xs
xsm
sm
md
lg

ศาล รธน.ย้ำสั่งสภาชะลอลงมติวาระ 3 เป็นไปตาม ม.68 ถือเป็นการใช้อำนาจในเชิงป้องกัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์
โฆษกศาล รธน. แย้งเพื่อไทยตีความเข้าข้างตัวเอง ย้ำ ม.68 ให้สิทธิ ปชช. ยื่นฟ้องกรณีสภารับพิจารณา เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อศาลได้โดยตรง ชี้คำวินิจฉัยที่ให้สภาชะลอการลงมติไว้ก่อน ก็จะไม่เกิดผลเสียหาย ถือเป็นการใช้อำนาจในเชิงป้องกันไม่ใช่การแก้ไข

วันนี้ (4 มิ.ย.) นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะทีมโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีที่นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษพรรคเพื่อไทย ระบุว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณา เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้พิจารณานั้นเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ เพราะการรับคำร้องดังกล่าวศาลรัฐธรรมนูญจะต้องรับคำร้องจากอัยการสูงสุดเท่านั้น ว่า เป็นการตีความของโฆษกพรรคเพื่อไทยเอง แต่ถ้าได้อ่านเอกสารของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.จะชัดเจนว่าคณะตุลาการได้ตีความรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ไว้ว่า ประชาชนสามารถใช้สิทธิในเรื่องนี้ผ่าน 2 ช่องทาง คือผ่านทางอัยการสูงสุดและยื่นโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งจากคำให้สัมภาษณ์ ของประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ก็ได้บอกชัดเจนแล้วว่าคณะตุลาการฯ เห็นว่ามีอำนาจที่จะรับไว้พิจารณา

เมื่อถามว่า หลายคนเห็นว่าคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญที่มีไปถึงรัฐสภาให้มีการระงับการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ก่อนจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยไม่ผูกพันรัฐสภานั้น และสภาจะเดินหน้าประชุมรับร่างในวาระ 3 วันที่ 12 มิ.ย.นั้น นายพิมลกล่าวว่า เรื่องนี้ก่อนที่คณะตุลาการจะมีหนังสือไปยังสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนฯ ก็ได้มีการพูดคุยกันและพิจารณาแล้วว่า การชะลอการรับร่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ก่อน ไม่ได้เกิดความเสียหาย ซึ่งส่วนตัวเองเห็นว่า หากรัฐสภาเดินหน้าประชุมต่อ ก็ต้องรับผิดชอบกับผลที่จะเกิดขึ้นอย่างที่ตุลาการได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ และยังบอกไม่ได้ว่าถ้ามีการดำเนินการอย่างนั้นจริงศาลจะมีท่าทีอย่างไร เนื่องจากเหตุการณ์ยังไม่เกิดขึ้น แต่คิดว่าตุลาการฯ คงจะต้องมีการหารือกัน

นายพิมลยังกล่าวถึงการตั้งข้อสังเกตว่า ศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณาเรื่องนี้ค่อนข้างเร็ว ว่า ส่วนตัวมองถึงสภาพแวดล้อมทางการเมือง และสภาพปัญหาที่จะเกิดขึ้นว่าเรารอได้หรือไม่ และได้ชี้แจงไปก่อนแล้วว่า การใช้อำนาจของคณะตุลาการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 เป็นการใช้อำนาจในเชิงป้องกันไม่ใช่การแก้ไข ซึ่งการรับเรื่องไว้พิจารณาหรือไม่นั้น เป็นดุลพินิจของคณะตุลาการฯ รวมถึงต้องพิจารณาว่า เป็นไปตามข้อกำหนดวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีการกำหนดว่าเรื่องประเภทใดต้องพิจารณาจะรับหรือไม่รับภายในระยะเวลาเท่าใดนับแต่มีการยื่นคำร้องเข้ามา ซึ่งปกติเมื่อเรื่องเข้ามายังสำนักงานฯ แล้วก็จะมีการแต่งตั้งตุลาการฯ ประจำคดี ว่าควรรับหรือไม่รับไว้พิจารณาวินิจฉัย หากเห็นว่าสมควรรับ ก็ดำเนินการต่อ ถ้าเห็นว่าไม่ควรรับก็เสนอให้ที่ประชุมคณะตุลาการฯ พิจารณา แต่ในกรณีคำร้องเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ใช้อำนาจตามข้อกำหนดวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ และได้ให้ตุลาการทั้งหมดเป็นตุลาการประจำคดี คือทั้งองค์คณะช่วยกันพิจารณา ว่าจะรับหรือไม่ เพราะเรื่องนี้ท่านเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งการพิจารณาลักษณะเช่นนี้ก็เคยทำในกรณีการพิจารณาพระราชกำหนด, ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ และกรณีขอให้ตรวจสอบความถูกต้องของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ

“ทุกครั้งที่จะมีการประชุม คณะตุลาการฯ ท่านก็จะมีการพูดคุยแสดงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์บ้านเมืองทุกครั้ง โดยค่อนข้างกังวล” นายพิมลกล่าว

เมื่อถามว่า การรับเรื่องไว้พิจารณาของศาลทำให้ถูกมองว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจทำให้ทหารเข้ามาทำรัฐประหารเร็วขึ้น นายพิมลกล่าวว่า คงไม่ใช่เช่นนั้น เพราะการที่เราจะดำเนินการอะไรก็ระมัดระวังอยู่แล้ว ศาลมีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญก็ไม่อยากให้ทหารเข้ามา
กำลังโหลดความคิดเห็น