xs
xsm
sm
md
lg

“นิติราษฎร์” หนุนยุบศาล รธน.ให้นักการเมือง คัดนั่งตุลาการแทน ยุลงมติวาระ 3

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“นิติราษฎร์” อ้างคำวินิจฉัยไม่ได้ห้ามสภาลงมติวาระ 3 ถาม แก้ทีละมาตราต่างจากทำร่างใหม่ยังไง โวยประชามติเปลืองงบ ชูเสียงส่วนใหญ่อยากแก้ หนุนยุบศาลรธน.ทิ้งตั้งตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญป้องกันพวกขวางแก้ ให้คัดส.ส. 3 ส.ว.2 ครม.3 นั่งบัลลังก์และต้องไม่เคยเป็นผู้พิพากษามาก่อน ย้ำที่มาไม่เป็นประชาธิปไตย

วันนี้(15 ก.ค.) เมื่อเวลา 13.00 น. คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ คณะนิติราษฎร์ประกอบด้วยนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ แกนนำกลุ่มคณะนิติราษฎร์ ร่วมกันแถลงข่าวถึงข้อเสนอทางวิชาการในหัวข้อ “การยุบเลิกศาลรัฐธรรมนูญและการจัดตั้งคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ โดยนายวรเจตน์ กล่าวว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับไม่ได้เกิดขึ้นเมื่อมีพรรคเพื่อไทย แต่เกิดขึ้นเมื่อตอนมีการลงประชามติว่าประชาชนจะรับรัฐธรรมนูญปี 2550หรือไม่ หลังจากมีการรัฐประหารปี 2549 ซึ่งผู้ที่มีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญก็ให้รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปก่อน และเมื่อมีผลใช้บังคับประชาชนลงชื่อ 5หมื่นชื่อหรือรัฐบาลเสนอแก้ไขได้

ซึ่งการแก้ไขคือการเพิ่มเติมความในรัฐธรรมนูญ ในการตั้ง ส.ส.ร. ซึ่งในรัฐธรรมนูญปี 2550 มีบทบัญญัติที่ระบุถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าต้องทำอย่างไร ซึ่งรัฐบาลก็ทำอยู่ เพียงแต่ว่าการแก้ไขไม่ใช่การแก้ไขเป็นรายมาตรา แต่เพิ่มหมวดการแก้ไขทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพิ่มเติม เนื่องจากหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรามีความยุ่งยากในการเปลี่ยนโครงสร้างขององค์กรที่ใช้อำนาจทางการเมือง และเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงไปหาการทำรัฐประหารปี 2549 ฉะนั้นกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญจึงเป็นสิ่งถูกต้องเพราะทำตามมาตรา 291 ซึ่งส.ส.ร.ที่จะทำขึ้นไม่มีอำนาจในการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเลย เมื่อร่างเสร็จก็ให้ประชาชนลงประชามติ ทั้งรัฐสภาก็สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้หากต้องการจะแก้ไข

นายวรเจตน์ กล่าวต่อว่า ในการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญให้พิจาณาว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญขัดมาตรา 68 โดยผ่านไม่อัยการสูงสุดนั้น ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ระบุว่า ศาลมีอำนาจรับเรื่องไว้พิจาณาวินิจฉัยเอง การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับควรจะทำประชามติ และการกระทำดังกล่าวไม่มีผลว่าล้มล้างการปกครอง ซึ่งศาลไม่ได้บอกเลยว่า ห้ามรัฐสภาเดินลงมติในวาระที่ 3 ทั้งนี้ ตนเห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีข้อบกพร่องในหลายเรื่อง อย่างเรื่องการรับเรื่องนี้ไว้พิจารณา แล้วพยายามบอกว่าตรงนี้เป็นการขยายสิทธิให้ประชาชน แต่เป็นการขยายอำนาจตัวของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อเข้าไปควบคุมกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติม เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้ให้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญเอาไว้

“ ศาลรัฐธรรมนูญเป็นเหมือนลูกที่เกิดจากรัฐธรรมนูญ แต่วันนี้มีศาลรัฐธรรมนูญเป็นลูกที่บังคับแม่” นายวรเจตน์กล่าวและว่า ทั้งในคำวินิจฉัยศาลก็ไม่ได้ระบุว่า การกระทำของรัฐสภาจะถือว่าเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพของบุคคลหรือพรรคการเมืองตามความในมาตรา 68 แต่อย่างใด

นายวรเจตน์ กล่าวว่า คำวินิจฉัยของศาลมีความบกพร่องในการตั้งประเด็น คือศาลต้องพิจารณาเรื่องว่าการกระทำของรัฐสภามีผลในการล้มล้างระบอบการปกครองตามมาตรา 68 หรือไม่ เป็นประเด็นที่ 2 ถ้าศาลยืนยันว่าไม่ได้เป็นการล้มล้างการปกครองศาลก็ต้องยกคำร้องและไม่ต้องมีการพิจารณาต่อ แต่ศาลกลับเอาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 มาแทรกแทน ต้องถามว่าทำไมศาลตั้งประเด็นแบบนี้ รวมถึงการทำหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณีอื่นๆ ก่อนหน้านี้ ทั้งกรณีเขาพระวิหาร และการทำรายการอาหารของนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเห็นชัดว่ามีความจงใจการใช้อำนาจเพราะตัวบุคคล ดังนั้นจึงเห็นว่าไม่ถูกต้องที่ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่ถูกตรวจสอบ หรือแตะต้องไม่ได้

นายวรเจตน์ กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีข้อจำกัด 2 ประการ คือ ห้ามแก้ไขการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และห้ามแก้ไขรูปแบบของรัฐ ความหมายคือ ห้ามเปลี่ยนรูปแบบรัฐเป็นสาธารณรัฐ ห้ามเปลี่ยนรัฐเดี่ยวเป็นสหพันธรัฐ และห้ามเปลี่ยนระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงเป็นเรื่องของรัฐสภา หากไม่เข้าเงื่อนไขดังกล่าว โดยไม่จำเป็นต้องมีศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงการแก้ไขมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อป้องกันการตีความวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนการทำประชามติเป็นเรื่องของฝ่ายบริหาร และคณะรัฐมนตรี ที่จะเห็นสมควร และคิดว่าการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีการจัดทำอยู่ได้กำหนดกระบวนการทำประชามติไว้แล้ว โดยคณะนิติราษฎร์เห็นว่ารัฐบาล และรัฐสภาควรมีความกล้าหาญในการเปิดประชุมสภา และพิจารณาเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญลงมติวาระ 3 ในทันที

นายวรเจตน์ กล่าวว่า ตนได้วิเคราะห์แนวทางหลังจากนี้ 5 หนทางคือ 1. เปิดการประชุมสภาแล้วเดินหน้าโหวตลงมติในวาระ 3 ต่อไป 2. ปล่อยให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตกไป ซึ่งถือว่าเป็นการยอมแพ้ 3.ชะลอการลงมติวาระแล้วไปทำประชามติ 4. เสนอร่างแก้ไขมาตรา 68 ก่อนแล้วค่อยโหวตต่อ และ5. ไม่ทำอะไรเลย แล้วตั้งคณะกรรมการขึ้นมาใหม่เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา

ด้าน นายปิยบุตร เสนอว่า คณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ มี 8 คนประกอบด้วย เลือกมาจากสภา 3 คน วุฒิสภา 2 คณะ และคณะรัฐมนตรี 3 คน จะต้องไม่เคยเป็นตุลาการมาก่อน ทั้งนี้คณะนิติราษฎร์เสนอความเห็นทางวิชาการ เสนอให้ยุบเลิกศาลรัฐธรรมนูญ และจัดตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ เพื่อพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญขึ้นมา โดยเห็นว่าศาลตีความกรณีขัด รัฐธรรมนูญมาตรา 68 เห็นเป็นการขยายอำนาจให้รับเรื่องเองโดยไม่ผ่านอัยการสูงสุด ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญปัจจุบันไม่ได้ให้อำนาจให้ศาลมีอำนาจชะลอยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อีกทั้งยังเห็นว่า การได้มาของศาลรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะไม่ได้ยึดโยงกับอำนาจประชาชน จำเป็นต้องใช้อำนาจประชาชนในการจัดตั้งตุลาการรัฐธรรมนูญเพื่อพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ ใช้ไปพลางๆ ก่อน ก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ใช้ในประเทศ โดยการนำรายชื่อประชาชน 50,000 รายชื่อ หรือวิธีการอื่นๆ ตามความเหมาะสม





กำลังโหลดความคิดเห็น