xs
xsm
sm
md
lg

“สมชัย” แนะเลือก ส.ส.ร.ตามจำนวน ปชช. - หนุนเลือกนายกฯ ทางตรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมชัย จึงประเสริฐ (แฟ้มภาพ)
กกต.ด้านกิจการสืบสวนสอบสวน ค้านเลือก ส.ส.ร.จังหวัดละ 1 คน แนะควรคำนวณจากจำนวนประชากร เปิดทาง 111 ยกร่าง รธน.ได้ พร้อมเสนอแก้ รธน.ให้ผู้ตรวจการฯ รื้อคดีแพ่ง-ปกครองได้หากศาลชี้คลาดเคลื่อนเพื่อถ่วงดุลอำนาจ หนุนเลือกนายกฯทางตรงแก้ ส.ส.ต่อรองแบ่งเค้ก

วันที่ 27 ก.พ. นายสมชัย จึงประเสริฐ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการสืบสวนและวินิจฉัย กล่าวถึงกรณีการแก้ไขมาตรา 291 เพื่อให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมายกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า การจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ต้องดูว่ารัฐธรรมนูญให้อำนาจ กกต.จัดการเลือกตั้งตามระเบียบว่าด้วยการเลือกตั้ง หรือให้ออกระเบียบเพื่อให้อนุโลมในการจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ร.หรือไม่ แต่ทั้งนี้ตนไม่เห็นด้วยกับการมี ส.ส.ร.จังหวัดละ1 คน โดยมองว่าควรให้การเลือกตั้ง ส.ส.ร.โดยมาจากการคำนวณประชากรมากกว่า เช่น หากให้ กทม.และ จ.ระนอง มี ส.ส.ร.จังหวัดละ 1 คนเท่ากันนั้น ตนไม่เห็นด้วย เพราะหลักประชาธิปไตยโดยทั่วไปไม่ได้ดูที่พื้นที่ แต่จะดูที่จำนวนประชากร ดังนั้นการจะนำเอาจังหวัดเป็นตัวตั้งโดยมี ส.ส.ร.จังหวัดละ 1 คนคงไม่ได้

นอกจากนี้ ไม่เห็นด้วยต่อการห้ามบุคคลที่ถูกเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งจากการยุบพรรคการเมือง เช่น สมาชิกกลุ่มบ้านเลขที่ 111 เป็น ส.ส.ร. เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ต้องโทษด้วยคดีทางการเมืองมีความรู้และประสบการณ์ทางการเมืองที่จะมายกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ดังนั้น การยกร่างรัฐธรรมนูญควรเปิดกว้างให้ทุกคนมายกร่างเพราะรัฐธรรมนูญบังคับใช้กับทุกคน แต่ไม่ใช่การมายกร่างเพื่อมาปกป้องคนใดคนหนึ่ง

“ส่วนกรอบเวลาในการจัดการเลือก ส.ส.ร.จำนวน 90 วัน ถือว่าไม่มากหรือน้อยเกินไป และงบประมาณในการจัดการเลือกตั้งน่าจะน้อยกว่าการเลือกตั้ง ส.ส. โดยอาจจะอยู่ที่ประมาณ 2 พันล้านบาท ส่วนตัวเห็นว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญน่าจะใช้เวลาที่นานกว่า 180 วัน และหากมีกระแสคัดค้านในกรณีดังกล่าว เราก็ควรประณามคนที่คัดค้าน เพราะจะทำให้เกิดวิกฤตความขัดแย้งรอบใหม่อีก ซึ่งการคัดค้านสามารถทำได้ แต่ควรอยู่ภายใต้กรอบกติกา” นายสมชัยกล่าว

นายสมชัยยังเสนอว่า ในการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้น่าจะมีการแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับการตัดสินคดีแพ่งและคดีปกครอง โดยควรให้รื้อคดีแพ่งและคดีทางปกครองในกรณีที่ศาลตัดสินด้วยความคลาดเคลื่อนและไม่เป็นธรรมมาพิจารณาใหม่ ซึ่งการรื้อฟื้นคดีเหล่านี้ให้กระทำด้วยการยื่นคำขอต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยผู้ยื่นจะต้องแสดงหลักฐานถึงกรณีที่ศาลตัดสินคลาดเคลื่อน และต้องยื่นต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพียงผู้เดียวเท่านั้น ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินจะวินิจฉัยและยื่นคำร้องขอให้ศาลยุติธรรมหรือศาลปกครองเพื่อรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่อีกครั้ง ถือเป็นการถ่วงดุลอำนาจของศาลได้

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญฉบับเดิมจะให้ศาลอาญารื้อฟื้นคดีได้ในกรณีที่ผู้ร้องมีหลักฐานใหม่ แต่โดยปกติศาลจะไม่กลืนน้ำลายตัวเองในกรณีที่ศาลเคยตัดสินคดีไปแล้ว แต่สำหรับคดีแพ่งและคดีปกครองของเดิม ไม่สามารถรื้อฟื้นคดีขี้นมาพิจารณาใหม่ได้

นายสมชัยยังกล่าวถึงกรณีที่มีข้อเสนอให้มีการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรงว่า การเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรงนั้น จะทำให้ ส.ส.ไม่สามารถต่อรองในการโหวตเลือกนายกฯในสภาได้ ดังนั้น ถ้ายึดหลักการนี้โดยให้ประชาชนเลือกนายกรัฐมนตรีได้โดยตรง ปัญหาในการต่อรองของ ส.ส.ในการเลือกนายกฯ ในสภาก็จะจบลง แต่ก็มีการกลัวว่าการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรงจะพัฒนาเป็นระบบประธานาธิบดี ซึ่งการเลือกนายกฯ โดยตรงไม่มีในระบบรัฐสภาในบ้านเรา และบ้านเราก็ปฏิบัติโดยให้ผู้แทนเลือกนายกฯ หากจะมีการแก้ไขก็ควรมีการปรับปรุงเพื่อไม่ให้มีการต่อรองในการเลือกนายกฯ ในระบบรัฐสภา
กำลังโหลดความคิดเห็น