“สมศักดิ์” เปิดประชุมรัฐสภารับทราบคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญแล้ว อดีตปธ.กมธ.แก้รธน.ยันคำสั่งไม่มีผลต่อสภา ปัดแก้เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง ลั่นตุลาการแทรกแซงนิติบัญญัติไม่ได้ ต้องทำให้เป็นบรรทัดฐาน ด้านผู้ยื่นคำร้องวินิจฉัย ซัดอัยการสูงสุดถ่วงเวลาไม่ทำหน้าที่ตามกฎหมาย ยัน ม.68 ยื่นศาลเลยได้ เป็นไปตามเจตนารมณ์ ส.ส.ร.จี้ชะลอออกไปจนกว่าจะมีคำพิพากษา ระบุเลื่อนไปชาติก็ไม่เสียหาย
วันนี้ (8 มิ.ย.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 10.30 น. นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ได้เปิดการประชุมรัฐสภาเพื่อรับทราบคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ กรณีศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ทั้งนี้ นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะอดีตประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 อภิปรายว่า รัฐสภาต้องดำเนินการบางประการเพื่อให้เกิดบรรทัดฐาน เพราะศาลรัฐธรรมนูญจะผูกพันรัฐสภาได้อย่างเดียวก็ต่อเมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยอย่างเป็นทางการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 216 ซึ่งกรณีเป็นเพียงคำสั่งศาลเท่านั้น จึงไม่มีผลผูกพันแต่อย่างใด
“ที่ผ่านมาถูกกล่าวหามาตลอดว่ากำลังแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนรูปแบบการปกครองของรัฐทั้งที่ข้อเท็จจริงไม่ใช่อย่างนั้น เพราะรัฐสภาได้ยึดหลักการที่ถูกต้องมาตลอด ศาลรัฐธรรมนูญจะเข้ามาแทรกแซงฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นหนึ่งในอำนาจอธิปไตยไม่ได้ ถ้ารัฐสภาไม่ดำเนินการอะไรให้เป็นบรรทัดฐานต่อไปก็เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ต่อไปอีก” นายสามารถกล่าว
ด้าน นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะหนึ่งในผู้ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กล่าวว่า การทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญเพราะอัยการสูงสุดไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญปล่อยให้เวลาผ่านไปนานมาก และเพิ่งจะมาดำเนินการเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. หากศาลรัฐธรรมนูญไม่มีคำสั่งออกมาก็หมายความว่ารัฐสภาคงได้ลงมติไปแล้ว
“ยืนยันว่าสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 เป็นของประชาชนส่วนหนึ่งด้วยผ่านการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญนอกเหนือไปจากการยื่นอัยการสูงสุดเพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของสภาร่างรัฐธรรมนูญ และการพิจารณาคุ้มครองของศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นไปอย่างถูกต้องแล้ว เพราะการใช้อำนาจตามข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. 2550 เพื่อคุ้มครองชั่วคราวถือว่าถูกต้องเนื่องจากในรัฐธรรมนูญมาตรา 300 กำหนดว่าในระหว่างที่ไม่มี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญให้ศาลรัฐธรรมนูญออกข้อกำหนดใช้เป็นการอนุโลมไปก่อนได้” นายวิรัตน์กล่าว
นายวิรัตน์กล่าวว่า รัฐสภาควรชะลอการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ออกไปก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย เพราะในความเป็นจริงถ้ารอการลงมติออกไปประเทศชาติก็ไม่ได้เกิดความเสียหายแต่อย่างใด