xs
xsm
sm
md
lg

ออกกม.ฟัน“นิติบุคคล”รุกเกาะ ให้อำนาจข้าราชการไล่ผู้บุกรุก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รายงานข่าวแจ้งว่า วานนี้ (17 เม.ย.) ครม.เห็นชอบ ตามที่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.. เนื่องจากปัจจุบันการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งยังไม่เป็นเอกภาพ ขาดการบูรณาการและการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนในท้องถิ่น และได้มีการบุกรุกหรือเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและเสื่อมโทรม ประกอบกับกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันยังไม่มีความครอบคลุมเพื่อคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลฯ ในบางพื้นที่ จึงสมควรมีกฎหมายเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การอนุรักษ์และการฟื้นฟู รวมทั้งให้ประชาชนในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม
ซึ่งสาระสำคัญ แบ่งเป็น 5 หมวด คือหมวด 1 ให้มีคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกฯ มอบหมายเป็นประธาน กรรมการ 16 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่ง ครม.แต่งตั้งไม่เกิน 8 คน มีอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเล เป็นเลขานุการ ทำหน้าที่เสนอนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติต่อ ครม.
รายงานแจ้งว่า หมวด 2 ชุมชนชายฝั่ง กำหนดให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอาจพิจารณาให้ความช่วยเหลือ หรือสนับสนุนเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสนับสนุนชุมชนในเขตพื้นที่ชายฝั่ง ทะเล หรือเกาะในการบริหารจัดการ และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลฯ
หมวด 3 การคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลฯ หรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีอำนาจสั่งให้บุคคลที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งระงับการกระทำดังกล่าวเป็นการชั่วคราว กำหนดแนวทางในการดำเนินการ และมีอำนาจแก้ไขหรือบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้น และกำหนดให้ รมว.ทส.โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการฯ มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดพื้นที่บริเวณหนึ่งบริเวณใดเป็นพื้นที่ป่าชายเลนอนุรักษ์ เป็นพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และให้ รมว.ทส.เสนอต่อ ครม.เพื่อขออนุมัติใช้มาตราคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อควบคุมและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นหรืออาจจะเกิดขึ้น ในกรณีที่ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอาจถูกทำลายหรือได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงเข้าขั้นวิกฤติ รวมทั้งกำหนดหน่วยงานของรัฐที่จะเป็นผู้ดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว
หมวด 4 พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในสถานที่หรือตรวจค้นสถานที่ หรือยานพาหนะเพื่อตรวจสอบและควบคุม ยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด รวมทั้งสั่งให้บุคคลออกจากพื้นที่ป่าชายเลนอนุรักษ์ พื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลฯ
ส่วนหมวด 5 บทกำหนดโทษ กรณีไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายในการระงับการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหาย หรือบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งตามที่กำหนดในพื้นที่ป่าชายเลนอนุรักษ์ พื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ฯลฯ รวมทั้งกำหนดโทษสำหรับกรณีที่ผู้กระทำผิดเป็นนิติบุคคล โดยให้กรรมการผู้จัดการ หุ้นส่วนผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น ต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดนั้น ทั้งนี้ ผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งอธิบดีที่ให้ระงับการกระทำหรือกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อทรัพยากรทางทะเลฯเป็นการชั่วคราวตามความเหมาะสม และผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลฯ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ.
กำลังโหลดความคิดเห็น