“เรืองไกร” หอบหลักฐานรายงานประชุม ส.ส.ร.ปี 50 ต่อ กกต.ค้านสรรหา ส.ว.ขัดรธน.ด้าน “ประพันธ์” ยัน คกก.สรรหา ส.ว.ต้องระดับผู้พิพากษาศาลฎีกาเท่านั้น พร้อมระบุ กกต.มีอำนาจโละ กก.สรรหา ยื่นศาลฎีกาให้ 73 ส.ว.เป็นโมฆะ
วันนี้ (23 มี.ค.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหา ในฐานะผู้ร้องคัดค้านการสรรหา ส.ว.ได้เข้าให้ข้อมูลเพิ่มเติมต่อคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีที่ได้ร้องคัดค้านองค์ประกอบคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจาก นายมนตรี ศรีเอี่ยมสะอาด บุคลลที่ได้รับมอบหมายจากทีที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาไม่ได้ใช่ผู้พิพากษาศาลฎีกาตามความหมายของรัฐธรรมนูญมาตรา 113 วรรคหนึ่ง เป็นแต่เพียงผู้พิพากษาอาวุโสที่เคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากศาลฎีกาเท่านั้น ซึ่งกรณีนี้ กกต.ได้รับไว้พิจารณาแล้ว
ทั้งนี้ ข้อมูลเพิ่มเติมที่นำมามอบให้ กกต.ในครั้งนี้ เป็นรายงานการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 30/2550 (ครั้งพิเศษ) ตั้งแต่หน้าที่ 163 ถึง 186 ที่สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญได้มีการอภิปรายจนเป็นที่มาของมาตรา 113 เพื่อที่ กกต.จะได้ทราบถึงเจตนารมณ์ของ ส.ส.ร.ว่า บทบัญญัติมาตรา 113 วรรคหนึ่งนั้น หมายถึงให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเลือกเฉพาะผู้พิพากษาในศาลฎีกา ที่ดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาเท่านั้นมาทำหน้าที่กรรมการสรรหา ส.ว.ไม่ใช่ให้เลือกผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา
“ตามร่างเดิมของรัฐธรรมนูญ เป็นมาตรา 107 ซึ่งที่ประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญขณะนั้น มีมติเห็นชอบให้นำข้อความที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญตัดออกไป คือ “ผู้พิพากษาในศาลฎีกา ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาที่ที่ประชุมใหญ่มอบหมายจำนวน 1 คน” กลับมาใส่ไว้ในมาตรา 107 ดังเดิม โดยในรายงานการประชุมฯ หน้าที่ 169
ด้าน นายประพันธ์ นัยโกวิท ในฐานะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญขณะนั้น ก็ได้อภิปรายต่อที่ประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญไว้อย่างชัดเจน ว่า ....ในร่างมาตรา 107 เรื่องกรรมการสรรหานี่นะครับ ในร่างเดิมนี่ประกอบด้วย ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานองค์กรอิสระนะครับ แล้วก็จะมีบุคคลจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเลือกมา ซึ่งต้องเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกานะครับ และที่ประชุมใหญ่ ศาลปกครองสูงสุดเลือกมานะครับ ซึ่งต้องเป็นตุลาการในศาลปกครองสูงสุดนี่นะครับ..”
นายเรืองไกร กล่าวอีกว่า หากเจตนาของรัฐธรรมนูญมาตรา 113 ต้องการให้ผู้พิพากษาอาวุโส ที่เคยเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา สามารถทำหน้าที่เป็นกรรมการสรรหา ส.ว.ได้ ก็ควรต้องบัญญัติไว้ เช่น มาตรา 219 วรรค 4 เกี่ยวกับการคัดเลือกองค์คณะผู้พิพากษาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา ว่า ให้องค์คณะผู้พิพากษาประกอบด้วยผู้พิพากษาในศาลฎีกา ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา หรือผู้พิพากษาอาวุโสซึ่งเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาจำนวน 9 คน ที่ได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เมื่อไม่ได้มีการบัญญัติไว้ตนจึงเห็นว่า กรรมการสรรหา ส.ว.ที่มาจากการเสนอของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 113 นั้นขณะได้รับการมอบหมายจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจะต้องเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกาเท่านั้น แต่นายมนตรีนั้นขณะที่ได้รับมอบหมายจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเป็นผู้พิพากษาอาวุโสไปแล้ว และเมื่อที่มาของนายมนตรีไม่ชอบ ก็ทำให้การทำหน้าที่สรรหาส.ว.ของคณะกรรมการสรรหาไม่ชอบไปด้วย ซึ่งมีผลให้การสรรหา ส.ว.ทั้ง 73 คนไม่ชอบต้องเป็นโมฆะ
เมื่อถามว่า กกต.มีอำนาจที่จะวินิจฉัยว่าคณะกรรมการสรรหาไม่ชอบหรือไม่ นายเรืองไกร กล่าวว่า แม้รัฐธรรมนูญมาตรา 240 จะบัญญัติว่า ในกรณีที่มีการคัดค้านว่าการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาผู้ใดเป็นไปโดยไม่ถูกต้อง หรือไม่ชอบด้วยกฎหมายให้กกต.พิจารณา และเสนอศาลฎีกาเพิกถอนการสรรหา ซึ่งกรณีนี้ก็ถือว่ากระบวนการสรรหาไม่ชอบ กกต.สามารถเพิกถอนได้ และยื่นเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งให้การสรรหา ส.ว.73 คนเป็นโมฆะ