xs
xsm
sm
md
lg

กอ.รมน.ภาค 4 สน.ก้นร้อน!! ร่อนหนังสือแจง “ศปก.จชต.” ไม่ทับซ้อน “กปต.”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “กอ.รมน.ภาค 4 สน.” ร่อนแถลงการณ์ชี้แจงกรณี “คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กปต.)” และ “ศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ (ศปก.จชต.)” ไม่ซ้ำซ้อน
 
วันนี้ (27 ส.ค.) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ได้ส่งหนังสือที่ระบุว่าเป็น “บทแถลงข่าว” ถึงสื่อมวลชนเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่อง “คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้” หรือ “กปต.” และ “ศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้” หรือ “ศปก.จชต.” โดยมีเนื้อหาสำคัญดังนี้
 
ตามที่ได้เกิดสถานการณ์การก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ.๒๕๔๗ โดยสถานการณ์ความไม่สงบผู้ก่อเหตุรุนแรง ได้กระทำในหลายรูปแบบที่มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตตามปกติของประชาชน รวมถึงแนวทางการปฏิบัติการของข้าราชการ ซึ่งรัฐบาลไทยได้มีการปรับปรุงแนวทาง การปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับปัจจัยเงื่อนไขมีความซับซ้อนในพื้นที่มาตามลำดับ โดยเฉพาะตั้งแต่ปีงบประมาณ ๒๕๕๕ เป็นต้นไป รัฐบาลไทยได้เล็งเห็นปัจจัยปัญหาสำคัญที่เป็นจุดอ่อนสมควรแก้ไขเร่งด่วน คือ การขาดส่วนงาน หรือหน่วยงานที่ลงมารับผิดชอบโดยตรง
 
ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานได้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลไทยโดยมติของคณะรัฐมนตรีเมื่อ ๔ พฤษภาคม ๒๕๕๕  ให้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบาย และยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นกลไกระดับสูง ทำหน้าที่ในการอำนวยการ สั่งการ กำกับ ติดตาม ประสานการปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เกิดเอกภาพขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาร่วมกันของทุกฝ่าย
 
แต่เนื่องจากสถานการณ์ในพื้นที่มีการพัฒนา และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงมีความจำเป็นที่ต้องเพิ่มเติมการบริหารจัดการของรัฐบาล ให้มีกลไกซึ่งสามารถทำหน้าที่ในการติดตามสถานการณ์ ปฏิบัติตลอดจนแก้ไขและคลี่คลายสถานการณ์ให้กลับไปสู่ปกติโดยเร็ว คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ใช้ชื่อย่อว่า “ศปก.จชต.” โดยในด้านโครงสร้าง และการบรรจุบุคลากรนั้นได้ข้อยุติแล้วเป็นส่วนใหญ่
 
แต่ทั้งนี้เนื่องจากตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๕ ที่ผ่านมา ได้ปรากฏเป็นความสงสัย และมีบางส่วนงานได้มีการหารือพร้อมทั้งได้แสดงข้อคิดเห็นรวมถึงมีการคัดค้านในการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ “ศปก.จชต.” นั้น
 
กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า ในฐานะเป็นหน่วยรับผิดชอบพื้นที่ซึ่งมีส่วนรับทราบ และรู้เห็นแนวทางการดำเนินงานทั้งทางเปิด และปิดของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงมาตั้งแต่อดีต อีกทั้งในสถานะจะเป็นส่วนงานรับผิดชอบโดยตรงต่อผลการปฏิบัติด้านความมั่นคง อันจะมีผลต่อการปรับปรุงรูปแบบองค์กรที่เกิดขึ้นจากมติของคณะรัฐมนตรี จึงขอชี้แจงทำความเข้าใจต่อแนวทางความริเริ่มที่จะเกิดขึ้นดังต่อไปนี้
 
ประการที่ ๑ ปัญหาการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเนื้อแท้แล้วมิได้เป็นปัญหาแต่เฉพาะประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่เป็นปัญหาโดยส่วนรวมของประเทศ เนื่องจากจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นส่วนหนึ่งของดินแดนประเทศไทยที่ต้องมีส่วนรับทราบรู้เห็นโดยประชาชนทั่วทั้งประเทศ รวมถึงคณะรัฐมนตรีที่เป็นผู้แทนเป็นส่วนหนึ่งของประชาชนชาวไทยที่มีส่วนรับผิดชอบต่อการดำเนินการในทุกรูปแบบเพื่อแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนการรับฟังข้อมูลความคิดเห็นของประชาชน หรือกลุ่มบุคคลที่มีพันธะผูกพันอยู่ในพื้นที่ดั้งเดิมนั้น เป็นสิ่งมีประโยชน์ และความสำคัญยิ่ง ใช้เป็นองค์ประกอบในการพิจารณาร่วมด้วยเช่นกัน
 
ประการที่ ๒ ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาที่มีประวัติศาสตร์ สาเหตุการเกิดมาเป็นระยะเวลายาวนาน จึงจำเป็นต้องใช้ระยะเวลา การแก้ไขปัญหาไม่สามารถดำเนินการแก้ไขให้ได้ผลสรุป หรือยุติได้ภายในระยะเวลาสั้น โดยปัญหาในทำนองนี้หลายประเทศที่เคยประสบก็ล้วนแต่ต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวิธีการในการแก้ไขจนบรรลุผล เช่นเดียวกับรัฐบาลไทยที่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีการ ที่เกิดจากการสำรวจจุดอ่อนอันเป็นผลให้ข้อบกพร่องที่ผ่านมาว่าจุดไหน หรือส่วนไหนที่สมควรแก้ไขอย่างเร่งด่วน ในเวลาต่อมา จึงได้มีแนวนโยบายจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ “ศปก.จชต.” เพื่อมุ่งเน้นถึงการแก้ไขปัญหาด้วยการบูรณาการ และความรวดเร็วเป็นหลัก
 
ประการที่ ๓ ลักษณะการปฏิบัติงานที่ทำไมจึงต้องมี “ศูนย์ปฏิบัติการ” เนื่องจากการจัดตั้งองค์กรเพื่อแก้ไขปัญหาใดๆ ก็แล้วแต่โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาระดับชาติของรัฐบาลไทย นอกจากจะมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย ในรูปแบบของคณะกรรมการแล้ว จะมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่แปลงนโยบายให้เป็นแผนงาน/โครงการในรูปแบบของคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงาน หลังจากนั้นจึงมีหน่วยปฏิบัติที่ทำหน้าที่นำแผนงาน/โครงการไปปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยอาจมีการจัดตั้งหน่วยที่รับผิดชอบ ควบคุม ในภาคปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายทันเวลา และเกิดประสิทธิผล ซึ่งสามารถกำหนดชื่อเรียกได้ตามความเหมาะสมรวมถึงคำว่า “ศูนย์ปฏิบัติการ” ดังเช่นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
 
หน่วยปฏิบัติก็คือ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า หรือ “กอ.รมน.ภาค ๔ สน.” และศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จะทำหน้าที่เป็นส่วนกลางระหว่างหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย คือ คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่โดยข้อเท็จจริงจะไม่สามารถเดินทางลงมาติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาได้ตลอดเวลาได้
 
ดังนั้น ศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้  จึงเป็นหน่วยงานพวกเราจะติดตาม ควบคุมการปฏิบัติของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า และกองอำนวยการ บริหาร รายการ จังหวัด ชายแดนภาคใต้จะเป็นหน่วยงานที่อยู่ย่านกลาง ในการประสานนโยบายเจตนารมณ์ตลอดทั้งความห่วงใยจากระดับนโยบาย คือ รัฐบาลมาสู่หน่วยปฏิบัติในพื้นที่ที่จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
 
ประการที่ ๔ ภายในโครงสร้างของศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ (ศปก.จชต.) นอกอาจจะมีหน่วยงานที่มีหน้าที่ติดตามสถานการณ์ ปฏิบัติงานด้านความมั่นคงอันเป็นส่วนหนึ่งแล้ว จะมีหน่วยงานติดตามสถานการณ์ การปฏิบัติงานด้านคุณภาพชีวิต และสิทธิมนุษยชนจำนวนมาก เช่น กลุ่มงานพัฒนาคุณภาพชีวิต และโครงสร้างพื้นฐาน, กลุ่มงานอำนวยความยุติธรรม/ภัยแทรกซ้อน ที่จะดูแลด้านยาเสพติด, กลุ่มงานสิทธิมนุษยชน/สร้างความเข้าใจ, กลุ่มงานสนับสนุนการสร้างสภาวะที่เกื้อกูลต่อการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้ง โดยจะมีผู้แทนจากกระทรวงเข้ามาเป็นคณะทำงาน
 
ดั้งนั้น จึงเห็นได้ว่า ศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีบุคคลซึงประกอบไปด้วย ผู้แทนจากทุกกระทรวง ทบวง กรม อันหลากหลาย ที่จะต้องติดตามการปฏิบัติงานในแขนงงานที่ตนเองรับผิดชอบ โดยมีผู้ชี้ขาดปัญหาใดที่ได้รับการนำไปปฏิบัติอย่างถูก หรือผิด รวดเร็ว หรือล่าช้า โดยองค์คณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ มีรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มิใช่ฝ่ายความมั่นคงเป็นผู้ชี้ขาด หรือสั่งการแต่ประการใด
 
ประการที่ ๕ แนวการแก้ไขปัญหาของศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อน การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเน้นการบูรณาการและความรวดเร็วในการแก้ไขปัญหา โดยในด้านของการรองรับผลสำเร็จต่อการสั่งการนั้น ยังคงเป็น รองนายกรัฐมนตรี (ในฐานะ ผอ.ศปก.จชต.) หรือผู้ที่รองนายกรัฐมนตรี (ในฐานะ ผอ.ศปก.จชต.) มอบหมาย ทั้งนี้ในส่วนของคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กปต., คณะกรรมการอำนวยการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จะรับผิดชอบติดตามสถานการณ์ และควบคุมการปฏิบัติของกองอำนวยการบริหารรายการจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ที่จะรับผิดชอบติดตามสถานการณ์ ควบคุมการปฏิบัติของ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในส่วนหน้า นั้นยังอยู่ภายใต้การสนั่งการของนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารรายการจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าศูนย์ปฏิบัติการการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นหน่วยงานที่ปฏิบัติงานที่มีวัตถุประสงค์มุ่งเน้นเร่งการบูรณาการ, เพิ่มความรวดเร็วของการปฏิบัติ โดยผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า และเลขาธิการศูนย์บริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จำต้องรับฟังแนวนโยบาย และการสั่งการโดยนายกรัฐมนตรีเป็นสำคัญ
 
สุดท้ายนี้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า จึงขอให้หน่วยงาน/ส่วนงาน ที่มีความสงสัยในแนวทางการดำเนินงานของคณะรัฐมนตรี อันเกี่ยวข้องกับคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบาย และยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กปต. และศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา จังหวัดชายแดนใต้ หรือ ศปก.จชต. ได้เคารพในความคิดเห็นส่วนรวม และพิจารณาถึงความรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหา ในนามรัฐบาลไทย และคณะรัฐมนตรียังคงถือว่าความคิดเห็นของทุกภาคส่วน หน่วยงาน ส่วนงาน ยังคงเป็นข้อพิจารณาอันสำคัญในการนำไปประกอบการขับเคลื่อน การปฏิบัติงานของศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น