xs
xsm
sm
md
lg

"โภคิน" แนะพท.รอบคอบ จวกศาลรธน.ตีความผุดกม. "อ๋อย" หนุนแก้ม.68 ก่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายโภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา (แฟ้มภาพ)
เพื่อไทยเสวนาบทบาทนิติบัญญัติ "โภคิน" จี้แจง 3 ภารกิจ แนะแก้อย่างมีดุลยภาพ จวกศาลรธน.ตีความสร้างกฏหมายเอง แนะพรรครอบคอบ "จาตุรนต์" โวยจุ้นการทำงาน ซัดเพิ่มเขี้ยวเล็บวินิจฉัยได้ทุกมาตรา แนะทำรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยจะพ้นวิกฤติได้ หนุนแก้ ม.68 เพื่อชำเราทั้งฉบับ แนะแก้ประชามติให้เสียงข้างมากชนะพอ "อุดมเดช" ชี้มี 2 ทาง ทำประชามติหรือแก้รายมาตรา "สุนัย" โวยย้ำต้องลงวาระ 3

วันนี้ (28 ก.ค.) ที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ จอมเทียน พัทยา เมื่อเวลา 14.00 น. มีการเสวนา“บทบาทด้านนิติบัญญัติ : การพัฒนาประชาธิปไตยและการสร้างความปรองดองแห่งชาติ” โดยนายโภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา กล่าวว่า สิ่งที่ต้องทำเร่งด่วนคือ การให้ประชาชนเข้าใจภารกิจ 3 ด้านคือ ความขัดแย้ง ความไม่เป็นธรรม การแก้รัฐธรรมนูญ ทั้งสามปัญหานี้ต้องแก้อย่างมีดุลยภาพ มีจังหวะเวลาเหมาะสม ถ้าไม่แก้ให้มีดุลยภาพจะสะสมความขัดแย้งไปเรื่อยๆจนอาจเกิดกลียุค ส่วนตัวคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญก้าวล่วงเข้ามาในอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ ใช้จินตนาการตัดสิน หากไม่ต่อสู้กับวิธีตีความเช่นนี้เป็นอันตรายต่อประเทศ เท่ากับศาลสร้างกฎหมายได้เอง โดยอาศัยการตีความ ส่วนตัวแม้จะเห็นว่าการลงมติวาระ 3 ไม่ผิดกฎหมาย แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดความสับสนไม่เข้าใจ หากไปผลีผลามทำอะไร ไม่เป็นผลดี ต้องใจเย็น ทำให้รอบคอบ ไม่เสียหาย

ด้านนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าวว่า ปัญหาใหญ่สุดของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญคือ การนำมาตรา 68 เรื่องการล้มล้างการปกครองมาตรวจสอบการแก้รัฐธรรมนูญของรัฐสภาที่ทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ เป็นการแทรกแซงการทำงานฝ่ายนิติบัญญัติ โดยอ้างประชาชนมายกอำนาจให้ตัวเองเหนือกว่าฝ่ายนิติบัญญัติ ศาลรัฐธรรมนูญได้เพิ่มเขี้ยวเล็บเป็นกงจักรสังหารที่สามารถวินิจฉัยได้ทุกมาตราในรัฐธรรมนูญ หากจะให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย พ้นวิกฤต ก็ต้องทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นประชาธิปไตย หากกติกาไม่เป็นประชาธิปไตย ก็ไม่มีทางเกิดความปรองดองได้ อย่างไรก็ตามการจะเดินหน้าลงมติวาระ 3 ต้องคำนึงถึงผลทางการเมืองที่จะตามมา และต้องถามว่า จะมีเสียงส.ส.และส.ว.เกินครึ่งหรือไม่ ส่วนการใช้วิธีคาร่างรัฐธรรมนูญวาระ 3 ไว้เฉยๆ เห็นว่าทำไม่ได้ เพราะเห็นว่า เป็นการขัดมาตรา 291 ที่ต้องมีการโหวตลงมติร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านวาระ 1 และ 2 แล้ว ขณะที่การแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา คงต้องแก้หลายสิบหรือเป็นร้อยมาตราเป็นอย่างน้อย คงใช้เวลา 9 ปี ซึ่งเป็นไปไม่ได้นั่นเอง แต่ถ้าแก้ไขเป็นบางมาตราคิดว่า น่าสนใจเช่น แก้มาตราที่เป็นอุปสรรคต่อการแก้รัฐธรรมนูญได้แก่ มาตรา 68

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ส่วนคำแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญเรื่องการลงประชามติก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ที่ผ่านมาศาลไม่เคยให้ความเห็นในเชิงแนะนำแก่ใคร แต่ครั้งนี้กลับมาให้คำแนะนำ ซึ่งเป็นเรื่องน่าสนใจ เพราะการทำประชามติโดยที่ยังไม่รู้ว่าจะแก้อะไร เป็นเรื่องแปลกประหลาด ที่สำคัญตอนทำประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญปี 50 ก็ไม่มีเงื่อนไขระบุเหมือนมาตรา 165 ที่กำหนดให้ต้องมีจำนวนผู้มาออกเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง ทำไมการทำประชามติรัฐธรรมนูญปี 50 จึงไม่ใช้เงื่อนไขนี้เช่นกัน ส่วนตัวเห็นว่า หากจะแก้ไขเรื่องการทำประชามติก็ควรแก้ไขเป็นใช้เสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิเพียงอย่างเดียว

ขณะที่นายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า มองว่าเดินหน้าลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 จะได้เสียงสมาชิกรัฐสภาถึง 325 คนหรือไม่ แต่รับรองได้ว่า ไม่มีทางได้เสียงถึง 399 เสียงเหมือนเดิมแน่ ทางออกในขณะนี้มีสองทางคือ การทำประชามติไม่ว่าจะก่อนหรือหลังการยกร่างรัฐธรรมนูญ กับ การแก้ไขเป็นรายมาตรา เมื่อได้ข้อสรุปอย่างไรก็จะนำไปหารือกันในงานเลี้ยงพรรคร่วมรัฐบาลวันที่ 31 พ.ค.ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ โดยก่อนจะมีงานเลี้ยงจะเชิญแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลมาหารือเรื่องแนวทางการแก้รัฐธรรมนูญก่อน ส่วนเรื่องพ.ร.บ.ปรองดองนั้น ยืนยันชัดเจนว่า ในการเปิดประชุมสภาสมัยสามัญ วันที่ 1 ส.ค.นั้น ประธานรัฐสภาบอกแล้วว่าเป็นการเรียกประชุมวาระพิเศษ โดยไม่มีการนำเรื่องพ.ร.บ.ปรองดองทั้ง 4 ฉบับ บรรจุในวาระ จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะระดมคนมาประท้วงคัดค้านสร้างความเดือดร้อน

จากนั้นนายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นถามถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยกล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขเป็นรายมาตรา เพราะไม่ตรงกับเจตนารมณ์ที่เราตั้งไว้ตั้งแต่แรก ดังนั้นส่วนตัวคิดว่า การแก้รัฐธรรมนูญต้องเดินหน้าลงมติวาระ 3 ต่อไป วันนี้ขอให้ที่ประชุมมีมติออกมาก่อนได้หรือไม่ว่า ในเบื้องต้นเราจะเดินหน้าเรื่องนี้ต่อไป ขณะที่นายโภคิน ชี้แจงว่า หากดูคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้รอบคอบแล้วจะเห็นถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต อยากให้ทุกคนควรทำความเข้าใจคำวินิจฉัยให้ดี ส่วนการแก้รัฐธรรมนูญหากจะค้างไว้ก่อน ก็ไม่น่าจะเป็นอะไร เพราะอย่าลืมว่า จะต้องมีจำนวนเสียงที่โหวตในวาระ 3 อีก ซึ่งไม่รู้ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร เพราะหลายฝ่ายยังกังวลอยู่
กำลังโหลดความคิดเห็น