อมรรัตน์ ล้อถิรธร......รายงาน
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ
ยิ่งใกล้วันที่ 18 ก.ย.เข้าไปเท่าไหร่ ไม่เพียงคอการเมืองจะลุ้นว่าอนาคตของนักการเมืองชื่อดังอย่างสุเทพ เทือกสุบรรณ จะจบลงแบบไหน จะยังคงเป็น ส.ส.ต่อไป หรือจะต้องพ้นจากการเป็น ส.ส.และเว้นวรรคการเมือง 5 ปีกันแน่!!
อนาคตทางการเมืองของนายสุเทพเดินมาถึงจุดง่อนแง่นในวันนี้ได้อย่างไร? ต้องย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2555 เมื่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี มีพฤติกรรมที่ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญ กรณีได้มีหนังสือสำนักนายกฯ ไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ขอส่ง ส.ส.ของพรรคและบุคคลรวม 19 คนไปช่วยงานที่กระทรวงวัฒนธรรมเมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2552 แม้ในทางปฏิบัติ นายสุเทพจะยังไม่ได้ส่ง ส.ส.และบุคคลทั้ง 19 คนดังกล่าวไปช่วยงาน เพราะได้มีการถอนเรื่องกลับมาก่อน หลังมีคนท้วงติงว่าการกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ เพื่อผลประโยชน์ของตนหรือพรรคการเมือง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 268 ประกอบมาตรา 266 (1) แต่ ป.ป.ช.เห็นว่า การกระทำดังกล่าวถือว่าความผิดสำเร็จแล้วตั้งแต่มีการส่งหนังสือไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
ทั้งนี้ ป.ป.ช.ยอมรับว่า รัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องไม่ได้นิยามคำว่าก้าวก่ายหรือแทรกแซง ป.ป.ช.จึงต้องอาศัยพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 เป็นตัวช่วยในการพิจารณา ซึ่งพจนานุกรมระบุว่า คำว่า “ก้าวก่าย” หมายความว่า ล่วงล้ำเข้าไปยุ่งเกี่ยวหน้าที่ผู้อื่น ส่วนคำว่า “แทรกแซง” หมายความว่า แทรกเข้าไปเกี่ยวข้องในกิจการของผู้อื่น ดังนั้นจึงเห็นว่าการกระทำของนายสุเทพเป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติราชการหรือการดำเนินงานในหน้าที่ประจำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรมและเป็นไปเพื่อประโยชน์ของตน ของ ส.ส.หรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม ป.ป.ช.ยังย้ำด้วยว่า “การแก้ปัญหาความเดือดร้อน การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในเรื่องที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงวัฒนธรรม เป็นหน้าที่ของข้าราชการหรือลูกจ้าง และเป็นหน้าที่โดยตรงของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารที่จะต้องรับผิดชอบ ฝ่ายนิติบัญญัติจึงไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงได้”
ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รอดตัวกรณีนี้ เพราะ ป.ป.ช.มองว่าไม่ได้รู้เห็นหรือมีส่วนร่วมกับการกระทำของนายสุเทพ งานนี้นายสุเทพจึงถูก ป.ป.ช.ส่งเรื่องให้ที่ประชุมวุฒิสภาเพื่อลงมติว่าจะถอดถอนออกจากตำแหน่งหรือไม่เพียงคนเดียว!!
หลังเรื่องถึงวุฒิสภา ได้มีการไต่สวนเรื่องนี้โดยฟังความจากทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งฝ่าย ป.ป.ช.ที่ชี้ว่านายสุเทพเข้าข่ายแทรกแซงการปฏิบัติงานของข้าราชการ และฝ่ายนายสุเทพ ที่ยืนยันว่าตนไม่ได้เจตนาที่จะทำผิดรัฐธรรมนูญ และว่า การส่งหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ก็ไม่ใช่เพื่อส่งบุคคลเข้าไปทำงาน แต่เป็นการแจ้งความประสงค์ของ ส.ส.และบุคคลที่จะอาสาเข้าไปทำงานโดยไม่รับตำแหน่งและค่าตอบแทน เพราะช่วงดังกล่าว กระทรวงวัฒนธรรมเป็นกระทรวงใหม่ และประชาชนจำนวนมากไม่เข้าใจการทำงานของกระทรวงฯ ประกอบกับกระทรวงฯ ต้องรับผิดชอบงานส่งผู้นับถือศาสนาอิสลามไปแสวงบุญหรือประกอบพิธีฮัจญ์ ซึ่งที่ผ่านมามีปัญหาอย่างมาก ดังนั้น การส่ง ส.ส.ซึ่งนับถือศาสนาอิสลามและมีความเข้าใจเรื่องดังกล่าวไปช่วยงาน จะช่วยลดความเดือดร้อนของประชาชนได้มาก และยังสามารถให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐมนตรีด้วย
นายสุเทพยังย้ำด้วยว่า “หนังสือที่ผมได้ทำ ไม่มีอะไรเป็นผลประโยชน์ส่วนตัว และผลของหนังสือไม่ได้ทำให้รัฐหรือสาธารณะเสียประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใด ที่ผมทำไป เพราะเชื่อว่าไม่เป็นความผิด แต่เมื่อมีคนทักท้วง ก็ไม่ได้ดึงดัน และถอนเรื่องทันที นอกจากนั้นแล้วขอบเขตหน้าที่รองนายกฯ ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลกระทรวงวัฒนธรรม รองนายกฯ ต้องมีการหารือกับรัฐมนตรีประจำกระทรวงในเรื่องที่ทำให้งานกระทรวงเดินไปด้วยดี หากการมีบันทึกหารือระหว่างกัน กลายเป็นประเด็นที่จะมีปัญหา ผมเกรงว่าถ้ารองนายกฯ ในรัฐบาลปัจจุบันที่รับผิดชอบปัญหาความมั่นคงของบ้านเมือง แล้วมีหนังสือเชิญ ส.ส.ภาคใต้เพื่อมาหารือแนวทางแก้ไขปัญหาสถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็จะกลายเป็นปัญหา...”
นายสุเทพยังยกคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญใน 2 กรณีเพื่อเทียบเคียงว่าการกระทำของตนไม่น่าจะเข้าข่ายแทรกแซงการปฏิบัติงานของข้าราชการด้วย คือ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ถูกร้องว่าแทรกแซงการทำงานของข้าราชการ กรณีนายกษิตทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเร่งรัดให้ดำเนินคดีต่างๆ กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ค้างคาอยู่ในศาล ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการกระทำของนายกษิตไม่ถือว่าแทรกแซงการทำงานของข้าราชการ ส่วนอีกกรณีคือ กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การกระทำของ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ที่ตั้ง ส.ส.ไปช่วยงานใน ศปภ.ไม่เข้าข่ายแทรกแซงการปฏิบัติงานของข้าราชการ
อย่างไรก็ตาม ฝ่าย ป.ป.ช.ซึ่งได้ส่งนายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการ ป.ป.ช.มาให้การต่อที่ประชุมวุฒิสภา ยืนยันว่า ไม่สามารถนำกรณีอื่นมาเทียบเคียงกับกรณีของนายสุเทพได้ เพราะแต่ละกรณีไม่เหมือนกัน โดยกรณีของ พล.ต.อ.ประชาที่ให้ ส.ส.พรรคเพื่อไทยเข้าไปช่วยงานใน ศปภ.นั้น เป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อช่วยเหลือในช่วงที่เกิดมหาอุทกภัย จึงสามารถทำได้ ไม่เหมือนกรณีที่นายสุเทพจะส่ง ส.ส.เข้าไปช่วยงานในกระทรวงวัฒนธรรม นายกล้านรงค์ยังยืนยันด้วยว่า มติของ ป.ป.ช.กรณีนายสุเทพมีขึ้นโดยไม่ได้มีอคติ ไม่มีฝ่าย ไม่มีสี และพิจารณาความถูก-ผิดไปตามพยานหลักฐาน และไม่ได้วินิจฉัยภายใต้แรงกดดันใดใด
ทั้งนี้ หลังที่ประชุมวุฒิสภาไต่สวนแล้วเสร็จ ได้เปิดโอกาสให้ทั้ง 2 ฝ่ายแถลงปิดคดีด้วยวาจาในวันที่ 17 ก.ย. ก่อนที่วุฒิสภาจะประชุมลงมติว่าจะถอดถอนนายสุเทพหรือไม่ในวันที่ 18 ก.ย.นี้ โดยการจะถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ ต้องใช้เสียงไม่ต่ำกว่า 3 ใน 5 ของจำนวน ส.ว.ทั้งหมด ซึ่งขณะนี้ ส.ว.มีจำนวนทั้งสิ้น 146 คน ดังนั้นต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่า 89 เสียง
ด้าน นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ได้ประกาศตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้วว่า หากถูกถอดถอนและต้องเว้นวรรคการเมือง 5 ปี ตนจะกลับไปเลี้ยงหลานและคงไม่กลับมาเล่นการเมืองอีก
“ปีนี้ก็อายุย่างเข้า 64 แล้ว คนรับราชการนี่ 60 เขาก็เกษียณกันแล้วนะครับ ผมก็ทำงานการเมืองมาตั้งแต่อายุ 29 วันนี้ 64 อะไรจะเกิดก็ได้ทั้งนั้น ไม่มีปัญหา ถ้าถูกตัดสิทธิ 5 ปี ก็โอ้โห! 69 คงไม่กลับมาทำงานการเมืองแล้วมั้งครับ (ผู้สื่อข่าวถาม-อะไรทำให้ท่านคิดว่าถ้า 69 แล้วจะไม่กลับมาทำงานการเมือง?) คือมันห่างไป 5 ปี ตอนปลายๆ ช่วงปลายๆ นี่มันก็คง มันคงไม่ค่อยทันเหตุการณ์เท่าไหร่ ผมคงไปทำอย่างอื่น”
ต้องจับตาว่า ผลโหวตของที่ประชุมวุฒิสภาวันที่ 18 ก.ย.จะออกมาอย่างไร งานนี้ไม่เพียงนายสุเทพเท่านั้นที่จะลุ้นระทึก แต่ประวัติศาสตร์การเมืองไทยยังต้องเตรียมบันทึกด้วยว่า เส้นทางการเมืองของนายสุเทพจะจบลง ณ วันที่ 18 ก.ย. 2555 หรือไม่?