เผยที่ประชุม ครม. นายกฯ ขอบคุณทุกฝ่ายร่วมจัดงานนิทรรศการน้ำ เปิดเว็บไซต์ข้อมูลน้ำให้ติดตาม มอบ “ฐานิสร์” เยียวยาผู้ประสบภัยแล้ง ย้ำทดสอบระบายน้ำ ต้องไม่กระทบ เผยไทยเป็นเจ้าภาพร่วมเกาหลีซ้อมแผนบรรเทาภัยพิบัติปี 56 อีกด้านไฟเขียว BECL ร่วมลงทุนทางด่วนศรีรัช-วงแหวนฯ 3.2 หมื่นล. พร้อมเห็นชอบให้เอกชนร่วมพัฒนาที่ดินสยามสแควร์ตรงข้ามโนโวเทลในรูปแบบอาคารสูง
วันนี้ (4 ก.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ศันสนีย์ นาคพงศ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ก่อนเริ่มการประชุมคณะรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ขอบคุณคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ที่ให้ความร่วมมือในการจัดงานนิทรรศการ “มุ่งมั่น ทำงาน บริหารจัดการน้ำ เพื่อประชาชน” ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 ส.ค.-3 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยงานดังกล่าวได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ดังนั้นจึงต้องขอขอบคุณที่ทุกคนช่วยกันทำงานอย่างเข็มแข็ง
พร้อมกันนั้นยังได้แจ้งคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการดูแลเรื่องของน้ำได้ใช้แนวทางการบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และหลักการ 2 พี 2 อาร์ คือ เรื่องของการป้องกัน การเตรียมการ การรับมือ และการฟื้นฟู สำหรับในเรื่องของการเตรียมความพร้อมทางนายกรัฐมนตรีได้สั่งให้กระทรวงมหาดไทย ได้ตั้งศูนย์บัญชาการส่วนหน้าในท้องถิ่นต่างๆ และได้แจ้งให้ทราบว่า เรื่องของการบริหารจัดการน้ำก็ได้มีหน่วยงานของ กบอ.ได้ร่วมกับกรมป้องกันบรรเทาและสาธารณภัย ภายใต้ พ.ร.บ.ป้องกันบรรเทาสาธารณภัย ที่ได้มีการปรับการทำงานเพื่อความร่วมมือของ 2 หน่วยงาน
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้แจ้งให้ทราบว่า ได้มีการเปิดเว็บไซต์เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลการบริหารจัดการน้ำ มีชื่อว่า www.water4thai.go.th ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลเรื่องน้ำ ซึ่งมีความจำเป็นที่ต้องมีข้อมูลที่ทันสมัย ซึ่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องจัดเจ้าหน้าที่เฉพาะนำเสนอข้อมูลที่ทันต่อสถานการณ์และเป็นปัจจุบัน ทั้งนี้ ยังสามารถดาวโหลดเป็นแอพพลิเคชั่นผ่านโทรศัพท์ที่สามารถรองรับได้
น.ส.ศันสนีย์กล่าวอีกว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังได้มอบให้คณะกรรมการ กบอ.ประสานงานกับทางกระทรวงมหาดไทย เฝ้าระวังพื้นที่ในภาคเหนือ โดยเฉพาะลุ่มน้ำยมและลุ่มแม่น้ำน่าน จากนั้นได้มอบให้นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้ไปประชุมกับนายปลอดประสพ สุรัสวดี ในฐานะประธาน กบอ. กับทางผู้ว่าราชการจังหวัดที่ประสบภัยแร้ง จำนวน 8 จังหวัด โดยมี 4 จังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ 4 จังหวัดในภาคใต้ มารายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ทราบถึงผลการประชุมได้ผลเป็นอย่างไร
โดยนายนิวัฒน์ธำรงได้รายงานโดยสรุปว่า ที่ผ่านมานั้นไม่ถือว่าเป็นภัยแล้ง แต่เรียกว่าเป็นฝนทิ้งช่วง เพราะว่าภัยแล้งจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดือน ก.พ.- มี.ค.ของทุกปี ดังนั้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ เป็นช่วงที่จะปลูกพืชทดแทนก็ไม่ได้ เพราะถ้าฝนทิ้งช่วงฝนไม่ตก ก็จะทำให้เสียหายมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ฝนทิ้งช่วงก็เริ่มคลี่คลาย โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งในส่วนพืชผลที่เสียหายไปนั้น ทางการก็จะจัดให้มีการชดเชยความเสียหายให้ ซึ่งได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า ตามระเบียบของกระทรวงการคลังในปัจจุบัน ก็จะชดเชยให้ในราคา 600 บาทเศษต่อไร่ สรุปได้ว่าสำหรับปัญหาเรื่องของฝนทิ้งช่วงน่าจะหมดไปในเดือน ก.ย.หรือต้นเดือน ต.ค.
น.ส.ศันสนีย์กล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรียังได้มอบให้นายฐานิสร์ เทียนทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ดูเรื่องการช่วยดูแล ฟื้นฟู เยียวยา ผู้ประสบภัยฝนทิ้งช่วงด้วยและย้ำว่าขอให้ช่วยกันป้องกันดูแลน้ำในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะทางหน่วยงาน กบอ.ที่ได้ฝากให้ดูแลเป็นพิเศษ และได้มอบให้ทางประธาน กบอ.ดูเรื่องของการทดสอบการระบายน้ำในคลองทางตะวันออก และตะวันตก คือ ทางคลองลาดพร้าว และทางคลองทวีวัฒนา ที่กำลังจะดำเนินการในวันที่ 5 ก.ย.และ 7 ก.ย. โดยการดำเนินการขอให้คำนึงเรื่องความเรียบร้อยเป็นหลัก ไม่ส่งผลกระทบความเดือดร้อนต่อประชาชน ซึ่งทางนายปลอดประสพ ก็ได้แจ้งให้ทราบว่า เรื่องของการเฝ้าระวังนั้น ก็กำลังไปตั้งศูนย์ในการคอยเฝ้าดูแลที่ทำการกรุงเทพมหานคร
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีกล่าวทิ้งท้ายถึงเรื่องความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ โดยเป็นการเร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทราบว่าขณะนี้ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี ได้จัดการประชุมไปแล้ว ในส่วนของงานพัฒนาที่หน่วยงาน กระทรวงต่างๆ จะต้องรับผิดชอบตามแผนงาน 29 ข้อ ของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ก็ขอให้เร่งส่งมาให้ พล.อ.ยุทธศักดิ์ เพื่อที่จะนำไปสู่การดำเนินงานต่อไป โดย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ก็ได้ระบุว่า ในวันที่ 7 ก.ย. กำลังจะมีการประชุมหารือแก้ไขปัญหาในพื้นที่ภาคใต้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและ ส.ส.ภาคใต้ เพื่อจะสอบถามความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ในสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ เพื่อนำมาประกอบในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาพื้นที่ภาคใต้ต่อไป
นอกจากนี้ น.ส.ศันสนีย์กล่าวว่า ครม.เห็นชอบให้ประเทศไทยดำเนินการเป็นเจ้าภาพร่วมกับสาธารณรัฐเกาหลีในการฝึกซ้อมการบรรเทาภัยพิบัติในกรอบการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum-ARF) ครั้งที่ 3 โดยมอบหมายให้กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักโดยประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องตามที่กระทรวงต่างประเทศเสนอภายในวงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 ในส่วนของงบกลางรายการใช้จ่ายในการเยียวยา ฟื้นฟู และป้องกันการเสียหายจากอุทกภัย (120,000 ล้านบาท) ทั้งนี้ส่วนค่าใช้จ่ายของสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.)
น.ส.ศันสนีย์กล่าวต่อว่า ครม.มีมติเมื่อวันที่ 10 ก.ค. ให้ทบทวนจำนวนเงิน 164.94 ล้านบาท ขอให้กระทรวงต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำหน่วยงานงบประมาณ โครงการ และกิจกรรม รวมทั้งแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อเสนอขอจัดสรรงบประมาณตามขั้นตอนและตามความเห็นของสำนักงานงบประมาณ
ด้าน นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการรายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกเอกชนร่วมงาน หรือดำเนินโครงการทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ที่มีการปรับแก้ร่าง 9 เรื่องตามที่สำนักงานอัยการสูงสุดได้พิมพ์ยกร่างขึ้นใหม่
ทั้งนี้ ยังได้เห็นชอบตามที่คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกเอกชนร่วมงานหรือดำเนินโครงการทางพิเศษ สายศรีรัช-วงแหวนรอบบนอกกรุงเทพมหานคร เสนอให้บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีอีซีแอล เป็นเอกชนร่วมลงทุนโครงการดังกล่าว โดยมีกรอบวงเงินการลงทุนก่อสร้างโครงการ จำนวน 24,417 ล้านบาท และวงเงินลงทุนสำหรับการบริหารจัดการให้บริการและบำรุงรักษา จำนวน 8,399 ล้านบาท รวมเป็นเงินลงทุน 32,816 ล้านบาท โดยมีระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี และมีระยะเวลาออกแบบก่อสร้าง 48 เดือน และการกำหนดอัตราค่าผ่านทางเมื่อเริ่มเปิดให้บริการแล้วจะปรับเพิ่มอัตราค่าผ่านทางทุก 5 ปี และให้การทางการพิเศษแห่งประเทศไทย ลงนามในสัญญากับผู้ร่วมทุนได้ทันที
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการให้เอกชนร่วมงานในโครงการพัฒนาที่ดินบริเวณพื้นที่สยามสแควร์บางส่วน (อาคารกลุ่ม L) ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ ทั้งนี้ ที่ดินบริเวณพื้นที่สยามสแควร์บางส่วน (อาคารกลุ่ม L) มีเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ 2 งาน 28.75 ตารางวา (7,315 ตารางเมตร) ตั้งอยู่บริเวณลานจอดรถที่ 4 ตรงข้ามโรงแรมโนโวเทล ใกล้ทางออกถนนอังรีดูนังต์ของศูนย์การค้าสยามสแควร์ ด้านเหนือติดสยามสแควร์ซอย 7 ด้านใต้ติดสยามสแควร์ซอย 64 ด้านตะวันออกติดถนนอังรีดูนังค์ และด้านตะวันตกติดสยามสแควร์ซอย 8 เพื่อประกอบกิจการเชิงพาณิชย์ในรูปแบบอาคารสูง ซึ่งเป็นไปตามผังแม่บทการพัฒนาสยามสแควร์ เพื่อนำรายได้ที่เกิดขึ้นไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินกิจกรรมด้านการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย