ผู้บัญชาการทหารบกไม่พูดแนวคิด “เหลิม” เลือกตั้งผู้ว่าฯ ชายแดนใต้ถูกหรือผิด แต่ชี้ต้องดูคุ้มหรือไม่ ชู 80 แนวร่วมอาร์เคเคมอบตัวแสดงถึงความมั่นใจต่อเจ้าหน้าที่ เป็นความสำเร็จก้าวหน้าอันยิ่งใหญ่ การันตีตัวจริงมีชื่อในทำเนียบผู้ก่อการ เชื่อถ้าเปลี่ยนแม่ทัพภาค 4 ไม่มีปัญหา
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา"ให้สัมภาษณ์
วันนี้ (11 ก.ย.) ที่วิทยาลัยการทัพบก เมื่อเวลา 12.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยการจัดการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดว่า เป็นเรื่องของฝ่ายการเมือง ตนไม่ได้ว่าถูกหรือผิด แต่ต้องดูว่ามีความเป็นไปได้อย่างไร ประชาชนในพื้นที่ต้องการอย่างไร ถ้าเรามองฝ่ายความมั่นคงจะต้องพูดคุยว่าจะมีผลดีหรือผลเสีย และคุ้มกันหรือไม่ที่จะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตนไม่ได้ไปขัดแย้งกับฝ่ายรัฐบาล ท่านเป็นฝ่ายบริหารก็คิดขึ้นมา ในฐานะที่ตนดูแลงานด้านความมั่นคงจึงได้แสดงความคิดเห็นเรื่องนี้ออกไป ทุกอย่างสามารถทำได้หมด แต่เราต้องมีทุกมาตรการในการป้องกันเหตุการณ์ที่ลุกลามและบานปลายไปในอนาคตให้ได้ ซึ่งต้องทำทุกวิถีทางไม่ใช่เฉพาะเรื่องนี้เรื่องเดียว
เมื่อถามถึงกรณีที่กลุ่มแกนนำอาร์เคเคจะเข้ามอบตัวต่อแม่ทัพภาคที่ 4 ในวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เป็นการเตรียมการของกองทัพ จะเห็นว่าเป็นความก้าวหน้าที่เราไม่สามารถพูดได้ก่อน ซึ่งเรามีการติดต่อและพยายามพูดคุยกันมาตลอด โดยภาคประชาสังคม ภาคประชาชน ซึ่งพ่อแม่หรือญาติพี่น้องเขามีอยู่แล้ว กองทัพเปิดโอกาสให้ตลอด แต่ขึ้นอยู่กับว่ารัฐจะสามารถดูแลผู้ก่อการร้ายได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งทั้ง 80 คนมั่นใจการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่แสดงออกถึงความจริงใจในการแก้ไขปัญหาที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรง แต่เราใช้ทุกมิติในการแก้ไขปัญหา และอีกประการ คือ เขาเห็นความโหดร้ายของฝ่ายผู้ก่อเหตุ เพราะคนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง เขาจึงพยายามออกมามอบตัวต่อเจ้าหน้าที่ ส่วนอีกฝ่ายพยายามกดไม่ให้กลุ่มเหล่านี้เข้ามามอบตัวและพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ ดังนั้นเขาจึงใช้ความรุนแรงเข้ามาสู้กัน ซึ่งวันนี้ถือเป็นความสำเร็จอีกก้าวหนึ่งอันยิ่งใหญ่ ส่วนเรื่องอื่นคงจะตามมา
“สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ทำวันนี้ แต่ทำมาหลายปีจนกว่ากลุ่มคนเหล่านี้เชื่อใจจึงได้ออกมา ทั้งนี้ในเรื่องคดี ผมกังวลแทนคนเหล่านี้อยู่แล้ว การที่ให้กลุ่มคนเหล่านี้ออกมาจะต้องดูกฎหมายมาตรา 21 ของพ.ร.บ.ความมั่นคงฯจะสามารถดูแลได้แค่ไหน ซึ่งมีความแตกต่างกับ 66/23 ที่เป็นการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐ ถ้ารัฐต่อรัฐมีกติการ่วมกัน มี พ.ร.บ.ออกมา หรือมีคำสั่ง 66/23 ออกมา สามารถยกความผิดให้กันได้และกลับมาสู่การพัฒนาชาติไทย ซึ่งการสู้กันกับทหารและตำรวจจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บก็คือทหาร ตำรวจและผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) แต่วันนี้เหตุการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นพลเรือนที่เสียชีวิต และมีประชาชนผู้บริสุทธิ์ตายด้วย ทั้งไทยพุทธและไทยมุสลิม โดยมีกฎหมาย ป.วิอาญาเข้ามาเกี่ยวข้อง สิ่งที่เราต้องการคือให้กลุ่มคนเหล่านี้ออกมา ส่วนเรื่องโทษทัณฑ์ค่อยว่ากัน และจะต้องเป็นที่พอใจของทุกฝ่าย ที่สำคัญจะต้องไม่ไปล้มล้างกฎหมายที่มีอยู่แล้ว และเห็นใจ รวมถึงการดูแลความปลอดภัยเมื่อกลุ่มคนเหล่านี้ออกมาแล้วจะมีความปลอดภัยหรือไม่อย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่ต้องทำ โดยดูแลความปลอดภัยทั้ง 80 คน สิ่งที่ทำมา 7 ปี นี่ถือว่าเป็นการเริ่มต้น อีกฝ่ายต้องการสู้ให้รุนแรงมากขึ้น เราต้องใช้ความอดทนและอดกลั้นกับยุทธวิธีที่เกิดขึ้น” ผบ.ทบ.กล่าว
เมื่อถามว่า 80 คนที่มอบตัวเป็นตัวจริงหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เรื่องนี้ได้มีการตรวจสอบแล้ว ซึ่งทั้ง 80 คนมีรายชื่อใน ป.วิอาญา และรายชื่อในทำเนียบกำลังรบผู้ก่อความไม่สงบที่กองทัพได้จัดทำขึ้น ทุกอย่างต้องมาพิสูจน์กันว่าใช่หรือไม่ใช่ เพื่อแสดงความจริงใจต่อกัน อย่าไปกังวล ถ้าไม่ใช่ก็ไม่ใช่ แต่ถ้าไม่ใช่กลุ่มคนเหล่านี้จะมาให้จับทำไม ยืนยันว่าเราทำงานตามหลักการ และจะต้องตรวจสอบให้ละเอียด ที่ผ่านมาตรวจสอบยากเพราะจะต้องมีการตรวจสอบว่ากลุ่มคนเหล่านี้รู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือไม่ ถูกหลอกจริงหรือไม่ หรือคดีจบไปแล้ว ทำจริงหรือไม่ ทุกอย่างต้องตรวจสอบก่อนที่จะนำไปสู่กระบวนการแก้ไขปัญหา ขั้นตอนทำให้ช้า จึงทำให้กลุ่มก่อเหตุไม่มั่นใจเรื่องความปลอดภัย จึงได้ดึงเวลามาเรื่อยๆ กลุ่มก่อความไม่สงบพยายามใช้ความรุนแรงฆ่าทั้งคนไทยพุทธและมุสลิมต้องการให้เกิดปัญหาของคนสองกลุ่มให้ขัดแย้งกัน ทำให้มีการโยนกันไปมา
เมื่อถามว่า หากมีการเปลี่ยนตัวแม่ทัพภาคที่ 4 ขณะนี้จะส่งผลกระทบต่อการแก้ไขปัญหาภาคใต้หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่มีปัญหา การทำงานของกองทัพบกทำงานกันด้วยระบบไม่ได้ทำงานด้วยตัวบุคคล ตัวบุคคลเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อน ถ้าเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถก็จะสามารถขับเคลื่อนองค์กร หน่วยงานเดินไปข้างหน้าด้วยความรวดเร็ว แต่ใครที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นแม่ทัพภาคที่ 4 ตนคิดว่าเขามีความสามารถ เหมือนกับตนที่ไม่ได้มีความเก่งกาจอะไร แต่ตนขึ้นมาถึงจุดนี้ได้ก็จะต้องขับเคลื่อนหน่วยงานข้างล่างให้ได้ ถ้าตนทำไม่ดีคนใหม่ก็มาทำต่อให้ดีขึ้น ไม่มีใครทำได้ดีที่สุด แต่ทั้งหมดไม่ใช่ตนคนเดียว ตนสั่งการไปที่แม่ทัพภาคที่ 4 ทางแม่ทัพภาคที่ 4 ก็จะสั่งไปที่รองแม่ทัพเพื่อสั่งการไปใน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า สั่งคน 68,000 กว่าคนในการทำงาน ไม่ใช่ว่าเช้านี้จะทำอะไรเหมือนพยาธิในท้องพอตื่นขึ้นมาคนกินอะไร พยาธิก็กินตามเข้าไป ซึ่งทหารไม่ใช่พยาธิ ทหารทำงานตามแผนงาน และแผนยุทธศาสตร์ประจำทุกวัน ไม่ใช่เอาทหารลงไปในพื้นที่วันนี้แล้วแล้วไปนอนรอเป็นพยาธิตอนเช้าตื่นมาแล้วถามว่าต้องทำอะไร ซึ่งมันไม่ใช่