xs
xsm
sm
md
lg

แก้รัฐธรรมนูญไม่ลงตัว

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

รัฐบาลโดยนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความคำวินิจฉัยกลางและคำวินิจฉัยส่วนตนของศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้งว่า ความหมายจริงๆ เป็นอย่างไร เราไม่อยากมีปัญหา เวลานี้ยังคลุมเครือ ทั้งนี้การแก้ไขรายมาตรานั้นทำได้ แต่เป็นไปได้หรือไม่เพราะต้องใช้เวลายาวนาน ถ้าจะแก้ไขทั้งหมดต้องใช้เวลาเป็นปี และถ้ามีการดึงเรื่องจะไม่มีโอกาสเสร็จเลย จึงต้องประเมินอีกครั้ง ถ้าทำได้ไม่ยืดเยื้อก็จะแก้เป็นรายมาตรา แต่หากดูแล้วยากลำบากต้องใช้วิธีอื่น ส่วนที่ นายชุมพล ศิลปอาชา เสนอให้โหวตวาระ ๓ เลยก็ยังต้องขอดูให้ชัดก่อน

นายวรวัจน์กล่าวต่อไปว่าที่กังวลคือ ศาลรัฐธรรมนูญอยากให้แก้เป็นรายมาตรา แต่เรารู้สึกว่าการแก้เป็นรายมาตราสำเร็จยากมาก สำหรับกรณีที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ เสนอให้ชะลอการโหวตวาระ ๓ ไปก่อน พรรคเพื่อไทยรับทราบแล้วและจะพูดคุยกับ ส.ส.ในการสัมมนาพรรคต่อไป

นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทยประธานคณะกรรมาธิการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๑ กล่าวถึงการยื่นเรื่องให้ที่ประชุมรัฐสภาตัดสินการลงโหวตลงมติร่างรัฐธรรมนูญในวาระ ๓ ว่า ที่ประชุมรัฐสภาต้องไปหารือกันว่าจะตัดสินใจอย่างไร แนวทางขณะนี้มี ๒ แนวทาง คือ ๑.เดินหน้าลงมติร่างรัฐธรรมนูญวาระ ๓ เลย หรือ ๒.การทำประชามติ ส่วนข้อเสนอเรื่องการแก้ไขเป็นรายมาตราอาจต้องหยุดไว้ก่อน ถือเป็นทางเลือกสุดท้าย หากลงมติร่างรัฐธรรมนูญวาระ ๓ และการทำประชามติไม่สำเร็จก็อาจหยิบการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรามาพิจารณาได้ ทั้งนี้การทำประชามติจะต้องทำ ๒ รอบคือ ทำประชามติก่อนยกร่างและหลังจากยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว แม้จะสิ้นเปลืองงบประมาณก็ต้องทำ เพราะเป็นการทำตามที่ศาลรัฐธรรมนูญบอก ทั้งที่เราก็อยากทำประชามติแค่รอบเดียว ซึ่งการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องได้คะแนนเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งประเทศ ๔๖ ล้านคน ถ้าได้ไม่ถึง ๒๓ ล้านคนก็ไม่มีสิทธิแก้ไข

ส่วน นายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า ในการประชุม ส.ส. และ ส.ว.เมื่อวันที่ ๑๗ ก.ค. ที่ผ่านมา เสียงส่วนใหญ่ไม่อยากให้เดินหน้าโหวตลงมติวาระ ๓ เพราะเดินหน้าไปแล้วก็แพ้อย่างเดียว ได้แต่ความสะใจ ถ้าโหวตวาระ ๓ ต่อไป เสียงที่เคยได้จากวาระ ๑ และ ๒ อย่างท่วมท้นจาก ส.ส. และ ส.ว. คงหายไปหลายเสียงเพราะบางส่วนจะไม่กล้าโหวต คงไม่ผ่านแน่นอน จึงไม่ควรเสี่ยง การโหวตกฎหมายสำคัญ เมื่อโหวตแพ้ต้องแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง รัฐบาลต้องถูกเรียกร้องให้ลาออกแน่นอน จึงไม่ควรเสี่ยงและจะถูกยุบพรรคตามมาด้วย ส่วนการทำประชามติก็กลัวว่าจะแพ้ เพราะต้องใช้เสียงสนับสนุนจำนวนมาก ไม่ตำกว่า ๒๐ ล้านกว่าเสียง เอาแค่ให้ถึง ๒๐ ล้านเสียงยังลำบากเลย ดังนั้น ควรใจเย็นๆ รอดูคำวินิจฉัยกลางของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก่อน

ส่วนนายโภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภากล่าวว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยังตีความไม่ชัดเจน ยืนยันว่าการแกไขมาตรา ๒๙๑ เป็นการแก้เพียงมาตราเดียว เป็นกระบวนการนำไปสู่การตั้ง ส.ส.ร.เหมือนที่เคยปฏิบัติมาในอดีต ไม่มีผลให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี ๕๐ ทั้งฉบับ อยากขอร้องให้พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลใช้ความรอบคอบในการดำเนินการ ยึดแนวทางฟังความคิดเห็นประชาชนมากที่สุด หากจะแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา ควรแก้ในมาตราที่ขัดรัฐธรรมนูญ อาทิ มาตรา ๓๐๙ ที่ขัดมาตรา ๓ และเป็นการนิรโทษกรรมให้ผู้ยึดอำนาจ ส่วนการจำกัดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญนั้น จะมีศาลรัฐธรรมนูญอยู่หรือไม่ ต้องพิจารณาขอบเขตของอำนาจให้ดี หลังจากนี้ต้องระบุอำนาจศาลรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนว่า การยื่นคำร้องตามมาตรา ๖๘ ต้องผ่านอัยการสูงสุดเท่านั้น

ที่รัฐสภา นายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ) ได้ออกแถลงการณ์แนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมีเนื้อหาโดยสรุปว่า ตามที่มีความเห็นเป็น ๓ แนวทางคือ รัฐสภาควรเดินหน้าลงมติในวาระ ๓ ต่อไป หรือชะลอไว้ก่อนเพื่อไปดำเนินการออกเสียงประชามติก่อน หรือปล่อยให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตกไปแล้วไปดำเนินการแก้ไขเป็นรายมาตรา ซึ่งตามแนวทางที่ ๑ แม้จะกระทำได้โดยชอบตามกฎหมาย แต่อาจเป็นชนวนให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองไม่จบสิ้น ส่วนแนวทางที่ ๒ ก็ไม่มีความชัดเจน ยังไม่มีร่างให้ประชาชนพิจารณาเปรียบเทียบก่อนตัดสินใจลงประชามติ ก็จะถูกวิพากษ์วิจารณ์เหมือนการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ขณะที่แนวทางที่ ๓ คงต้องใช้เวลานานมากและไม่อาจคาดหมายว่าจะเสร็จเมื่อใด จึงมีข้อเสนอว่ารัฐสภาควรปล่อยให้ร่างรัฐธรรมนูญที่รอลงมติในวาระ ๓ ตกไป เพื่อไปออกเสียงประชามติ กำหนดหัวข้อให้ประชาชนเลือกว่าหากไม่เอารัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ แล้วจะนำรัฐธรรมนูญฉบับใดมาปรับปรุงแก้ไขและประกาศใช้บังคับแทนซึ่งตนเห็นว่าควรนำรัฐธรรมนูญ ๒๕๑๗ มาเป็นตัวเลือกปรับปรุงแก้ไขตามกระบวนการมาตรา ๒๙๑ จากนั้นให้ประชาชนลงประชามติอีกครั้งก่อนประกาศบังคับใช้ ที่นำรัฐธรรมนูญปี ๒๕๑๗ มาเป็นตัวเลือกเพราะได้ชื่อว่าเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด มีความก้าวหน้า และเป็นเสรีนิยมยึดโยงกับภาคประชาชนถูกร่างขึ้นหลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖
กำลังโหลดความคิดเห็น