xs
xsm
sm
md
lg

“เพื่อไทย” เรียกประชุมพรรคจันทร์นี้ ย้อนศรศาลเล็งแก้ ม.68 บีบฟ้องอัยการอย่างเดียว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย (ภาพจากแฟ้ม)
รองโฆษกเพื่อไทยแถลงข่าวถึงท่าทีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ยังข้องใจผู้ร้องยื่นต่อศาลโดยตรง อ้างต้องยื่นผ่านอัยการสูงสุดเพื่อกลั่นกรอง เหน็บศาลไปฟ้องกันเป็นพันเรื่องไม่เหนื่อยหรือ เล็งแก้ ม.68 บีบให้ฟ้องอัยการอย่างเดียว อ้างจะได้ชัดเจน เตรียมเรียกประชุมพรรควันจันทร์นี้ เผย 3 ทางออก เดินหน้าลงมติวาระ 3 ทำประชามติ และแก้ไขเป็นรายมาตรา ก่อนรองประธานสภาเรียก 246 ส.ส.หารือ


วันนี้ (14 ก.ค.) ที่พรรคเพื่อไทย นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงว่า พรรคเพื่อไทยได้หารือภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ไม่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง โดยเห็นว่าการร้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ผู้ร้องยังต้องยื่นผ่านอัยการสูงสุด ก่อนส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ไม่อย่างนั้นเกิดความวุ่นวายแน่นอน เพราะหากใครเป็นรัฐบาลเกิดมีฝ่ายตรงข้ามอยากจะเตะถ่วงดึงเกม แล้วหากไปร้องกันเป็นพันเรื่อง ศาลรัฐธรรมนูญจะทำงานไหวหรือไม่ เราจึงคิดว่าต้องยื่นอัยการสูงสุดเพื่อกลั่นกรองก่อน

ทั้งนี้ พรรคยังไม่เห็นด้วยที่ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาพิจารณาในมาตรา 291 เพราะการยกร่างหรือการแก้ไขมาตราดังกล่าวไม่ได้ระบุว่า ต้องทำประชามติก่อนยกร่างรัฐธรรมนูญ อีกทั้งรัฐธรรมนูญปี 50 ก็ยกร่างเรียบร้อยแล้ว จึงค่อยทำประชามติ ซึ่งสวนทางกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ พรรคเพื่อไทยยังเห็นว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมีความสับสน เพราะศาลไม่กล้าฟันธงโดยใช้คำว่า ควรลงประชามติ ซึ่งคำว่า “ควร” ต้องตีความตามกฎหมาย เพราะไม่มีสภาพบังคับใช้ตามกฎหมาย ไม่แน่ใจว่าคำว่า “ควร” จะต้องทำหรือไม่ทำ อย่างไรก็ตามเราจะทำตามบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ

ส่วนความเห็นของศาลนั้น ต่อไปพรรคเพื่อไทยจะเรียกประชุมในวันที่ 16 ก.ค. ซึ่งขณะนี้มี 3 ทางออก คือ การเดินหน้าลงมติร่างรัฐธรรมนูญวาระ 3 ต่อไป, การทำประชามติ เพราะมาตรา 291 ไม่ได้ระบุว่าต้องทำประชามติ และ การแก้ไขเป็นรายมาตรา ซึ่ง ส.ส.หลายคนแสดงความเห็นว่า หากจะแก้รายมาตราก็ควรแก้มาตรา 68 เป็นมาตราแรก เรื่องอำนาจที่ประชาชนที่ต้องร้องตรงต่อศาล ซึ่งตนจะเสนอให้แก้ว่าการยื่นตามมาตราดังกล่าวต้องทำผ่านอัยการสูงสุดเท่านั้น ไม่สามารถยื่นโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ จะได้มีความชัดเจน ส่วนตัวเห็นว่าการแก้ไขเป็นรายมาตราเป็นทางออกที่ดีที่สุด โดยเฉพาะมาตราที่เกี่ยวกับองค์กรอิสระที่มีปัญหา ส่วนการเดินหน้าลงมติวาระ 3 คงไม่เหมาะ เพราะสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ยังไม่ปกติ ขณะที่การทำประชามติก็สิ้นเปลืองงบประมาณ นอกจากนี้ ในวันที่ 17 ก.ค. นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้เรียกประชุม ส.ส. 246 คน ของพรรคเพื่อไทยในฐานะผู้ถูกร้อง เพื่อหารือว่า ส.ส.จะดำเนินการอย่างไรกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกัน ประธานวุฒิสภาก็จะเรียกประชุม ส.ว. เพื่อหารือในเรื่องดังกล่าวเอง

นายจิรายุกล่าวอีกว่า พรรคได้ติดตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญยังพบความผิดปกติในตลาดหลักทรัพย์ ตั้งแต่เวลา 13.00 น. ที่ดัชนีหุ้นตกลงไปเกือบ 20 จุด เพราะศาลรัฐธรรมนูญไปอ่านคำวินิจฉัยเกือบเวลา 15.00 น. แต่พออ่านคำวินิจฉัยจบ ตลาดหุ้นก็ดีดขึ้น 12 จุด ซึ่งพบว่ามีกลุ่มการเมืองบางกลุ่มไปช้อนซื้อหุ้นอสังหาริมทรัพย์และพลังงานลอตใหญ่ในช่วงเวลาดังกล่าวจำนวนมากผ่านโบรกเกอร์ โดยอาจมีการวางแผนปล่อยข่าวการยุบพรรค แล้วมาช้อนซื้อหุ้น ขอให้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ไปตรวจสอบด้วย มีคนได้ประโยชน์จากการช้อนซื้อหุ้นในช่วงเวลาดังกล่าวหรือไม่ เพราะทราบว่ามีนอมินีนักการเมืองบางคนไปจดกระดานหลักทรัพย์และซื้อหุ้นลอตใหญ่ในช่วงหุ้นตก
กำลังโหลดความคิดเห็น