xs
xsm
sm
md
lg

ส.ส.ร.50 แจง ม.68 ยื่นตรงศาล รธน.ได้ ชี้ ม.291 เขียนชัดให้ปรับปรุงไม่ใช่ยกร่างใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ชมรม ส.ส.ร.50” ร่อนแถลงการณ์แจงเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ยัน ม.68 ห้ามล้มล้างชัด ไม่ใช่แค่ปฏิวัติรัฐประหาร ชี้ยื่นศาล รธน.ตรงก็ได้สอดคล้องตามสิทธิพิทักษ์กฎหมาย ระบุ ม.291 เขียนให้รัฐสภาแก้เพื่อปรับปรุงไม่ใช่ยกร่างใหม่ ลั่นไม่มีเจตนาให้ ส.ส.ร.ผุดฉบับใหม่ แต่ยันพร้อมรับคำวินิจฉัยศาล

วันนี้ (4 ก.ค.) ชมรม ส.ส.ร.50 ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 68 และมาตรา 291 โดยมีเนื้อหาว่า จากสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันที่มีข้อโต้แย้งและตีความเกี่ยวกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชการอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 68 และมาตรา 291 นั้น ชมรม ส.ส.ร.50 ในฐานะผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 จึงขอแถลงการณ์ถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และมาตรา 291 ดังต่อไปนี้

1. มาตรา 68 วรรคแรก มีเจตนาที่จะห้ามบุคคลใช้สิทธิในการการล้มล้างรัฐธรรมนูญฯ ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติรัฐประหาร หรือการใช้อำนาจเผด็จการทางรัฐสภา หรือรูปแบบอื่นใด

2. มาตรา 68 วรรคสอง มีเจตนาที่จะให้สิทธิแก่บุคคลในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ โดยการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้สองทาง คือยื่นผ่านสำนักงานอัยการสูงสุด และยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง ทั้งนี้ เพื่อให้สิทธิในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญของบุคคล มีลักษณะกว้างขวาง และไม่ถูกจำกัด หรือถูกยับยั้งโดยองค์กรใดๆ รวมทั้งสำนักงานอัยการสูงสุด โดยนัยดังกล่าวนี้ การรับคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 68 วรรคสอง จึงสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550

3. มาตรา 291 ได้กำหนดเจตนารมณ์ไว้ชัดเจนว่า ต้องการให้รัฐสภาใช้เป็นช่องทางในการแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญ โดยกระบวนการทางรัฐสภา และเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ที่กำหนดไว้ในมาตรา 291 นี้เท่านั้น และไม่มีเจตนาที่จะให้รัฐสภาใช้เป็นช่องทางในการล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 โดยยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และประกาศใช้แทนรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 อีกทั้งไม่มีเจตนาที่จะให้สมาชิกรัฐสภา คือสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา มอบอำนาจการแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 ไปให้ผู้ใดหรือองค์กรใด หรือแม้กระทั่งการจัดตั้ง ส.ส.ร.ชุดใหม่ ดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยไม่ผ่านกระบวนการทางรัฐสภา

ทั้งนี้ ชมรม ส.ส.ร.50 ขอเป็นกำลังใจแก่ศาลรัฐธรรมนูญในการทำหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยคำร้อง และขอน้อมรับผลการวินิจฉัยของศาลที่จะเกิดขึ้นทุกประการ
กำลังโหลดความคิดเห็น