“นายกฯ ยิ่งลักษณ์” ประกาศสู้ศึกซักฟอกด้วยต้วเอง พร้อมชี้แจงทุกประเด็นโดยไม่ต้องมีการตั้ง “องครักษ์พิทักษ์ปู” ส่วนการปรับ ครม.รอดูการอภิปรายไม่ไว้วางใจก่อน ยันไม่ทบทวนเรื่องรับจำนำข้าวแม้จะมีทุจริตอื้อ อ้างนโยบายดีแต่มีปัญหาในทางปฏิบัติ ส่วนสถานการณ์ใต้ยังไม่ถึงขึ้นประกาศเคอร์ฟิว ระบุมีกฎหมายพิเศษใช้อยู่แล้ว
วันนี้ (7 ส.ค.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ฝ่ายค้านประกาศยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า ตนก็มีหน้าที่ในการชี้แจง ซึ่งจะได้ถือโอกาสนี้ชี้แจงประชาชนด้วย และก็พร้อมที่จะชี้แจงด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรที่เกี่ยวข้องกับนโยบายก็ยินดีให้ความร่วมมือในการชี้แจง
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมอบหมายให้รัฐมนตรีคนใดชี้แจงเพิ่มเติมหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่ทราบว่าญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะยื่นมีประเด็นอะไร และหากมีเรื่องการทุจริตเข้ามาด้วยก็ต้องตรวจสอบ เพราะรัฐบาลเองก็ไม่สนับสนุนให้มีเรื่องอย่างนี้เกิดขึ้นอยู่แล้ว และที่ผ่านมารัฐบาลก็ได้มอบหมายให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ไปเป็นประธานตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันอยู่ และถือเป็นนโยบายรัฐบาลที่ไม่อยากเห็นเรื่องนี้อยู่แล้ว
ส่วนจะมีการตั้งทีมองครักษ์พิทักษ์นายกฯ ขึ้นมาหรือไม่นั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ไม่หรอก ทุกอย่างก็ทำงานให้เป็นไปตามกลไกของระบอบรัฐสภา เมื่อถามว่า ขณะนี้ได้มีการกำหนดวันแถลงผลงานรัฐบาลครบรอบ 1 ปีหรือยัง นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ขอรวบรวมข้อมูลให้ครบถ้วนก่อน แต่ยืนยันมีอยู่แล้ว และยืนยันว่าตั้งใจที่จะชี้แจงให้ทราบถึงผลงานรัฐบาลที่ได้ทำมา
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการทบทวนนโยบายรับจำนำข้าวที่มีปัญหาอยู่หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในส่วนของนโยบายใหญ่รัฐบาลยังเชื่อว่าเป็นนโยบายที่ดี สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้ และเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร แต่ยอมรับว่าอาจมีปัญหาในทางปฏิบัติซึ่งก็ต้องลงไปตรวจสอบว่าเป็นปัญหาขั้นตอนการปฏิบัติอย่างไร ทั้งนี้ที่ทำมาพยายามรับข้อห่วงใยและข้อท้วงติงของทุกภาคส่วน รวมถึงกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ลงไปดูหลายๆ สิ่งที่ทุกคนเป็นห่วง
ผู้สื่อข่าวถามว่า ภายหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจจะมีการปรับคณะรัฐมนตรีหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่ายังไม่ทราบ ต้องรอดูในช่วงนั้นก่อน แต่ตอนนี้ยังไม่มี
น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังกล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ระบุว่าปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เวลานี้เป็นการสู้รบแบบกองโจร จะกลายเป็นยกระดับปัญหาสู่ระดับสากลว่า ขออนุญาตอย่าพูดประเด็นนี้ เพราะความจริงแล้วปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน สิ่งที่รัฐบาลดำเนินการในเรื่องของยุทธศาสตร์นั้น เรายืนยันที่จะทำตามยุทธศาสตร์ที่มีการแถลงไว้ต่อรัฐสภา ซึ่งก็ถือว่าเป็นการบูรณาการที่ครบอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเราจะมาเสริมในส่วนของการปฏิบัติงานเพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพ และรวดเร็วในการปฏิบัติงานมากกว่า และที่ได้มีการมอบให้ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการในการขับเคลื่อน ตอนนี้ก็ยังเป็น พล.อ.ยุทธศักดิ์เหมือนเดิม แต่มีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้เพื่อการขับเคลื่อนการทำงานให้เป็นเอกภาพ และทำให้เกิดความเข้าใจในการทำงาน ซึ่งต้องเพิ่มหน่วยงาน
“จริงๆ แล้วการบูรณาการมีอยู่แล้ว เพียงแต่เราเพิ่มให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทยเข้ามาช่วย เพราะการแก้ไขปัญหาไม่ได้มีแต่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงมหาดไทย, ศอ.บต., สตช. เข้าไปดูแลความมั่นคง และความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งก็จะมี 3 กระทรวงหลักที่เป็นแม่งาน ส่วนกระทรวงอื่นๆ ก็จะช่วยในส่วนของการสนับสนุน โดยจะมีการคุยหารือกันในรายละเอียดในเชิงของการปฏิบัติงาน และเรายินดีที่จะรับฟังความคิดเห็นแม้จะเป็นของทางฝ่ายค้านเองด้วย เพราะว่ารู้จักพื้นที่ ก็ยินดีที่จะรับฟังทั้งหมด เนื่องจากวาระนี้ถือเป็นวาระแห่งชาติที่เราจะต้องช่วยเหลือดูแลความปลอดภัย และความสงบของพี่น้องประชาชน”
ส่วนที่มีการมองกันว่าการใช้รองนายกฯ ถึง 3 คนแก้ไขปัญหาจะไม่มีความเป็นเอกภาพนั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า จริงๆ แล้วที่ผ่านมาการสื่อสารอาจจะไม่ตรงกัน แต่การทำงานเป็นเอกภาพอยู่แล้ว มีรองนายกฯ ที่รับตรงมอบหมายตรงเพียงท่านเดียวคือ พล.อ.ยุทธศักดิ์ แต่เราเสริมรองนายกฯ เข้ามาทำงานเพื่อเสริมการทำงานของ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ไม่ใช่เป็นการแบ่งการทำงาน ทุกอย่างยังเหมือนเดิม แต่เรียกว่าเป็นการบูรณาการแบบวันสตอปเป็นจุดศูนย์รวม เพราะว่าจะทำให้คล้ายกับลักษณะที่ทำในเรื่องของการปราบปรามยาเสพติด ในการทำงานเป็นคณะบูรณาการร่วมกัน แต่ว่าในส่วนของการทำงานสั่งการต่างๆ ก็จะผ่านศูนย์ปฏิบัติงาน ซึ้งในพื้นที่ต้องเรียนว่ามีกฎหมายอยู่แล้ว มีการทำงานอยู่ 2 ส่วน คือ ศอ.บต.และ กอ.รมน. ซึ่งเราต้องการการทำงานที่สัมพันธ์กัน และวันนี้สองส่วนนี้จะต้องมาทำงานร่วมกัน ซึ่งเป็นกฎหมายมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ใครจะเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจหากเกิดเหตุการณ์ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ก็อยู่ที่อำนาจของแต่ละท่าน อยู่ที่ระดับการตัดสินใจ ถ้าเป็นระดับพื้นที่เองซึ่งเป็นแม่ทัพภาคที่ 4 ท่านก็เป็นประธานอยู่แล้ว ดังนั้นเรื่องทุกอย่างอยู่ที่ระดับการตัดสินใจในการทำงาน
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการหารือเรื่องการประกาศเคอร์ฟิวบางพื้นที่ในภาคใต้หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ยังค่ะ เพราะตรงนี้เป็นเรื่องของการปฏิบัติงาน จริงๆ แล้วก็คุยกันถึงเรื่องที่มีการสำรวจศึกษา แต่ยังไม่ถึงขั้นที่เราจะตัดสินใจประกาศ เราจะต้องหารือกับสภาความมั่นคงแห่งชาติก่อน เราจะยังไม่ทำอะไรในขั้นตอนบุ่มบ่าม เพราะเราเองก็ต้องดู แต่ในวันพุธที่ 8 ส.ค.ที่จะมีการหารือกันในขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อให้เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่ปฏิบัติ เนื่องจากการแก้ไขปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ประกอบไปด้วยหลายกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นต้องให้ทุกกระทรวงมีความเข้าใจในบทบาท และแนวทางขั้นตอนการทำงานอย่างชัดเจน เพราะมิฉะนั้นยิ่งมีเหตุการณ์ต่างๆ เราไม่ได้รับการบูรณาการเป็นเอกภาพก็จะทำให้การตัดสินใจยาก และการเสริมทำงานร่วมทำงานในพื้นที่ และการให้กำลังใจประชาชนเป็นเรื่องที่ต้องทำควบคู่กันไป
ผู้สื่อข่าวถามว่า สถานการณ์ขณะนี้รุนแรงถึงขั้นต้องนำกฎหมายพิเศษมาใช้หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ขอยังไม่วิเคราะห์ไปถึงตรงนั้น ขอทำความเข้าใจในรายละเอียด และฟังจากหน่วยปฏิบัติการมากกว่า