xs
xsm
sm
md
lg

กกต.ยกคำร้อง “เรืองไกร” ยื่นคัดค้าน คกก.สรรหา ส.ว.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ
ที่ประชุม กกต.มีมติ ยกคำร้อง “เรืองไกร” คัดค้าน คกก.สรรหา ส.ว.ไม่ชอบด้วย กม.เหตุเกินระยะเวลา ด้าน “เรืองไกร” ยื่น ป.ป.ช.สอบ จนท.กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เบียดบังเงินหลวง 32 ล้าน จี้สอบงบก่อสร้างอาคารใหม่ พม.ขัดระเบียบ

วันนี้ (10 เม.ย.) นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงภายหลังการประชุม กกต.ว่า กกต.มีมติยกคำร้องกรณีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหา ร้องว่าคณะกรรมการสรรหา ส.ว.สรรหาไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะนายมนตรี ศรีเอี่ยมสอาด ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ไม่ได้เป็นผู้พิพากษาในศาลฎีกา ตามความหมายของรัฐธรรมนูญ มาตรา 113 โดยเห็นว่าคำร้องของนายเรืองไกรยื่นร้องคัดค้านเกินกว่าระยะเวลา 30 วันนับแต่วันประกาศผลการสรรหาตามมาตรา 133 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.บัญญัติไว้ และเมื่อพิจารณาในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเป็นคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ของนายมนตรี ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติว่า ให้เป็นผู้พิพากษาในศาลฎีกา ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามอบหมายแล้ว พบว่า คณะกรรมการสอบสวนของ กกต.ได้รับฟังคำชี้แจงจากนายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ โฆษกศาลยุติธรรม ที่ให้ถ้อยคำว่า บุคคลที่จะดำรงตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกาจะต้องปรากฏว่าบุคคลดังกล่าวมีคุณสมบัติ ดังนี้ 1. ต้องดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกา ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา รองประธานศาลฎีกา หรือตำแหน่งอื่นที่เทียบเท่า 2. ต้องเป็นผู้ที่คณะกรรมการตุลาการตามระเบียบว่าด้วยข้าราชการฝ่ายตุลาการให้ความเห็นชอบว่ามีความเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกาที่ต้องมีร่างกายแข็งแรงและมีสุขภาพจิตที่ดี โดยผ่านการประเมินของคณะกรรมการตุลาการ

ทั้งนี้ นายสิทธิศักดิ์ระบุว่า ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกาต้องปฏิบัติงานในฐานะผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนผู้พิพากษาองค์คณะในศาลฎีกา มีอำนาจหน้าที่ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมกำหนดให้เป็นอำนาจของผู้พิพากษาคนเดียวและมีอำนาจหน้าที่เข้าร่วมประชุมในที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ตาม พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การแต่งตั้งข้าราชการดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโส พ.ศ. 2550 ฉบับที่ 2 มาตรา 4 จึงสรุปได้ว่า ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกาจึงเป็นผู้พิพากษาในศาลฎีกา ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญมาตรา 113 ปรากฏชัดเจนว่า นายมนตรีได้รับมอบหมายจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาให้เป็นคณะกรรมการสรรหา ส.ว. มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการได้ ที่ประชุม กกต.ได้พิจารณาแล้วจึงมีมติยกคำร้อง

นายภุชงค์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของสำนักงานฯ ได้รายงานผลการตรวจสอบสมาชิกวุฒิสภาทั้ง 70 คนว่า ไม่พบว่ามี ส.ว.สรรหาคนใดขาดคุณสมบัติเนื่องจากการไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ขณะเดียวกัน ก็มีมติขยายระยะเวลาการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีที่เจ้าหน้าที่ของสำนักงาน กกต.ที่เกี่ยวข้องบกพร่องในการตรวจสอบคุณสมบัติ ส.ว.สรรหาไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งหรือไม่ ออกไปอีก 15 วัน นับจากวันที่ 11 เม.ย.55 ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 25 เม.ย.55

ขณะที่ นายเรืองไกร ได้ใช้สิทธิตามมาตรา 62 ของรัฐธรรมนูญ ทำหนังสือประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อขอให้ตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐ เบียดบังเงินหลวง จากกรณีที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน แจ้งให้ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เรียกเงินคืนจากเจ้าหน้าที่ของรัฐในกระทรวง พม.ที่นำเงินนอกงบประมาณไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ โดยมีลักษณะเบียดบังเงินหลวง คือ เงินบำรุงกิจการนิคมและเงินสะสมค่าอาหาร ไปใช้ประโยชน์ส่วนตนโดยนำไปเป็นค่าศึกษาดูงานต่างประเทศ ถึงจำนวน 22 ครั้ง รวมเป็นเงิน 32,906,146.50 บาท และยังได้แจ้งให้ดำเนินการทางวินัยต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐในกระทรวงด้วย หากกรณีเป็นไปตามที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินทักท้วง เจ้าหน้าที่ของรัฐในกระทรวง พม.ที่ได้รับทรัพย์สินหรือประโยชน์ดังกล่าวอาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 103 วรรคหนึ่งด้วย

นายเรืองไกรกล่าวอีกว่า นอกจากนี้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ส่งเรื่องการขออนุมัติก่อสร้างอาคารที่ทำการกระทรวงพม.ที่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบในสาระสำคัญและมีการเพิ่มเติมงบประมาณมากไปกว่าเดิมเกินร้อยละ 5 คือ จากวงเงิน 878,568,500 บาท เป็นวงเงิน 1,289,954,000 บาท และมีการดำเนินการประกวดราคาไปก่อนที่จะมีการขออนุมัติจาก ครม. ซึ่งมีลักษณะที่ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ และมติ ครม.ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหากปล่อยให้มีการดำเนินการต่อไป อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายต่องบประมาณของแผ่นดิน ทั้งนี้ สำนักงบประมาณได้แจ้งปลัดกระทรวง พม.ว่า การเปลี่ยนแปลงรายละเอียดการก่อสร้างดังกล่าวมีผลให้ประมาณราคากลางสูงกว่าวงเงินงบประมาณที่ ครม.อนุมัติ จึงขอให้สำนักงานปลัด พม.ขออนุมัติยกเว้นการปฏิบัติตามมติ ครม. ซึ่งแสดงให้เห็นได้ว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐในกระทรวง พม.อาจจะประกวดราคาไปก่อนที่จะได้รับอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงวงเงินงบประมาณ ซึ่งอาจเข้าลักษณะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งอยู่ในอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่จะดำเนินการต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น