xs
xsm
sm
md
lg

“ธีรเดช” พร้อมรับคำตัดสินคดีขึ้นเงินเดือน - จี้ฟัง ปชช.ก่อนแก้ รธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา
“ประธานวุฒิฯ” เตรียมขึ้นศาลฟังคำพิพากษาคดีขึ้นเงินเดือนตนเอง ยันไม่กังวลหลุดจากตำแหน่ง พร้อมเชื่อฟังคำตัดสิน สะกิดนักการเมืองดูโพลก่อนแก้ รธน. พร้อมเผยร่าง รธน.ภูฏานใช้มา 4 ปีไร้ปัญหา เหตุฟังเสียง ปชช. ศึกษาข้อดีข้อเสียประเทศอื่นถึงลงประชามติ

วันนี้ (23 ก.ค.) พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีที่มีผู้ยื่นฟ้อง ในสมัยดำรงตำแหน่งประธานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา คดีขึ้นเงินเดือนตนเอง ในวันที่ 25 ก.ค.นี้ว่า ตนจะเดินทางไปรับฟังคำพิพากษาด้วยตนเอง ส่วนตัวไม่มีความกังวลใดๆ เพราะประเด็นการพิจารณาคดีดังกล่าวเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม และเป็นไปตามกระบวนการปกติ ส่วนคำพิพากษาจะให้ถือเป็นความผิดและได้รับโทษถึงขั้นหลุดออกจากตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ ก็แล้วแต่คำพิพากษา

ประธานวุฒิสภายังกล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ว่า อยากให้นักการเมืองที่จะแก้รัฐธรรมนูญรับฟังความเห็นของประชาชนที่ออกมาจากการทำโพล เพราะตนเชื่อว่าโพลที่ออกมาจากหลายสำนักและตรงกันนั้นเป็นสิ่งชี้วัดได้ว่าคนส่วนมากต้องการอะไร ซึ่งตนเชื่อว่าในที่สุดแล้วการตัดสินใจเรื่องใด ต้องฟังเสียงส่วนใหญ่ คือ เสียงของประชาชน

“นักการเมืองคือคนที่มีความคิดรักประเทศชาติ เหมือนประชาชนทุกคน ดังนั้นหากอยากให้บ้านเมืองเดินหน้าไปด้วยความเรียบร้อย สงบสุข การรับฟังเสียงคนเส่วนมากเป็นปัจจัยที่สำคัญ ที่จะนำไปสู่ความสงบเรียบร้อยได้” พล.อ.ธีรเดชกล่าว

ประธานวุฒิสภากล่าวต่อว่า สำหรับการเดินทางไปราชการที่ประเทศภูฏานเมื่อสัปดาห์ก่อน ได้มีโอกาสพบปะนักการเมืองของประเทศ เช่น นายกฯ, ประธานศาลฎีกา, ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานที่ปรึกษา ซึ่งมีฐานะเทียบเท่ากับวุฒิสภา โดยได้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นในทางการเมืองหลายประเด็น โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญของประเทศภูฏาน ซึ่งเป็นฉบับแรกและประกาศใช้ กว่า 4 ปี โดยประธานศาลฎีกา ในฐานะประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ เล่าว่า เดิมประชาชนไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการเปลี่ยนแปลงจากการปกครองสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไปเป็นการปกครองที่พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ แต่ทางองค์พระมหากษัตริย์ได้เสด็จชี้แจงให้กับประชาชนรับฟังด้วยพระองค์เอง โดยขอให้ตัวแทนจากบ้านละ 1 คนมารับฟัง หลังจากรับฟังคำชี้แจง ชาวบ้านเห็นด้วย จึงเกิดการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้น โดยเป็นการศึกษารัฐธรรมนูญจากหลายประเทศ ทั้งข้อดี ข้อเสีย รวมถึงการรับฟังแนวคิดของนักปรัชญาระดับโลก และเมื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ ได้นำไปให้ประชาชนในประเทศลงประชามติอีกครั้ง อย่างไรก็ตามจากการมีรัฐธรรมนูญในประเทศภูฏาน เป็นเวลา 4 ปีแล้วนั้น พบว่ารัฐธรรมนูญบังคับใช้ด้วยความเรียบร้อย
กำลังโหลดความคิดเห็น