xs
xsm
sm
md
lg

“เรืองไกร” ยื่นหนังสือโต้ กกต.ยัน “มนตรี” ขาดคุณสมบัติ กก.สรรหา ส.ว.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ
“เรืองไกร” ยื่นหนังสือโต้แย้งความเห็น “สมชัย” ยัน “มนตรี” ผู้พิพากาษาอาวุโสในศาลฎีกา ขาดคุณสมบัติเป็น กก.สรรหา ส.ว.ขู่ยื่นผู้ตรวจฯ สอบการทำงานศาลยุติธรรม

วันนี้ (26 มี.ค.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหา เดินทางมายื่นเอกสารเพิ่มเติม โดยเป็นคำโต้แย้งความเห็น นายสมชัย จึงประเสริฐ กกต.ด้านกิจการสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย ต่อกรณีที่ นายสมชัย และ นายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ โฆษกศาลยุติธรรม ระบุว่า นายมนตรี ศรีเอี่ยมสะอาด ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา ในฐานะคณะกรรมการสรรหา ส.ว.มีคุณสมบัติครบถ้วน โดยนำบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สภาร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 33 ที่มี น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ เป็นประธานคณะกรรมาธิการ และมี นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง รวมถึง นายมนตรี เป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ในขณะนั้นมายื่นคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง

นายเรืองไกร กล่าวว่า บันทึกการประชุมดังกล่าว เป็นการอภิปรายถึงการกำหนดลักษณะของผู้พิพากษาที่จะเป็นองค์คณะพิจารณาคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในมาตรา 214 หรือ มาตรา 219 วรรคสี่ รัฐธรรมนูญปัจจุบัน ที่ผู้แทนศาลฎีกาได้เสนอความเห็นว่า ลักษณะของผู้พิพากษาที่จะมาทำหน้าที่พิจารณาคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางเมืองนั้น ควรเพิ่มให้มี “ผู้พิพากษาอาวุโส” หรือผู้พิพากษาที่เคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาเข้าไป จึงทำให้มาตรา 219 วรรคสี่ปัจจุบัน มีบทบัญญัติว่า.... ให้องค์คณะผู้พิพากษาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ประกอบด้วย ผู้พิพากษา หรือผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา ซึ่งดำรงตำแหน่ง หรือเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา จำนวน 9 คน ดังนั้น หากเจตนาการยกร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 113 วรรคหนึ่งเกี่ยวกับที่มาคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ต้องการให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาสามารถมอบหมายให้ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกาที่เคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา สามารถทำหน้าที่ได้ก็ควรบัญญัติในลักษณะเดียวกับมาตรา 219 วรรคสี่

“จากที่ได้ติดตามผลงานของ นายสมชัย สมัยเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา พบว่า ในการพิจารณาคดีต่างๆ นายสมชัย สามารถพิเคราะห์บทบัญญัติของกฎหมายที่มีความหมายต่างกันได้อย่างแม่นยำ เที่ยงตรงตลอดมา ซึ่งในกรณีนี้ นายสมชัย ก็ยอมรับในข้อเท็จจริง ว่า นายมนตรี เคยเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา และปัจจุบันเป็นเพียงผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกาเท่านั้น รวมทั้งยังยอมรับว่า นายมนตรี อยู่ในความหมายของผู้พิพากษาในศาลฎีกาที่ทำหน้าที่พิจารณาคดีในศาลฎีกาตามที่ประธานศาลฎีกามอบหมายเท่านั้น แต่ที่ นายสมชัย มองว่า นายมนตรี สามารถทำหน้าที่คณะกรรมการสรรหา ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 113 วรรคหนึ่งได้นั้นน่าจะคลาดเคลื่อนไปจากเจตนารมณ์และบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ” นายเรืองไกร กล่าวและว่า ตนจะรวบรวมเอกสารไปยื่นผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 244(1) (ค) ตรวจสอบองค์กรศาลยุติธรรมกรณีที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามอบหมายให้นายมนตรี มาทำหน้าที่คณะกรรมการสรรหา ส.ว.เพราะถือว่าเข้าข่ายละเลยการปฏิบัติหน้าที่ หรือการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในกรณีดังกล่าวคาดว่า ที่ประชุม กกต.จะมีการพิจารณาในสัปดาห์นี้ แต่ก็มีรายงานว่า ด้านกิจการสืบสวนสอบสวน ซึ่งเป็นผู้รวบรวมข้อเท็จจริงตามคำร้องเตรียมที่จะเสนอคำเห็นต่อที่ประชุม กกต.ให้ยกคำร้อง เนื่องจาก นายเรืองไกร ยื่นคำร้องดังกล่าวเกินระยะเวลา 30 วันนับแต่ที่ กกต.ประกาศรับรองการสรรหา ส.ว.สรรหา ตามที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว.กำหนด จึงขึ้นอยู่กับที่ประชุม กกต.จะพิจารณาว่าจะมีความเห็นยกคำร้องตามที่เสนอหรือเห็นว่าเป็นความปรากฏที่ กกต.สามารถดำเนินการสอบสวนและวินิจฉัยต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น