xs
xsm
sm
md
lg

ศาล รธน.แจง อสส.เป่าคดีล้มล้างการปกครอง ไม่ตัดอำนาจศาลตาม ม.68

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ศาลรัฐธรรมนูญ” ออกเอกสารแจงหลัง อสส.ชี้แก้รัฐธรรมนูญ ม.291 ไม่เป็นการล้มล้างฯ ทำให้เห็นได้ว่า ข้อความที่ว่า “และยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ” ตามรัฐธรรมนูญ ม.68 วรรคสอง ทำให้ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้โดยตรง สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ระบุขั้นตอนการทำหน้าที่ต่างกัน และการวินิจฉัยของอัยการไม่เป็นการตัดอำนาจศาล

วันนี้ (8 มิ.ย.) สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้ออกเอกสารข่าวชี้แจงทำความเข้าใจต่อกรณีที่อัยการสูงสุดไม่รับคำร้องเรื่องที่มีผู้เสนอเรื่องต่ออัยการสูงสุดว่ามีบุคคลหรือพรรคการเมืองกระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่า สำนักงานฯ เห็นว่า ความเห็นของอัยการสูงสุดดังกล่าว ทำให้เห็นได้ว่า ข้อความที่ว่า “และยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ” ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคสองนั้น เป็นข้อความที่ใช้กับผู้ทราบถึงการกระทำตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคหนึ่ง มิใช่ข้อความที่ใช้บังคับอัยการสูงสุด

กล่าวคือ เมื่ออัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว อัยการสูงสุดสามารถใช้อำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 ที่จะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก็ได้ ดังนั้น ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวจึงมีสิทธิ 2 ประการ คือ 1. มีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริง และ 2. มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยตรงได้ ซึ่งสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ส่วนที่ 13 ว่าด้วยสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ที่ระบุชัดเจนว่าสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญเป็นสิทธิของชนชาวไทย จึงมิใช่อำนาจของอัยการสูงสุดแต่เพียงผู้เดียว

ทั้งนี้ การปฏิบัติหน้าที่ของอัยการกับศาลนั้นแตกต่างกัน กล่าวคือ อัยการต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงเสียก่อนแล้วจึงใช้ดุลพินิจว่าจะยื่นฟ้องหรือยื่นคำร้องต่อศาลหรือไม่ ส่วนการปฏิบัติหน้าที่ของศาลนั้น ต้องรับคำฟ้องหรือคำร้องให้เป็นคดีก่อน จากนั้นจึงพิจารณาพยานหลักฐานของทุกฝ่าย

ดังนั้น การทำหน้าที่ของอัยการจึงเป็นคนละส่วนกับอำนาจของศาล และไม่เป็นการตัดอำนาจของศาลในการที่จะรับคำร้องของผู้ที่มีสิทธิยื่นคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย
กำลังโหลดความคิดเห็น