“สมชัย” ยัน “มนตรี” มีคุณสมบัติเป็นคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ได้ ขอบคุณ “เรืองไกร” ทำตัวเป็นพลเมืองดี สละเวลาตรวจสอบ แต่ได้ข้อมูลมาผิด
นายสมชัย จึงประเสริฐ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย กล่าวถึงกรณีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหา ยื่นหนังสือร้องเรียนเพื่อขอให้กกต. ดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติของนายมนตรี ศรีเอี่ยมสะอาด ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา เนื่องจากไม่มีคุณสมบัติเป็นคณะกรรมการสรรหา ส.ว.และมีผลทำให้การสรรหา ส.ว. เมื่อปี 54 เป็นโมฆะทั้งหมดว่า เท่าที่ได้รับรายงานด้วยวาจาจากคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงทราบว่านายเรืองไกรได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ กกต.ว่านายมนตรีไม่ใช่ผู้พิพากษาในศาลฎีกาจึงไม่มีอำนาจเป็นคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ทำให้การสรรหา ส.ว.ทั้งหมดไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 113 ระบุว่าให้มีคณะกรรมการสรรหา ส.ว.คณะหนึ่งที่ประกอบด้วยผู้พิพากษาในศาลฎีกา ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามอบหมายจำนวนหนึ่งคน
ทั้งนี้ ในสมัยที่ตนเคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกานั้น ตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกาในขณะนั้นมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเฉพาะศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เท่านั้น แต่ต่อมาคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ได้มีมติแก้ไข พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การแต่งตั้งและการดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโส พ.ศ. 2550 มาตรา 4 วรรคสองที่ระบุว่าผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกามีอำนาจหน้าที่พิจารณาพิพากษา คดีในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาตามที่ได้รับแต่งตั้งและมีอำนาจหน้าที่เข้าร่วมประชุม ใหญ่ในศาลฎีกาได้ พร้อมทั้งมีมติให้ผู้พิพากษาอาวุโสเทียบเท่าตำแหน่งกับผู้พิพากษาในศาลฎีกา
นายสมชัยกล่าวว่า อีกทั้งตำแหน่งสุดท้ายก่อนที่นายมนตรีจะเป็นผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกาก็คือ ตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 113 ที่ระบุว่าผู้พิพากษาในศาลฎีกาดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา ด้วยเหตุนี้นายมนตรีจึงอยู่ในความหมายของคำว่าเป็นผู้พิพากษาในศาลฎีกา ทำหน้าที่พิจารณาคดีในศาลฎีกาตามที่ประธานศาลฎีกามอบหมายได้
“ทุกตำแหน่งในศาลฎีกาจะเรียกว่า ผู้พิพากษาในศาลฎีกาทั้งหมด แต่จะแบ่งออกเป็นตำแหน่งที่ไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา ประกอบด้วยประธานศาลฎีกา รองประธานศาลฎีกา ผู้พิพากษาศาลฎีกาประจำแผนกคดี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ส่วนตำแหน่งที่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา คือ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์หรือผู้พิพากษาศาลชั้นต้นที่ทำหน้าที่ช่วยงานอยู่ในศาลฎีกา เลขานุการในศาลฎีกา ซึ่งมีตำแหน่งที่เล็กกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา จึงไม่มีอำนาจในการตัดสินคดี แต่มีอำนาจในการตรวจคำพิพากษาหรือช่วยงานต่างๆ ได้ ซึ่งเป็นผู้พิพากษาในศาลฎีกาเหมือนกัน แต่ไม่ใช่ตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกา
เข้าใจว่าคนที่ให้ข้อมูลกับนายเรืองไกรคือผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกาที่ออกไปก่อนที่ ก.ต.จะมีมติการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ให้ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา สามารถทำงานในศาลฎีกาได้ เพราะตอนหลังเขายอมให้ลงข้างล่างหรืออยู่ข้างบนก็ได้ จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่านายมนตรีจะขาดคุณสมบัติเป็นคณะกรรมการสรรหา ส.ว. อย่างไรก็ตาม กกต.ต้องขอขอบคุณนายเรืองไกรที่เป็นพลเมืองดีโดยแท้ที่ได้เสียสละเวลาค้นคว้าปัญหานี้ขึ้นให้ กกต.ได้มีโอกาสได้ชี้แจงประเด็นดังกล่าวนี้ให้สังคมได้เกิดความกระจ่างขึ้น” นายสมชัยกล่าว