xs
xsm
sm
md
lg

“พิชาย” ตีความตามตัวอักษรมาตรา 68 ชี้ชัดประชาชนยื่นศาล รธน.เองได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“พิชาย” ตีความตามตัวอักษรมาตรา 68 ชี้ชัดประโยค “ผู้ทราบการกระทำมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริง และยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย” หมายความว่าประชาชนต้องยื่นทั้ง 2 ที่ แต่ถ้ากฎหมายให้อัยการสูงสุดเป็นคนยื่นศาล ต้องเติมคำว่า “อัยการสูงสุด” หลังคำว่า “และ” เพื่อเป็นประธานของประโยคใหม่


วันที่ 7 มิ.ย. รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองคณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวในรายการ “คนเคาะข่าว” ทางสถานีโทรทัศน์ ASTV ช่วงหนึ่งว่า มาตรา 68 ดูเจตนารมณ์ก่อน อยู่ในหมวดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ชื่อก็บอกแล้วว่าต้องให้สิทธิเสรีภาพประชาชน แล้วก็อยู่ในส่วนที่ว่าด้วยการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ในรัฐธรรมนูญก็เขียนไว้ชัดว่าประชาชนมีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญในมาตราถัดมาด้วย เมื่อประชาชนทราบหรือเห็นเหตุการณ์อะไรที่จะส่งผลเสียต่อรัฐธรรมนูญ ประชาชนก็ย่อมมีสิทธิยื่นเรื่องเหล่านี้ต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยตรง

และจริงๆ แล้วสิทธิของประชาชน ถ้าตีความตามตัวอักษรที่เขียนในรัฐธรรมนูญ ตามหลักภาษาไทยเลย ในวรรคสองเขียนว่า “ผู้ทราบการกระทำดังกล่าว” อันนี้เป็นประธานของประโยค “ย่อมมีสิทธิเสนอ” นี่เป็นกริยา “ให้อัยการสูงสุด” อันนี้เป็นกรรม “ตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้อง” คำว่า “และ” เป็นคำเชื่อม คำเชื่อมในประโยคเดียวกัน ปกติกริยาหลังคำเชื่อมอันนี้ต้องเป็นกริยาที่ประธานของประโยคเป็นผู้ทำ หมายถึงประชาชนที่ทราบการกระทำต้องเป็นผู้ยื่นคำร้องด้วย

ฉะนั้น ตามความของประโยคนี้ “ประชาชนผู้ทราบการกระทำ” 1. คือ ยื่นให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วมีมูล อัยการสูงสุดก็อาจจะฟ้องกฎหมายอาญา พ.ร.บ.ความมั่นคงก็ได้ หรืออัยการสูงสุดจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกทีก็ได้ และในขณะเดียวกัน ประชาชนนอกจากจะมีสิทธิเสนอให้อัยการสูงสุดแล้ว ยังมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยด้วย

เพราะอย่าลืมว่าอันนี้มันเชื่อมด้วยคำว่า “และ” และในประโยคนี้ต้องมีประธานคนเดียว เพราะถ้าจะให้อัยการทำต้องเปลี่ยนรูปประโยคใหม่ เป็น “ผู้ทราบการกระทำยื่นเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริง และให้อัยการสูงสุดพิจารณาข้อเท็จจริงนั้น หากมีมูลให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย” หมายความว่าต้องเปลี่ยนให้อัยการเป็นประธานของประโยคใหม่

อย่างที่ นายวรินทร์ เทียมจรัส (ผู้ยื่นคำร้องขอให้ศาล รธน.พิจารณาตามมาตรา 68) อ่านแล้วตีความถูกเลย คือยื่นทั้งสองอัน เพราะคำว่า “และ” หมายความว่าต้องยื่นทั้งสอง ฉะนั้นรัฐธรรมนูญก็เห็นชัด เอาไปให้อาจารย์ภาษาไทยคนไหนก็ตีความแบบตน


กำลังโหลดความคิดเห็น