นายกรัฐมนตรีกล่าวในงานเปิดการประชุมเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ทั่วโลก เผยรัฐบาลประสบความสำเร็จ กลับเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตยหลังเลือกตั้ง การแก้ไขปัญหาอุทกภัย และการมีบทบาทนำมากยิ่งขึ้นในเวทีอาเซียนและภูมิภาค ชี้การเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนมองถึงเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เน้นบทบาท “กต.-เอกราชทูต-กงสุลใหญ่” เพราะเป็นหน้าด่านประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ไทย วอนช่วยผลักดันให้ก้าวหน้าเป็นรูปธรรม
เมื่อเวลา 09.00 น. ที่วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีถวายรายงานพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และมอบนโยบายด้านการต่างประเทศ ในการเปิดการประชุมเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ทั่วโลก ประจำปี 2555 ซึ่งการประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกนับแต่รัฐบาลชุดปัจจุบันบริหารประเทศ โดยมีเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ไทยจากทั่วโลกรวม 97 แห่งเดินทางมาเข้าร่วมเพื่อรับฟังนโยบาย โดยพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เอกอัครราชทูต ทรงเข้าร่วมการประชุมในฐานะเอกอัครราชทูตและองค์ประธานคณะกรรมาธิการว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรม และความยุติธรรมทางอาญาแห่งสหประชาชาติในครั้งนี้ด้วย
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอประทานกราบทูลพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ถวายรายงานในเรื่องแนวนโยบายต่างประเทศของรัฐบาล และแนวทางที่รัฐบาลประสงค์ให้เอกอัครราชทูต หัวหน้าคณะผู้แทนถาวรของไทยและกงสุลใหญ่ไทยดำเนินการ ว่า การต่างประเทศในปัจจุบันมีความท้าทายมากกว่าในอดีต จึงมีความจำเป็นที่ผู้ทำงานต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับบริบท และสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทั้งในระดับภูมิภาค และระดับโลก ทำให้บทบาทของกระทรวงการต่างประเทศ เอกอัครราชทูต หัวหน้าคณะผู้แทนถาวรของไทย และกงสุลใหญ่ ในฐานะด่านหน้ามีความสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งในด้านการเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของไทย การส่งเสริมความร่วมมือกับนานาประเทศในด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม การส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การแลกเปลี่ยน เรียนรู้แนวความคิดและแนวปฏิบัติในด้านต่างๆ กับนานาชาติ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาข้ามชาติ ตลอดจนการนำเสนอแนวความคิดใหม่ๆ ที่จะนำไปสู่ความก้าวหน้าทั้งของประเทศไทยและของโลก ภารกิจของประทรวงการต่างประเทศมีความสำคัญและหนักหนาสาหัส การดำเนินนโยบายต่างประเทศจึงต้องเป็นเชิงรุกมากขึ้นรอบด้าน และตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การบริหารงานในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาลถือว่าประสบความสำเร็จในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ โดยรัฐบาลได้เร่งฟื้นฟูความสัมพันธ์และพัฒนาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านและนานาประเทศ เป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วน ซึ่งที่ผ่านมามีผลลัพธ์ที่น่าพอใจ ความสัมพันธ์ของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านมีความแน่นแฟ้น ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด และมีนัยสำคัญ โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึง การเดินทางเยือนต่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา กว่า 19 ประเทศ และการเข้าร่วม 5 การประชุมพหุภาคี รวมถึงการต้อนรับบุคคลสำคัญต่างๆ ที่มาเยือนประเทศไทย ในการนี้ผู้นำประเทศต่างๆ ได้เน้น 3 ประเด็นหลักเกี่ยวกับประเทศไทย ได้แก่ 1. การแสดงความยินดีกับการที่ประเทศไทยกลับเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตย ภายหลังการเลือกตั้ง ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความมั่นใจเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมืองและความคืบหน้าในการสร้างความปรองดองในชาติประเด็นที่ 2 ความชื่นชมความสำเร็จของประเทศไทยในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในปีที่ผ่านมาและความเชื่อมั่นในความแข็งแกร่งของพื้นฐานเศรษฐกิจของไทย ซึ่งบริษัทข้ามชาติหลายบริษัท ทั้งจากญี่ปุ่น จีน และยุโรป ได้แสดงความพร้อมที่จะเพิ่มการลงทุนในประเทศ และ 3. การส่งเสริมและสนับสนุนให้ประเทศไทยมีบทบาทนำมากยิ่งขึ้นในเวทีอาเซียนและภูมิภาค โดยเฉพาะในเรื่องการสร้างประชาคมอาเซียนที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงและการสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาค ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการยอมรับของประชาคมระหว่างประเทศต่อประเทศไทยและรัฐบาล
นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงการยอมรับของประชาคมระหว่างประเทศต่อประเทศไทยและรัฐบาลไทย และการจับตาจากประชาคมโลกถึงสถานการณ์ความมั่นคงและเสถียรภาพภายในประเทศ หากทุกอย่างพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น การต่างประเทศของไทยจะได้รับการตอบสนองและการสนับสนุนมากขึ้นจากนานาประเทศ สำหรับการสร้างเสถียรภาพและความก้าวหน้าภายในประเทศ รัฐบาลได้ยึดหลักระบอบประชาธิปไตยในการบริหารประเทศอย่างแท้จริง และมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาทางการเมืองโดยใช้กลไกของรัฐสภา ทั้งนี้ หากเรื่องใดกระทบกับประชาชนในวงกว้าง ก็อาจจะต้องใช้การจัดเสวนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นส่วนใหญ่ของประชาชน เพื่อให้การเมืองมีความโปร่งใส ชัดเจน สามารถสร้างความเข้าใจและยอมรับในความคิดเห็นที่แตกต่าง เมื่อประชาชนมั่นใจและร่วมมือร่วมใจ ก็จะทำให้ประเทศไทยเดินหน้าต่อไปได้ และการส่งเสริม สนับสนุนสตรี โดยจัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีขึ้น เพื่อยกระดับบทบาทองค์สตรี ให้ได้รับความเสมอภาคในการมีส่วนร่วมพัฒนาประเทศในทุกๆ ด้าน
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ประเทศไทยจะต้องรีบดำเนินการ โดยหน่วยงานของไทยจะต้องพิจารณาถึงจุดแข็งจุดอ่อน ข้อได้เปรียบ-ข้อเสียเปรียบของไทยทั้ง 3 เสาความร่วมมือของอาเซียน กล่าวคือเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมแลการเมืองความมั่นคง และวางแผนเพื่อเสริมจุดแข็งและแก้ไขจุดอ่อน อีกทั้งพิจารณาถึงการส่งเสริมความเชื่อมโยง (connectivity) และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจในเชิงรุก รัฐบาลจะยังคงให้ความสำคัญกับการกระชับความสัมพันธ์กับมิตรประเทศ มุ่งหาตลาดใหม่สำหรับการค้า การลงทุน เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการไทยขยายไปต่างแดน ซึ่งความสำเร็จในการดำเนินการของภาคเอกชน คือกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้ รัฐบาลยังสนับสนุนการผลักดันการดำเนินนโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก เพื่อที่จะมีส่วนช่วยสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทย
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในการดำเนินการทุกๆ ด้านขอให้พยายามผลักดันให้มีความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรมให้ได้มากที่สุด โดยบทบาทของกระทรวงการต่างประเทศ เอกอัครราชทูต หัวหน้าคณะผู้แทนถาวรของไทย และกงสุลใหญ่ในฐานะด่านหน้าของไทยอยู่ในต่างประเทศ นับว่ามีความสำคัญ นอกจากจะช่วยผลักดันผลประโยชน์ของชาติในเวทีโลก ยังสร้างความก้าวหน้าของต่างประเทศ และสามารถนำข้อมูลกลับมาเสนอแนะ เพื่อการพัฒนาและปรับปรุงประเทศของเราได้ในแง่มุมต่าง ๆ อาทิ การบริหารจัดการน้ำและป้องกันภัยพิบัติ และเพื่อให้การดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทยมีเอกภาพและประสิทธิภาพจึงมีการทำงานร่วมกันภายใต้หลักการทีมประเทศไทย (Team Thailand) มีการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับทุกหน่วยราชการและกับภาคเอกชนของไทย เพื่อให้การทำงานของประเทศไทยในด้านการต่างประเทศมีลักษณะเป็นบูรณาการมากยิ่งขึ้น