xs
xsm
sm
md
lg

“อภิสิทธิ์” ขู่ฟ้อง “เด็จพี่” กล่าวหาเท็จ จี้รัฐถอน กม.ปรองดอง ห่วงขัดแย้งรุนแรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (แฟ้มภาพ)
ผู้นำฝ่ายค้าน หงุดหงิด “เด็จพี่” ตอแยไม่เลิก เล็งฟ้องหากยังไม่หยุดกล่าวหาใช้รถกันกระสุนทางราชการ โดยไม่ได้รับอนุญาต หลังนำเอกสารมายืนยันแล้ว พร้อมเรียกร้องรัฐบาล ถอนร่าง พ.ร.บ.ล้างผิดคนโกง ออกจากรัฐสภา ห่วงขัดแย้งรุนแรงสมัยประชุมหน้า ย้ำเป็นกฎหมายทำร้ายชาติ ช่วยคนทุจริต ยกคดีกรุงไทย ปล่อยกู้ 9 พันล้าน ที่อัยการฯเพิ่งยื่นฟ้อง “นช.แม้ว” จะสิ้นสุดทันทีหากกฎหมายผ่าน

 คลิกที่นี่ เพื่อฟัง "นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ให้สัมภาษณ์  

นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่ นายพร้อมพงศ์​นพฤทธิ์​โฆษกพรรคเพื่อไทย ออกมาโจมตีเรื่องการใช้รถกันกระสุน โดยกล่าวหาว่า ไม่คืนให้ราชการหลังพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีว่า เรื่องนี้ นายแทนคุณ จิตต์อิสระ โฆษกผู้นำฝ่ายค้าน ได้นำเอกสารให้สื่อมวลชนได้ดูแล้วว่ากมีการขออนุญาตอย่างไร ก็ควรจะจบได้แล้ว แต่ถ้า นายพร้อมพงศ์ ยังไม่จบและกล่าวหาต่อเนื่องก็คงต้องไปขึ้นศาล เพราะเมื่อนายพร้อมพงศ์ ทราบข้อเท็จจริงแล้วแต่ยังพูดเท็จอีกตนก็จะต้องดำเนินการทางศาลต่อไป

ทั้งนี้ไม่แปลกใจกับข้อกล่าวหาของนายพร้อมพงศ์ เนื่องจากพรรคเพื่อไทยพยายามที่จะหาเรื่องให้เป็นประเด็นทางการเมืองขึ้นมา ทั้งที่มีเรื่องใหญ่กว่านี้มากในสังคมที่รอให้รัฐบาลแก้ไข และบ้านเมืองต้องการคำตอบที่ชัดเจนในการคลี่คลายปัญหา ตั้งแต่เรื่องเศรษฐกิจ การเตรียมการเรื่องน้ำท่วม แต่คนในรัฐบาลกลับมาวุ่นวายกับเรื่องการกล่าวหาฝ่ายตรงข้าม จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะพรรคฝ่ายค้านช่วยรัฐบาลผ่านกฎหมายฟอกเงิน แต่รัฐบาลกลับต้องการเล่นการเมืองประเด็นเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งตนก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน

นายอภิสิทธิ์ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลถอน ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ ที่มีเนื้อหานิรโทษกรรมคนทุจริตออกจากการประชุมสภาน แทนที่จะชะลอปัญหาโดยไม่พิจารณาในสมัยประชุมนี้เท่านั้น โดยในระหว่างการปิดสมัยประชุมรัฐบาลต้องทบทวนเรื่องเหล่านี้ เพราะหากเปิดประชุมในเดือนสิงหาคม หรือรัฐบาลจะเปิดสภาสมัยวิสามัญ ก็จะย้อนกลับไปสู่สถานการณ์ความขัดแย้งที่นำไปสู่การเผชิญหน้าโดยไม่เป็นผลดีกับใครทั้งสิ้น เพราะร่างกฎหมายทั้ง 4 ฉบับ เป็นการทำลายระบบยุติธรรม และจะทำให้คดีทุจริตหลายคดีต้องยุติลงโดยไม่สามารถดำเนินการกับผู้กระทำความผิดได้

“ตัวอย่าง คดีปล่อยเงินกู้ 9 พันล้านบาทของธนาคารกรุงไทย ที่ อัยการสูงสุด เพิ่งยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้ดำเนินคดีกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพวก เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา ก็จะเป็นอีกหนึ่งคดีที่ถูกล้มไป หากร่าง พ.ร.บ.ปรองดองผ่านสภา ทั้งๆ ที่เรื่องการทุจริตไม่เกี่ยวข้องกับความปรองดองในชาติแต่อย่างใด ถ้ารัฐบาลยังเดินหน้าต่อไปก็จะเกิดความขัดแย้งรุนแรงตามมา”

ผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวด้วยว่า อยากให้รัฐบาลได้ยึดตามแนวทางที่ คอป., สถาบันพระปกเกล้า รวมทั้งความเห็นของ นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ที่แสดงความเห็นว่า ร่างกฎหมายปรองดองจะส่งผลกระทบต่อหลักนิติรัฐ นิติธรรม แต่ถ้ารัฐบาลไม่ฟังก็เท่ากับทำทั้งหมด เพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ กับพวก โดยนำเอาความปรองดองมาบังหน้าเท่านั้น และไม่อยากให้รัฐบาลมองว่า ผู้คัดค้านจะมีจำนวนมากหรือน้อย แต่ต้องพิจารณาว่า การผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นสิ่งที่พึงกระทำหรือไม่ และต้องถามว่า การช่วยให้คนทุจริตพ้นผิดเป็นแนวทางของรัฐบาลได้อย่างไร ในเมื่อมีนโยบายแก้ปัญหาทุจริต อีกทั้งประเด็นนี้ยังสร้างความแตกแยกสร้างค่านิยมที่ผิดทำให้คนไม่เคารพกฎหมาย จะเป็นแนวทางในการสร้างความปรองดอง สร้างหลักนิติรัฐ นิติธรรมได้อย่างไร จะอ้างว่า คนสนับสนุนมากกว่าคนค้าน เพราะเป็นเรื่องที่กระทบต่อหลักการและระบบของประเทศ และทำลายระบบนิติรัฐ นิติธรรม แต่ถ้าจะอ้างเสียงสนับสนุนเพื่อดำเนินการตามนโยบายตนไม่ขัดข้อง

“ผมคิดว่า การเลือกที่จะชะลอปัญหาออกไปเป็นเรื่องดี แต่แปลกใจนักการเมืองอย่างนายจาตุรนต์ (ฉายแสง) กลับพยายามชักชวนให้คนในรัฐบาลสร้างปมความขัดแย้งขึ้นมาอีก อย่างกรณีรัฐธรรมนูญผมคิดว่าสิ่งที่ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ทำ มีความเหมาะสม เพราะเป็นเรื่องที่รอได้จะได้ไม่เผชิญหน้ากัน และยืนยันในฐานะเป็นกรรมการสถาบันพระปกเกล้า ว่า ไม่เคยปฏิเสธความร่วมมือกับรัฐบาลในการสร้างความปรองดอง แต่สิ่งที่รัฐบาลเสนอมายังสถาบันคือต้องการให้ทำคู่มือโดยมีกรอบเวลาที่จำกัด ซึ่งที่ประชุมสภาสถาบันฯก็ไม่ขัดข้อง แต่มีมาตรฐานที่ต้องดำเนินการ โดยไม่ต้องการให้รัฐบาลอาศัยสถาบันพระปกเกล้าไปอ้างบังหน้าเร่งรัดดำเนินการ ซึ่งพรุ่งนี้จะมีการประชุมสภาสถาบันฯด้วย”

นายอภิสิทธิ์ ยังแสดงความไม่สบายใจที่ นายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานวิปรัฐบาล ออกมาระบุว่า มีเจตนาจะทำสานเสวนาเพื่อสอบถามความเห็นประชาชน แต่ไม่ได้รับความร่วมมือจากสถาบันพระปกเกล้า ว่า จะทำให้สังคมเกิดความเข้าใจผิดต่อสถาบัน เพราะทางสถาบันไม่เคยปฏิเสธเพียงแต่ต้องทำอย่างถูกต้อง และอาจต้องใช้เวลาถึงสิ้นปีเป็นอย่างน้อย แต่รัฐบาลตัดสินใจไม่ทำเอง โดยมอบให้กรมพัฒนาชุมชนเป็นผู้ดำเนินการแทน แล้วก็อ้างว่า ขาดความพร้อม ไม่มีคู่มือ มาขอจากสถาบันพระปกเกล้า แต่ก็มีกรอบเวลาให้สถาบันทำอีก ทั้งหมดคือข้อเท็จจริง
กำลังโหลดความคิดเห็น