xs
xsm
sm
md
lg

“เฉลิม” ลั่นแก้ รธน.ยุบผู้ตรวจฯ ส.ว.สรรหา ควบรวมศาลแน่ ปรามพวกสู่รู้เพลาๆ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
รองนายกฯ อ้างศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการตามใจชอบต้องควบรวม โอดนักการเมืองมาถูกพวกคัดสรรมีอำนาจเหนือ ชี้พลาดตั้งแต่รับวินิจฉัยแก้ รธน. ลั่นถ้าพรรคพร้อมก็เดินหน้าทันที พ่วงยุบผู้ตรวจฯ-ส.ว.สรรหา พูดขำๆ ไม่รู้จะถูกเด้งพ้นเก้าอี้หรือเปล่า ย้ำอย่าลงวาระ 3 แย้มเขียนร่างแก้ไว้แล้ว ปรามพวกสู่รู้เพลาๆ รับทุกข์แทน “นช.แม้ว” กลับบ้านไม่ได้ ขำนายใหญ่จ้อจ่อขอวีซ่าสี่เสาฯ - ส่งทีมงานร่อนเอกสารโต้คำวินิจฉัยกลาง

วันนี้ (27 ก.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวแสดงความเห็นต่อคำวินิจฉัยกลางศาลรัฐธรรมนูญที่ยกคำร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเผยแพร่ออกมาวานนี้ (26 ก.ค.) ว่า โดยปกติศาลต้องมีการวินิจฉัยคำวินิจฉัยส่วนตัวออกมาก่อน จึงมีคำวินิจฉัยกลาง เมื่อเผยแพร่ออกมาในลักษณะนี้จึงมีความไม่โปร่งใส เพราะพอคำวินิจฉัยกลางออกมา ตุลาการแต่ละคนก็ดูกระแส แล้วอาจไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยส่วนตัว อย่างนี้ถือว่าไม่ถูกต้อง ดังนั้นจึงเห็นว่าต้องมีควบรวมศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ปล่อยให้เป็นเอกเทศเช่นนี้ต่อไป เพราะดำเนินการตามใจชอบ และขาดการตรวจสอบ หากเป็นศาลยุติธรรมทำไม่โปร่งใส เราสามารถร้องต่อสำนักคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมได้ แต่เป็นศาลรัฐธรมนูญก็ไม่รู้จะไปร้องต่อใคร คงต้องไปร้องต่อศาลพระภูมิ

“นักการเมืองกว่าจะได้มาจากการเลือกตั้ง พี่น้องประชาชนได้ตรวจสอบและตัดสินใจเลือก พอมาเป็นรัฐบาลแล้วกลับถูกองค์กรบางแห่งที่มาจากการคัดสรร มามีอำนาจเหนือพี่น้องประชาชน มันก็ไม่ยุติธรรม โดยหลักการอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย มีอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ดังนั้นตุลาการต้องเป็นหนึ่ง ไม่ใช่มีหลายตุลาการที่ทำให้บ้านเมืองไปไม่ได้” ร.ต.อ.เฉลิมระบุ

ผู้สื่อข่าวถามว่า มองว่าศาลรัฐธรรมนูญพยายามขัดขวางไม่ให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญได้สำเร็จหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวตอบว่า คงไม่ระบุถึงขั้นขัดขวาง แต่มองว่าศาลรัฐธรรมนูญพลาดตั้งแต่การรับวินิจฉัย เพราะรัฐธรรมนูญเขียนชัดว่าต้องยื่นเรื่องผ่านสำนักงานอัยการสูงสุด เมื่อศาลรับเรื่องจึงต้องตกกระไดพลอยโจน แล้วหากเป็นเช่นนี้ต่อไปรัฐบาลก็บริหารบ้านเมืองไม่ได้ เพราะคนที่มาจากการเลือกตั้งโดยพี่น้องประชาชน ต้องมาผ่านการตัดสินใจของคน 9 คนที่ลิขิตประเทศ ซึ่งทั่วโลกไม่มีลักษณะแบบนี้ หากควบรวมศาลรัฐธรรมนูญไปอยู่ที่ศาลยุติธรรม ก็ไม่มีใครเสียหาย มีแต่ประเทศที่ได้ประโยชน์ แต่อาจต้องมีการเขียนบทเฉพาะกาลให้สามารถทำหน้าที่ต่อไปได้

รองนายกฯ กล่าวต่อว่า ตนจะนำเรื่องนี้ไปพูดในการสัมมนาพรรคเพื่อไทยที่ จ.ชลบุรี ด้วย โดยนำคำวิเคราะห์ของตนไปแจกแก่สมาชิกพรรค หากมีความเห็นให้ตนดำเนินการก็พร้อมเดินหน้าทันที โดยจะดำเนินการพร้อมกันใน 5 ประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่เคยเสนอไปก่อนหน้านี้ เช่น การยกเลิกผู้ตรวจการแผ่นดิน วุฒิสมาชิกมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด และการควบรวมศาล เป็นต้น โดยเฉพาะในส่วนของศาลที่มีรูปแบบอยู่แล้ว เมื่อมีคดีก็มีการตั้งคณะตุลาการ 9 คนขึ้นมาพิจารณา เมื่อคดีจบก็หมดวาระไปตั้งชุดใหม่ขึ้น

เมื่อถามว่า ได้นำความเห็นนี้เสนอแก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ด้วยหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวทีเล่นทีจริงว่า “ไม่กล้าหรอก ท่านไม่ได้ถาม ไม่รู้ว่าหนนี้จะถูกปรับออกหรือเปล่า”

ผู้สื่อข่าวยังได้ถามถึงความคืบหน้าในการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 โดย ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ถ้าลงมติก็เจ๊ง อย่าไปลงเลย ยังไม่รู้อีกหรือว่าเขากำลังคิดอะไรกันอยู่ เขารอจังหวะพอบอลเข้าเท้าก็ยิงเลย เรื่องนี้จะมีการบอกความเห็นเช่นนี้ในพรรค หากพรรคยังจะลงมติก็ไม่เป็นไร แต่ส่วนตัวจะไม่ลงด้วยอย่างแน่นอน เพราะเห็นว่าถึงตอนนี้ควรเดินหน้าในการแก้ไขเป็นรายมาตรามากกว่า ล่าสุดตนได้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายประเด็นที่เคยกล่าวไว้กับคณะกรรมการกฤษฎีกาไว้แล้ว

“จะบอกในพรรคเลยว่า ถ้าลงวาระ 3 ก็เรียบร้อยเก็บเสื่อ เพลาๆ เสียบ้างพวกอวดรู้สู่ฉลาด เรื่องนี้พูดตามความเป็นจริง คงไม่ได้จะไปปรามใคร และก็ไม่มีใครปรามผมได้” ร.ต.อ.เฉลิมกล่าว

เมื่อถามถึงกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวในงานฉลองวันคล้ายวันเกิดที่เกาะฮ่องกงระบุเดินทางได้ทั่วโลก แต่ไม่มีวีซ่าเข้าประเทศไทย ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ตนทุกข์แทน พ.ต.ท.ทักษิณที่มีลูกน้องใหญ่ทั้งประเทศ คณะรัฐมนตรีเป็นลูกน้อง พ.ต.ท.ทักษิณทั้งนั้นแต่เดินทางได้ทั่วโลก ยกเว้นบ้านเกิดตัวเอง ที่พูดมาจึงถูกต้องที่สุด เรื่องนี้ก็จะนำไปหารือในการสัมมนาพรรคเพื่อไทยเช่นกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีบางช่วง พ.ต.ท.ทักษิณพูดว่าอาจจะต้องไปขอวีซ่าที่บ้านสี่เสาเทเวศร์ ร.ต.อ.เฉลิมหัวเราะโดยไม่ตอบคำถาม ก่อนกล่าวว่าคงไม่มีอะไร จะขอวีซ่าให้ไปถามนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ต่อข้อถามที่ว่า มั่นใจหรือไม่ว่าจะนำ พ.ต.ท.ทักษิณกลับประเทศไทยได้ ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า หากทำตามแนวทางของตนก็เรียบร้อย เรื่องนี้พูดมานานแล้วว่า ก่อนจะทำอะไรต้องทำความเข้าใจกับประชาชนก่อน เริ่มตั้งแต่การเข้าใจว่าเหตุการณ์เริ่มจากการรัฐประหาร 19 ก.ย. 49 ก็อย่านำคดีอื่นไปเกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ สร้างความชัดเจนจากผลที่เกิดจากการรัฐประหารก่อน อย่าเอาคดีอื่นไปรวม มันจะไปไม่ได้ ตนพูดไม่กลัวพรรคพวกโกรธ เพราะต้องอย่าเห็นแก่ตัว ขอให้ตรงไปตรงมา เรื่องมาจากการปฏิวัติต้องเอาตรงนั้นก่อน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ ร.ต.อ.เฉลิมได้ให้คณะทำงานนำเอกสารความเห็นเกี่ยวกับคำวินิจฉัยกลางศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 7 แผ่นกระดาษเอ 4 มาแจกจ่ายต่อสื่อมวลชน โดย ร.ต.อ.เฉลิมได้ให้ความเห็นไว้ ดังนี้ 1. กระบวนการจัดทำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่โปร่งใส โดยปกติการจัดทำคำพิพากษาของศาลยุติธรรม ผู้พิพากษาแต่ละคนจะทำคำพิพากษาส่วนตนเสร็จก่อน แล้วจึงจะมีคำพิพากษาออกมาตามเสียงข้างมาก โดยคู่ความสามารถขอคัดหรือสำเนาคำพิพากษาได้ทันทีหลังจากศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จแล้ว แต่กระบวนการการทำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกลับทอดเวลาหลายวันหลังจากอ่านคำวินิจฉัย อย่างเรื่องนี้ศาลมีคำวินิจฉัยตั้งแต่วันที่ 13 ก.ค. เพิ่งจะเผยแพร่คำวินิจฉัยกลางในวันที่ 26 ก.ค. ในขณะที่คำวินิจฉัยส่วนตนก็ยังไม่ออก กรณีแบบนี้อาจจะเป็นช่องทางในการปรับปรุงคำวินิจฉัยหรืออาจเป็นการชักนำคำวินิจฉัยส่วนตนก็ได้ และ 2. ในเนื้อหาของคำวินิจฉัยกลาง ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยไว้ 4 ประเด็น ซึ่งตนไม่เห็นด้วย 2 ประเด็น และเห็นด้วย 2 ประเด็น

ประเด็นที่ 1 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 68 วรรคสอง ได้โดยตรงไม่จำเป็นต้องยื่นผ่านอัยการสูงสุดก็ได้ โดยศาลรัฐธรรมนูญอ้างว่า “รัฐธรรมนูญมีเจตนาที่จะให้สิทธิแก่ประชาชนในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญผ่านกลไกของศาลรัฐธรรมนูญยิ่งกว่าพิจารณาที่ตัวบุคคลผู้มีสิทธิเสนอคำร้อง จึงต้องตีความมาตรา 68 ในลักษณะให้สิทธิ มิใช่จำกัดสิทธิ เพื่อให้ประชาชนมีช่องทางใช้สิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีได้ตามมาตรา 69”

ร.ต.อ.เฉลิมเห็นว่า เป็นการตีความโดยอ้างถึงเจตนารมณ์ของกฎหมาย แต่โดยหลักการของการตีความกฎหมายต้องตีความตามตัวอักษรมาก่อนเจตนารมณ์ของกฎหมาย ถ้าตัวอักษรเขียนไว้ชัดเจนแล้วก็ไม่ต้องเอาเจตนารมณ์มาใช้ แต่ถ้าตัวอักษรเขียนไว้ไม่ชัดเจน ถึงจะนำเจตนารมณ์ของกฎหมายมาช่วยตีความ

“ซึ่งผมเห็นว่าถ้อยคำตามมาตรา 68 เขียนไว้ชัดเจนมากอยู่แล้วว่า “ให้ผู้ทราบการกระทำเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย” ไม่มีตอนใดเขียนไม่ชัด มิเช่นนั้นแล้วมาตรา 68 จะกำหนดกระบวนการขั้นตอนของอัยการสูงสุดไว้ทำไม การที่ศาลรัฐธรรมนูญตีความอย่างนี้ ก็จะทำให้การบังคับใช้กระบวนการในการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นของอัยการสูงสุดเป็นหมัน เพราะต่อไปนี้ใครๆก็ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง ไม่ไปตามกระบวนการที่กฎหมายมาตรา 68 กำหนดไว้ ผลไม่ต่างกับที่ศาลรัฐธรรมนูญกลัวว่า คำวินิจฉัยของตนจะเป็นหมัน จึงรอความเห็นของอัยการสูงสุดไม่ได้ เพราะกลัวสภาจะลงมติวาระ 3 ไปก่อนผลตอนนี้กลับกลายเป็นว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มาทำลายการบังคับใช้บทกฎหมายมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญเสียเอง”

ประเด็นที่ 2 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยยกร่างใหม่ทั้งฉบับยังไม่สอดคล้องต่อเจตนารมณ์ของมาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญ หากจะแก้ไขทั้งฉบับควรให้ประชาชนได้ลงประชามติหรือรัฐสภาจะใช้อำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราก็เป็นความเหมาะสม

ร.ต.อ.เฉลิมเห็นว่า เป็นการตีความโดยไม่มีกฎหมายเป็นฐานอ้างอิง เป็นการใช้ความรู้สึกนึกคิดอ้างเหตุผลขึ้นเองลอยๆ คล้ายๆ กับตั้งธงไว้แล้วค่อยหาเหตุผลมาสนับสนุน ขัดต่อหลัก“นิติรัฐ” อย่างชัดเจน ซึ่งนิติรัฐคือรัฐที่ปกครองด้วยกฎหมาย มิใช่ด้วยบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือคณะบุคคลใดคณะบุคคลหนึ่ง เป็นการปกครองที่ถือว่ากฎหมายเป็นใหญ่ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องใช้กฎหมายเป็นหลัก ถ้าไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ก็จะกระทำมิได้ คงไม่ใช่แต่รัฐบาลบเท่านั้นที่ต้องยึดหลักกฎหมายเป็นใหญ่ แต่ตุลาการก็ต้องยึดหลักกฎหมายเป็นใหญ่ ไม่ใช่จะใช้อำนาจตัดสินคดีอย่างไรก็ได้ตามอำเภอใจ ไม่ว่าจะเป็นหลักการเสนอแนะให้ทำประชามติ รวมทั้งการเสนอแนะให้ดำเนินการตามมาตรา 291 ได้เฉพาะการแก้ไขรายมาตรา เป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญเข้าใจเอง ไม่ได้อ้างอิงบทกฎหมายใดๆ และหากมีคำวินิจฉัยของศาลที่ไม่ยึดหลักกฎหมายบ่อยๆ ต่อประเทศก็คงวุ่นวายกันไปหมด

ประเด็นที่ 3 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยกคำร้องเนื่องจากข้อเท็จจิงยังไม่พอฟังได้ว่าเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคหนึ่ง ข้อกล่าวหาเป็นเพียงการคาดการณ์ในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น ทั้งยังห่างไกลต่อการเกิดเหตุตามข้อกล่าวหา อีกทั้งตามร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 291/11 วรรคห้า ก็มีบทบัญญัติคุ้มกันให้ร่างรัฐธรรมนูญที่สภาร่างรัฐธรรมนูญจัดทำขึ้นจะมีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองมิได้ไว้อยู่แล้ว

ในประเด็นนี้ ร.ต.อ.เฉลิมเห็นด้วยกับวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะการเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นการดำเนินการตามมาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญ มีกฎหมายบัญญัติรองรับชัดเจนและตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ยังไม่รู้ว่าเนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่จะแก้ไขเป็นอย่างไร เพียงแต่ต้องการเปิดช่องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ทั้งฉบับเท่านั้น อีกทั้งมาตรา 291/11 วรรคห้าของร่างรัฐธรรมนูญฯ ก็ระบุห้ามการกระทำที่จะมีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองไว้แล้ว แสดงถึงความบริสุทธิ์ใจชัดเจน

ประเด็นที่ 4 เป็นประเด็นว่าหากกรณีเป็นการกระทำที่เข้าข่ายมาตรา 68 วรรคหนึ่ง จะถือเป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญต้องสั่งยุบพรรคการเมืองและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคและกรรมการพรรคการเมืองหรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้วินิจฉัย เนื่องจากได้วินิจฉัยในประเด็นที่ 3 ไปแล้วว่าไม่เข้าข่ายเป็นการล้างการปกครองตามมาตรา 68 วรรคหนึ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น