องมีหลักของความรับผิดชอบในฐานะผู้อนุมัติให้ทำงานวิจัย และสถาบันต้องรับผิดชอบต่อสังคมในการดูแลว่ากระบวนการปรองดองเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง ซึ่งเมื่อได้รับทราบรายงานแล้วเลขาธิการสภาสถาบันฯ ได้ตรวจสอบว่าการทำงานเป็นไปตามหลักวิชาการหรือไม่ และบอกว่าทางสถาบันพระปกเกล้าไม่ได้มีความเห็นที่ตรงกับผู้วิจัยเสมอไป แต่สถาบันฯเป็นเจ้าของงานวิจัย ดังนั้นเมื่อจะมีการนำผลวิจัยเรื่องความปรองดองไปใช้ประโยชน์ แต่อาจจะไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของการปรองดอง ทางสถาบันก็มีข้อสังเกตว่าในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันพรุ่งนี้ (4 เม.ย.) หากจะมีการใช้เสียงข้างมาก ก็ควรจะเป็นเพียงแค่มติในการรับทราบรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งอ้างอิงรายงานวิจัยนี้ และควรจะขยายอายุของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯจนสิ้นสมัยประชุมสมัยหน้าเป็นอย่างน้อย คือสิ้นปี 2555 เพื่อให้เอารายงานไปดำเนินการตามเจตนารมณ์ของงานวิจัยชิ้นนี้ คือไปพูดคุยกันในระดับประเทศอย่างกว้างขวาง และหากทำเช่นนี้ก็อยากให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการหาทางออก

อย่างไรก็ตาม หากในวันพรุ่งนี้ (4 เม.ย.) ในการประชุม สภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการฯ ปรองดอง มีมติเห็นชอบกับรายงาน และแจ้ง ครม.ในลักษณะที่ไม่เป็นไปตามข้อเสนอ ทางสถาบันก็จะขอรายงานกลับคืนมา และไม่ให้ผู้ใดทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่ นอกจากจะขออนุญาตจากสถาบันฯ ในฐานะที่เป็นเจ้าของรายงาน

ส่วนหากรัฐบาลนำผลการวิจัยไปขยายผลต่อจะทำอย่างไร นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ทางสภาสถาบันพระปกเกล้ ามีแนวทางที่ชัดเจนว่า ไม่ใช่ข้อเสนอของสถาบันนี้ ดังนั้นจะไม่ให้มีการนำไปอ้างอิง

“สภาสถาบันฯ ไม่อาจบอกได้ว่าสภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณาอย่างไร และเห็นว่าถ้าสภาฯ จะพิจารณาก็ควรจะได้ขยายเวลา และดำเนินการตามเจตนารมณ์ของงานวิจัย แต่ถ้าไม่ทำตามเจตนารมณ์ของงานวิจัย เจ้าของงานวิจัย คือสถาบันพระปกเกล้า ก็จะขอถอนรายงานกลับคืนมา และบอกว่าไม่ให้เอาไปใช้อ้างอิง”

ผู้สื่อข่าวถามว่าปรากฏการณ์ในการพิจารณาในสภาฯ ยังไม่เพียงพอให้สถาบันพระปกเกล้า มองเห็นว่าการพิจารณาไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของสถาบันพระปกเกล้าหรือ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า กรรมการสภาสถาบันฯ ก็มีความเห็นที่หลากหลาย และมีความห่วงใย แต่การที่จะสรุปว่าวันพรุ่งนี้อะไรจะเกิดขึ้นก็คงไม่สามารถทำได้ ดังนั้น สิ่งที่เป็นข้อสังเกตคือถ้ามีการนำไปใช้ไม่ตรงเจตนารมณ์ก็จะของานนี้คืนมา เพราะไม่ต้องการให้มีการนำวิจัยนี้ไปใช้แล้วเกิดปัญหา จึงออกแถลงการณ์ว่า “ไม่ต้องการนำไปสู่สงครามความปรองดอง”

ต่อข้อถามว่าจะมั่นใจได้อย่างไรว่าการออกแถลงการณ์ของสถาบันพระปกเกล้าจะยับยั้งปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นได้ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ขณะนี้ทางคณะกรรมาธิการฯเป็นผู้รายงานต่อสภา ดังนั้นขั้นตอนที่บอกว่าถอนหรือไม่ถอน คงไม่มีผลอะไร เพราะประธานสภาผู้แทนราษฎรยืนยันแล้วว่าสภาฯ เดินหน้าต่อ แต่สิ่งเดียวที่สภาสถาบันพระปกเกล้าจะทำได้คือ หากจะเดินหน้าต่อ ก็ควรไปในทิศทางที่ควรจะเป็น คือการขยายเวลาของคณะกรรมาธิการฯปรองดอง และกลับมาสู่กระบวนการที่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของงานวิจัย

“ผลการประชุมที่เกิดขึ้นของสภาสถาบันพระปกเกล้าในวันนี้ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานกรรมการของสภาสถาบันน่าจะแจ้งให้ ส.ส.ได้รับทราบก่อนที่จะตัดสินใจทางใดทางหนึ่ง ส่วนจะมีผลอย่างไรต้องไปถามพรรคการเมืองแต่ละพรรค ซึ่งผมก็นำผลการประชุมครั้งนี้แจ้งต่อที่ประชุมพรรคให้ได้รับทราบด้วย”

ขณะที่ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และคณะผู้วิจัย ร่วมแถลงข่าวภายหลังการประชุมเพื่อรับทราบรายงานศึกษาวิจัยการสร้างความปรองดองแห่งชาติโดยยืนยันว่าการทำวิจัยดังกล่าวเป็นการใช้งบประมาณของสถาบันไม่มีการว่าจ้างตามที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์และได้พิจารณาอย่างรอบคอบมีเสรีภาพทางวิชาการ พร้อมย้ำว่าผลการวิจัยเป็นเพียงข้อเสนอแนะแนวทางไม่ไช่ข้อสรุปเพื่อนำไปปฏิบัติในการสร้างความปรองดองแต่อย่างใด

เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้ากล่าวด้วยว่า สถาบันยินดีให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติสภาผู้แทนราษฎรที่มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นประธานนำรายงานดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นชอบในวันพรุ่งนี้และให้นำรายงานดังกล่าวไปจัดเวทีเสวนาเพื่อหาทางออกร่วมกันทั้งในระดับพรรคการเมืองและภาคประชาชนทั่วประเทศ พร้อมขอให้ฝ่ายค้าน และประชาชนทุกคน เห็นแก่ประเทศให้ความร่วมมือกันพูดคุยหาทางออกอย่างสร้างสรรค์เพื่อยุติข้อขัดแย้ง แต่มีการนำรายงานของสถาบันไปอ้างอิงเพื่อแสวงหาผลประโยชน์แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือเป็นเหตุแห่งความขัดแย้ง สถาบันพระปกเกล้าก็พร้อมที่จะขอรายงานดังกล่าวกลับคืน

ด้าน นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสถาบันพระปกเกล้า ในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้สภาจะมีการพิจารณาตามวาระที่บรรจุไว้ตามปกติรวมถึงวาระของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ที่จะเสนอรายงานศึกษาวิจัยการสร้างความปรองดองแห่งชาติให้สภารับทราบด้วย ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรว่าจะให้ความเห็นชอบตามข้อเสนอของกรรมาธิการฯและนำผลรายงานของสถาบันพระปกเกล้าไปปฏิบัติตามวัตถุประสงค์หรือไม่

แถลงการณ์สถาบันพระปกเกล้า
เรื่อง รายงานการวิจัย “การสร้างความปรองดองแห่งชาติ”


ตามที่มีการวิพากษ์วิจารณ์รายงานการวิจัยการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ที่คณะผู้วิจัยได้เสนอต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา แนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทน ราษฎรไปตามที่คณะกรรมาธิการดังกล่าวได้ขอให้ศึกษาแล้วนั้น

สถาบันพระปกเกล้าขอแถลงข้อเท็จจริง และข้อเสนอแนะทางออกเพื่อร่วมกันสร้างบรรยากาศความปรองดองในชาติ ดังนี้

๑. หน้าที่ทำการวิจัยที่คณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรขอ โดยใช้เงินสถาบัน
สถาบันพระปกเกล้าเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติสถาบันพระปกเกล้า พ.ศ.๒๕๔๑ ภายใต้กำกับดูแลของประธานรัฐสภา และมีหน้าที่ตามมาตรา ๖(๘) ซึ่งบัญญัติว่า ให้สถาบัน “ส่งเสริมงานวิชาการของรัฐสภา”ดังนั้น เมื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ มีมติเมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ ให้สถาบันทำการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ โดยตั้งคำถามว่า “อะไรคือปัจจัย หรือกระบวนการที่ทำให้การปรองดองแห่งชาติประสบความสำเร็จ” สถาบันจึงนำเรื่องเสนอเสนอสภาสถาบันพระปกเกล้าเพื่อพิจารณาคำขอดังกล่าว สภาสถาบันได้มีมติอนุมัติให้ดำเนินการโดยใช้งบประมาณของสถาบันเอง

การดำเนินการวิจัยดังกล่าวจึงเป็นการทำหน้าที่ส่งเสริมวิชาการรัฐสภาตามหน้าที่ของสถาบันในกฎหมาย โดยไม่มีการรับจ้างดังที่วิพากษ์วิจารณ์กันแต่อย่างใดดังนั้น ลิขสิทธิ์ของรายงานดังกล่าวจึงเป็นของสถาบันตามมาตรา ๑๔ ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗

๒. การรับทำงานวิจัยได้พิจารณาโดยรอบคอบแล้วจากสภาสถาบันพระปกเกล้า
เนื่องจากการขอให้ทำงานวิจัยดังกล่าว สถาบันไม่ได้ตั้งงบประมาณไว้ และผลการวิจัย มีผลกระทบทางการเมือง สถาบันจึงนำคำขอของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาสถาบันในการประชุมสภาสถาบัน ครั้งที่ ๑๑ /๒๕๕๔ เมื่อ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ สภาสถาบัน ซึ่งประกอบด้วยประธานรัฐสภาเป็นประธานสภาสถาบัน ประธานวุฒิสภาเป็นรองประธาน กรรมการโดยตำแหน่ง คือ ผู้นำฝ่ายค้าน ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ประธานกรรมาธิการสามัญฯ ของสภาผู้แทนราษฎร ๒ คน ประธานคณะกรรมาธิการสามัญวุฒิสภา ๑ คน และผู้ทรงคุณวุฒิอื่นอีก ๑๑ คน โดยมีเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าเป็นกรรมการและเลขานุการ ได้พิจารณาโดยรอบคอบแล้ว มีมติให้รับทำการศึกษาโดยมีข้อสังเกตหลายประการ อาทิ ให้ขยายเวลาจาก ๓๐ วัน เป็น ๑๒๐ วัน ให้ดำเนินการโดยอิสระ และมีเสรีภาพทางวิชาการอย่างแท้จริง มิให้ยกร่างกฎหมายเสนอคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ซึ่งสถาบันก็ได้ดำเนินการตามข้อสังเกตดังกล่าวทุกประการ

๓. รายงานการวิจัยเป็นเสรีภาพทางวิชาการ และความรับผิดชอบของคณะผู้วิจัย
เมื่อรับทำการศึกษาแล้ว สถาบันก็แต่งตั้งคณะผู้วิจัยขึ้นตามกระบวนการปกติที่เคยปฏิบัติมาประกอบด้วยผู้วิจัย ๒๐ คน โดยมี รศ.วุฒิสาร ตันไชย เป็นหัวหน้าคณะได้ใช้เวลาศึกษา ๑๒๐ วัน ตามกรอบเวลาที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ขอ เมื่อมีการทักท้วงและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ สถาบันก็ได้ลงไปตรวจสอบทั้งระเบียบวิธีวิจัย (research methodology) และเนื้อหาสารัตถะ (content) ของงานวิจัย และข้อเสนอก็พบว่า กระบวนการดำเนินงานดังกล่าวมีความถูกต้องตามหลักวิชาการควรแก่กรณี แม้ว่าเลขาธิการจะขอให้คณะผู้วิจัยนำข้อท้วงติงของทุกฝ่ายมาพิจารณาประกอบแล้ว คณะผู้วิจัยก็ได้ปรับแก้บางส่วนแต่คงยืนยันผลการวิจัย โดยเฉพาะข้อที่ว่าปัจจุบันบรรยากาศความปรองดองยังไม่เกิด เพราะทุกฝ่ายยังมีพฤติกรรมและท่าทีเหมือนเดิม

คณะผู้วิจัยจึงเสนอให้มีการสร้างบรรยากาศความปรองดองทั้งระดับบน คือในฝ่ายการเมือง และระดับล่าง คือประชาชนทั้งประเทศ ด้วยการจัดพูดคุยหาทางออกร่วมกัน (dialogue) จนมีฉันทามติในระดับเหมาะสม โดยนำข้อเสนอที่ได้จากการสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิไปเป็นประเด็นในการพูดคุยหาทางออกร่วมกันคณะผู้วิจัยยืนยันว่า ข้อเสนอแนะดังกล่าวไม่ใช่ข้อสรุปที่ให้นำไปปฏิบัติทันทีแต่อย่างใด ด้วยเหตุนี้ เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม คณะผู้วิจัยจึงได้ทำหนังสือแถลงจุดยืนต่อประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๕ และได้เตือนไว้ในหนังสือดังกล่าวว่าการรวบรัดใช้เสียงข้างมาก โดยไม่ทำตามข้อเสนอของคณะผู้วิจัย จะนำไปสู่ความขัดแย้งและความรุนแรงรอบใหม่ได้

การยืนยันผลการวิจัยของคณะผู้วิจัยดังกล่าวจึงเป็น ความอิสระและเสรีภาพทางวิชาการซึ่งมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยรับรองไว้ ที่สถาบันและผู้ใดก็มิอาจก้าวล่วงได้

๔. สถาบันไม่จำต้องเห็นพ้องด้วยกับงานวิจัย และในฐานะผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานวิจัย สถาบันทรงไว้ซึ่งสิทธิ์ในการให้ใช้ หรือของานวิจัยกลับคืนได้ตามกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม ความเห็นและข้อเสนอในรายงานการวิจัย หรืองานวิชาการอื่น ซึ่งสถาบันให้จัดทำทุกเรื่องตั้งแต่ก่อตั้งสถาบันมาจนถึงการวิจัยเรื่องนี้ ย่อมเป็นความเห็นของผู้วิจัยเอง สถาบันไม่จำต้องเห็นพ้องด้วย แต่เมื่อลิขสิทธิ์เป็นของสถาบันตามมาตรา ๑๔ ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๗ สถาบันก็ทรงไว้ซึ่งอำนาจในการขอรายงานการวิจัยดังกล่าวกลับคืน และห้ามทำซ้ำ หรือดัดแปลง หรือเผยแพร่ต่อสาธารณะชนได้ตามมาตรา ๒๗ โดยเฉพาะเมื่อมีการเลือกนำรายงานบางส่วนไปใช้ประโยชน์ทางการเมือง และอาจจะเกิดความขัดแย้งและความรุนแรงขึ้น หรือมีการรวบรัดนำประเด็นซึ่งผู้วิจัยเสนอให้นำไปพูดคุยแสวงหาทางออกร่วมกันไปปฏิบัติทันที โดยไม่ได้นำไปพูดคุยให้กว้างขวางทั้งประเทศ

๕. ทางออกเพื่อความปรองดอง แห่งชาติอย่างแท้จริงซึ่งสภาผู้แทนราษฎร พึงมีมติในวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๕๕
ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งรอบใหม่อันจะนำไปสู่ความรุนแรง และเพื่อสร้างบรรยากาศความปรองดองให้เกิดขึ้นในประเทศ สถาบันจึงเสนอให้

(๑) คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เสนอสภาผู้แทนราษฎร และสภาผู้แทนราษฎรโดยพรรคการเมืองเสียงข้างมากควรมีมติรับทราบรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ซึ่งอ้างอิงผลงานวิจัยของสถาบันพระปกเกล้าไว้ชั้นหนึ่งก่อน และขยายอายุคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ออกไปจนสิ้นสมัยประชุมสามัญสมัยหน้าเป็นอย่างน้อย และให้นำรายงานดังกล่าวไปจัดพูดคุยหาทางออกร่วมกันทั้งระดับพรรคการเมือง และในระดับประชาชนทั่วประเทศอย่างกว้างขวาง โดยไม่เร่งรีบรวบรัดเลือกนำข้อเสนอที่ตน หรือพรรคของตนได้ประโยชน์ ไปปฏิบัติ ทั้งที่ข้อเสนอดังกล่าวเป็นเพียงประเด็นที่นักวิจัยเสนอให้นำไปพูดคุยหาทางออกจนได้ข้อยุติร่วมกันเท่านั้น

(๒) ขอร้องให้พรรคฝ่ายค้าน และคนไทยทุกกลุ่มที่ต้องการเห็นบ้านเมืองก้าวไปข้างหน้า ด้วยความปรองดอง โดยมีภราดรภาพต่อกัน ให้ความร่วมมือในการพูดคุยหาทางออกร่วมกันทำนอง สุนทรียสนทนา (appreciative dialogue) หรือการเสวนาที่สร้างสรรค์ (Constructive dialogue) เพื่อยุติข้อขัดแย้งที่ยืดเยื้อยาวนานนี้ลง

(๓) ขอร้องให้สื่อมวลชนรายงานข่าวให้ครบถ้วนเพื่อความปรองดองอย่างแท้จริง

(๔) ขอร้องให้ประชาชนอย่าเพิ่งเชื่อคำพูดของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจนกว่าจะได้อ่านรายงานการวิจัยฉบับย่อ และรายงานการวิจัยฉบับเต็มใน www.kpi.ac.th แล้ว จึงค่อยตัดสินตามหลักกาลามสูตร

สถาบันหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อเสนอดังกล่าวจะได้รับการพิจารณาอย่างแท้จริง หากสภาผู้แทนราษฎรมีมติตามข้อเสนอในข้อ ๑ สถาบันก็พร้อมจะให้ความร่วมมือกับคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ในการเปิดเวทีพูดคุยหาทางออกทั่วประเทศ โดยเฉพาะผ่านศูนย์การเมืองภาคพลเมืองของสถาบันซึ่งมี ๔๘ จังหวัดทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม หากสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบกับรายงาน และแจ้งคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป ดังข้อเสนอเดิมของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ อันจะนำไปสู่ความสับสนของประชาชน และนำไปสู่ “สงครามความปรองดอง” อันเป็นการสถาปนา “ความยุติธรรมของผู้ชนะ” ขึ้น ทั้งยังจะเป็นเหตุแห่งความขัดแย้ง และความรุนแรงนั้น สถาบันก็มีความเสียใจที่จะต้องขอรายงานการวิจัยดังกล่าวกลับคืนมา และหากผู้ใดจะทำซ้ำ ดัดแปลง หรือเผยแพร่งานดังกล่าวต่อสาธารณะชน จะต้องขออนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากสถาบันก่อน

สถาบันเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ต้องการเห็นความสงบ และปรองดองในบ้านเมืองจึงขอเรียกร้องให้ผู้แทนปวงชนทุกฝ่าย ตอบสนองความต้องการของปวงชน โดยใช้วิจารณญานที่รอบคอบ ปราศจากมานะทิฐิ และประโยชน์ส่วนตน หรือส่วนพรรคอย่างแท้จริง

สถาบันพระปกเกล้า
๓ เมษายน ๒๕๕๕
กำลังโหลดความคิดเห็น