วุฒิสภาประชุมถอดอดีตรองนายกฯ “กล้านรงค์” แถลงเปิดสำนวน ยันไม่มีอำนาจ จุ้น วธ.ชัด ย้ำเป็นความผิดสำเร็จแล้ว “สุเทพ” แจงปัดส่ง ส.ส.ช่วยราชการ อ้างแค่แจ้งความประสงค์จิตอาสาช่วยชาวบ้านไปฮัจญ์ ไม่เอาเงินเดือนด้วย จวก ป.ป.ช.ไม่มองรัฐธรรมนูญ เห็นแค่คิดก็ผิดแล้ว ยกคำวินิจฉัยกรณี “ประชา” สั่ง ส.ส.ช่วย ศปภ. ก่อนประชุมลับ 45 นาที ที่ประชุมตั้ง 8 กรรมการซักถาม
วันนี้ (7 ก.ย.) ที่รัฐสภา การประชุมวุฒิสภา ได้เข้าสู่การพิจารณาเรื่องด่วน เพื่อดำเนินกระบวนการถอดถอนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง ตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยนายกล้านรงค์ จันทิก คณะกรรมการ ป.ป.ช. แถลงเปิดสำนวนด้วยวาจากรณี 1 ใน 4 สมาชิกพรรคเพื่อไทยได้ยื่นคำร้องต่อประธานวุฒิสภาให้ถอดถอนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ออกจากตำแหน่ง
จากนั้นประธานวุฒิสภาได้ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ไต่สวนข้อเท็จจริง ในกรณีที่กล่าวหานายสุเทพมีพฤติกรรมส่อว่าจงใจใช้อำนาจที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ในกรณีทำหนังสือสำนักนายกฯ วันที่ 25 ก.พ. 52 ส่ง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์และบุคคลอื่นไปช่วยงานกระทรวงวัฒนธรรม อันเป็นการก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติงานและการดำเนินงานของข้าราชการประจำในเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่นหรือของพรรคการเมือง ซึ่งเป็นการต้องหามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 268 ประกอบมาตรา 266 (1) คณะกรรมการ ป.ป.ชได้ดำเนินการไต่สวนแล้ว ซึ่งนายสุเทพได้ยื่นคำชี้แจงต่อ ป.ป.ช.จำนวน 10 ข้อ ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช.เห็นว่านายสุเทพไม่มีอำนาจในการบริหารราชการโดยตรงในกระทรวงวัฒนธรรม และไม่ใช่ผู้บังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรรมโดยตรง หรือข้าราชการ ลูกจ้างในกระทรวง จึงไม่มีอำนาจหน้าที่จัดส่งสมาชิกสภาฯ และบุคคลอื่นไปช่วยราชการในกระทรวงวัฒนธรรม คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงเห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นการเข้าไปก้าวก่ายในการปฏิบัติหน้าที่หรือแทรกแซงการปฏิบัติราชการและการดำเนินงานในหน้าที่ประจำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ไม่ได้เป็นการกระทำภายในกรอบอำนาจหน้าที่ในกระทรวงวัฒนธรรมตามที่นายสุเทพได้รับมอบหมายและอำนาจให้กำกับราชการแทนนายกฯตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด
นายกล้านรงค์กล่าวต่อว่า การที่นายสุเทพบอกว่ามีหนังสือจากสำนักนายกฯ ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมนั้น เป็นการหารือไปยังรัฐมนตรี ไม่ใช่คำสั่งบังคับ รัฐมนตรียังคงมีอำนาจเต็มในการใช้ดุลพินิจในการพิจารณาว่าจะตอบรับความประสงค์หรือไม่ จึงไม่เป็นการก้าวก่ายการปฏิบัติราชการในกระทรวงวัฒนธรรม คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่าข้ออ้างดังกล่าวรับฟังไม่ได้ ซึ่งการที่นายสุเทพกล่าวอ้างว่าการส่ง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์และคณะบุคคลไปช่วยราชการนั้นเพื่อช่วยให้งานของกระทรวงในเรื่องของการลงพื้นที่รับทราบข้อคิดเห็นต่อประชาชนเสนอต่อรัฐมนตรี แต่ทาง ป.ป.ช.เห็นว่าหน้าที่ของ ส.ส.เป็นฝ่ายนิติบัญญัติมีหน้าที่ตรากฎหมายและควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ไม่ได้มีหน้าที่ไปช่วยเหลืองานของกระทรวงวัฒนธรรมแต่อย่างใด แต่ถ้า ส.ส.จะช่วยเหลือประชาชนทำได้โดยการตั้งกระทู้ในสภาฯ หรือทำหนังสือเสนอไปยังรัฐมนตรี ดังนั้น การกระทำดังกล่าวมิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ราชการ และไม่ได้เป็นไปตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อสภาฯ ต่อมานายสุเทพได้ขอถอนเรื่องดังกล่าวคืน ป.ป.ช.เห็นว่าเป็นกรณีที่ความผิดสำเร็จแล้ว คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 ว่านายสุเทพกระทำความผิดฐานส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติขัดรัฐธรรมนูญ
ต่อมา นายสุเทพแถลงค้านสำนวนว่า ตนไม่มีเจตนาโต้แย้ง หักล้าง คัดค้านความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่อยากชี้แจงข้อเท็จจริงว่า ตนไม่มีความรู้แตกฉานทางกฎหมาย จึงขออนุญาตชี้แจงในสามัญสำนึกของคนที่ปฏิบัติหน้าที่ทางการเมืองมา โดยข้อเท็จจริงเรื่องนี้ ตนได้ลงนามวันที่ 25 ก.พ. 2552 ในหนังสือให้ ส.ส.และบุคคลอื่นรวม 19 คนไปช่วยราชการจริง แต่ข้อความในหนังสือไม่มีอะไรซับซ้อนเลยไม่ใช่หนังสือส่งคนไปช่วยราชการ แต่เป็นหนังสือแจ้งความประสงค์ของ ส.ส.ที่มีจิตอาสาจะไปช่วยราชการกระทรวงวัฒนธรรมเท่านั้น และรมว.วัฒนธรรมก็ยังไม่ได้เปิดอ่านหนังสือ และยังไม่มีการสั่งการใดๆ ตามหนังสือฉบับนั้น อีกทั้งตนในฐานะรองนายกฯ ก็ได้รับอำนาจให้กำกับดูแลงานกระทรวงวัฒนธรรม จึงส่งหนังสือไปตามความรู้สึกว่าต้องช่วยงานในกระทรวงเพื่อให้งานเดินหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ แต่เมื่อมีผู้ทักท้วงว่าอาจกระทำผิดต่อกฎหมาย ก็ได้ทำเรื่องขอส่งหนังสือดังกล่าวกลับคืน โดยไม่มีการส่ง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ไปช่วยงานราชการแต่อย่างใด ดังนั้น การที่จะวินิจฉัยว่าตนกระทำขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 268 ประกอบมาตรา 266 (1) เห็นว่าควรต้องดูที่เจตนารมณ์ของกฎหมาย เพราะว่ามีเจตนามุ่งห้ามเฉพาะการก้าวก่ายหรือแทกรกแซงในทางที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งหนังสือที่ตนทำไปไม่ได้ปรากฏว่ามีเจตนามุ่งไม่เป็นธรรมและมีข้าราชการการเมือง ข้าราชการประจำไม่ได้รับความเป็นธรรมด้วย แต่คำวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช.กลับเห็นว่าจะเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 268 ประกอบมาตรา 266 (1) หรือไม่ ไม่สำคัญ แต่ถือว่าตนได้คิด ตระเตรียมการ ตัดสินใจ และลงมือกระทำไปแล้ว จึงถูกมองเป็นความผิดสำเร็จทันที
นายสุเทพกล่าวต่อว่า ตนรู้อยู่แล้วว่ากระทำผิดต่อรัฐธรรมนูญ แต่ยังจงใจฝ่าฝืนเพราะมีเจตนาพิเศษ ในส่วนตนเชื่อว่าการที่ ส.ส.ไปช่วยงานราชการโดยไม่มีตำแหน่ง ไม่รับเงินเดือน เป็นไปในลักษณะอาสา ไม่คิดน่าจะเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย ถ้าตนทราบตั้งแต่ต้นว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมายคงจะไม่ฝ่าฝืน และยืนยันไม่ได้มีเจตนาพิเศษอย่างที่กล่าว มีแต่เจตนาที่สุจริต หวังประโยชน์ราชการ หรือทุจริตในการทำหนังสือฉบับนี้ การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีคำวินิจฉัยว่า ส.ส.มีหน้าที่ในทางฝ่ายนิติบัญญัติเท่านั้น ไม่มีหน้าที่ช่วยงานราชการต่างๆ และยังระบุว่าการที่ตนช่วยงานอาจได้รับผลประโยชน์เป็นฐานคะแนนเสียงนั้น เห็นว่าคำวินิจฉัยไม่ตรงต่อคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ที่ได้วินิจฉัยไว้วันที่ 20 เม.ย. 2555 ซึ่งเป็นกรณีที่พิจารณาคำสั่งของ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม มีคำสั่งแต่งตั้ง ส.ส.ไปช่วยราชการ และยกเลิกคำสั่งในภายหลังเช่นกัน ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้วินิจฉัยว่าไม่มีความผิด โดยได้อ้างหน้าที่ของ ส.ส.ว่า บทบาทและอำนาจหน้าที่ไม่ได้ถูกจำกัดเฉพาะแต่การตรากฎหมาย ควบคุมบริหารราชการแผ่นดินเท่านั้น ในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทยยังมีบทบาทในการสะท้อนปัญหาประชาชาชนเพื่อให้ฝ่ายบริหารได้รับทราบ รวมทั้งให้ความร่วมมือฝ่ายบริหารในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนประชาชน ซึ่งสิ่งที่ตนยกมาอ้างถึงเพียงแต่อยากให้เห็นว่า คนที่อาสามานั้นเป็นคนในพื้นที่นับถือศาสนาอิสลาม มีความรู้ความเข้าใจในพิธีฮัจญ์ จึงเห็นว่าความเดือดร้อนของประชาชนถ้ามี ส.ส.และเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจ นำมาบอกกล่าว เสนอแนะแนวทางปฏิบัติกับคณะรัฐมนตรีที่ถูกต้องก็จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากขึ้น
ส่วนเรื่องที่วินิจฉัยว่าตนได้รับผลประโยชน์กับหนังสือฉบับนี้ อยากชี้แจงว่าไม่สอดคล้องต่อสิ่งที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.วินิจฉัยว่าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 266 (1) มีเจตนารมณ์ไม่ให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ การแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบในการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส. มีผลต่อการตัดสินใจให้ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัว และสาธารณะแต่อย่างใด ตนควรจะได้รับการพิจารณาในประเด็นข้อเท็จจริงมากกว่านี้ อย่างไรก็ตาม ตนเสียดายอย่างเดียวที่ไม่มีโอกาสได้ไปพิจารณาในชั้นศาล เช่นเดียวกับกรณี พล.ต.อ.ประชา แต่สุดท้ายไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไรก็พร้อมน้อมรับในการวินิจฉัยของวุฒิสภา
ภายหลังจากการประชุมลับประมาณ 45 นาทีเสร็จสิ้น นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภาฯทำหน้าที่ประธานในการประชุมได้เปิดประชุมอีกครั้ง โดยพิจารณาการตั้งคณะกรรมการซักถามกรณีถอดถอนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ จำนวน 5 คนตามที่วิปวุฒิสภาได้มีมติก่อนหน้านี้ แต่มีผู้สมัครทั้งหมด 8 คน จึงต้องมีการลงมติแบบลับ จึงทำให้นายขวัญชัย พนมขวัญ ส.ว.จังหวัดแพร่ เสนอให้ตั้งกรรมการ 8 คน จะได้ไม่เสียเวลาที่จะลงมติ ซึ่งที่ประชุมต่างเห็นด้วย จึงมีมติให้ตั้งคณะกรรมการทั้ง 8 คน โดยรายชื่อคณะกรรมการทั้ง 8 คน ได้แก่ 1. นายกฤช อาทิตย์แก้ว ส.ว.กำแพงเพชร 2. นายตวง อันทะไชย ส.ว.สรรหา 3. นายวันชัย สอนศิริ ส.ว.สรรหา 4. นายธานี อ่อนละเอียด ส.ว.สรรหา 5. นายสมัคร เชาวภานันท์ ส.ว.สรรหา 6. นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ส.ว.สรรหา 7. นางนฤมล ศิริวัฒน์ ส.ว.อุตรดิตถ์ และ 8. พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ ส.ว.สรรหา ทั้งนี้ การประชุมของคณะกรรมการจะเริ่มในวันนี้ (7 ก.ย.) ช่วงเวลาประมาณ 14.00 น. จากนั้นในวันจันทร์ที่ 10 กันยายน และในวันอังคารที่ 11 ก.ย.จะเป็นการประชุมวุฒิสภานัดที่ 3 ในการพิจารณาการถอดถอนนายสุเทพ โดยจะเป็นการประชุมเพื่อพิจารณาข้อซักถามของคณะกรรมการเท่านั้น ซึ่งสมาชิกวุฒิสภาจะต้องฟังเพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจในการลงมติในการประชุมวุฒิสภาฯนัดที่ 5 ในวันที่ 18 กันยายน แต่ถ้าคู่ความทั้งสองฝ่าย คือ ป.ป.ช. และนายสุเทพ จะแถลงปิดสำนวนด้วยถ้อยคำ ทางวุฒิสภาก็จะกำหนดวันแถลงด้วยวาจาในวันที่ 17 ก.ย. แต่ถ้าเป็นการแถลงปิดสำนวนด้วยหนังสือก็จะยกเลิกการประชุมในวันที่ 17 ก.ย. และให้ดำเนินการลงมติวันที่ 18 ก.ย.แทน